(ภาพจาก : เฟซบุ๊ก Bangkok Design Week)
ภายใต้แนวคิด Circular Living หรือ การรณรงค์ให้เกิดการสร้างวงจรชีวิตใหม่ ของผลิตภัณฑ์พลาสติกที่สามารถนำมาหมุนเวียนให้อยู่ใน ระบบการผลิตและการบริโภค ให้ได้นานที่สุด ส่งเสริมการจัดการขยะพลาสติกอย่างยั่งยืน เป็นส่วนหนึ่งในงาน เทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ 2562 ที่จัดขึ้นบริเวณอาคารไปรษณีย์กลางบางรัก
บางท่านอาจยังไม่ทราบว่าเทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ คืองานอะไร ต้องอธิบายให้ทราบก่อนว่า กทม.ไม่เพียงเป็นศูนย์กลางการค้าเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เท่านั้น จากการเก็บข้อมูลของ Mastercard’s Global Destination Cities Index
พบว่า กรุงเทพฯได้รับการจัดอันดับให้เป็นเมืองที่มีนักท่องเที่ยวมาเยือนมากที่สุดในโลก เมื่อปี 2559 จำนวนถึง 21.5 ล้านคน ส่งผลให้ กทม.เติบโตอย่างรวดเร็ว
งานเทศกาลออกแบบกรุงเทพฯ จึงได้ขยายความคิดเพื่อให้เกิดแรงบันดาลใจในจุดท่องเที่ยวที่สำคัญในย่านที่สร้างสรรค์ เช่นเจริญกรุง คลองสาน วงเวียน 22 รวมทั้งที่ไปรษณีย์กลางบางรัก
ซึ่งมีความเก่าแก่และสวยงาม งานนี้จัดขึ้นโดย ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ หรือ TCDC ในสังกัดสำนักนายกฯ ที่เปิดโอกาสให้ชุมชนได้ออกแบบและนักสร้างสรรค์ไทยได้แบ่งปันวิสัยทัศน์กรุงเทพฯในมุมมองที่ลุ่มลึกขึ้น
ผช.กรรมการผู้จัดการใหญ่สายงานกิจการองค์กร บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล หรือ GC วราวรรณ ทิพพาวนิช ที่เข้าร่วมในการจัดนิทรรศการงาน Bangkok Design Week อธิบายจุดประสงค์ถึงการสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน
...
การจัดแสดง โรงงานแห่งอนาคต ที่มุ่งเน้นการผลิตและการใช้พลาสติกแบบหมุนเวียน เพื่อรณรงค์แนวคิด Circular Living รวมทั้งการจัดการพลาสติกอย่างสร้างสรรค์เพื่อประโยชน์ด้านสิ่งแวดล้อมให้เกิดความเข้าใจอย่างกว้างขวาง โดยการ นำนวัตกรรมมาผสมผสานกับความคิดสร้างสรรค์ ในการออกแบบ แปรรูปพลาสติกเหลือใช้ให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์ไลฟ์สไตล์ที่มีมูลค่า เพื่อช่วยลดขยะพลาสติกและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
การจำลองวงจรชีวิตของผลิตภัณฑ์พลาสติก ที่สามารถหมุนเวียนอยู่ในระบบการผลิตและการบริโภคอย่างมีประสิทธิภาพ การใช้ซ้ำใช้นาน การนำกลับมาใช้ใหม่ ตั้งแต่การคัดแยกพลาสติกจนถึงกระบวนการรีไซเคิลระดับโรงงานและการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ใหม่ เช่น เส้นใยสำหรับทอผ้า อิฐบล็อกสำหรับการก่อสร้าง แผ่นโมดูลาร์สำหรับทำพื้นและถนน สิ่งเหล่านี้คือการเรียนรู้ที่จะนำพลาสติกมาใช้อย่างคุ้มค่าและเกิดมูลค่าเพิ่มขึ้นตลอดเวลา แม้แต่โครงสร้างพาวิลเลียน โรงงานในอนาคต ที่ใช้แนวคิดการสร้างวงจรชีวิตใหม่ ได้นำขวดแชมพูสระผม ขวดน้ำมันเครื่องมาฉีดขึ้นรูปเป็นแผ่นพลาสติกสีขาวและสีม่วง นำมาร้อยด้วยเหล็กเส้น ทำเป็นแผ่นผนังและหลังคา มีน้ำหนักเบาและง่ายต่อการติดตั้งจัดเรียงรูปแบบได้ตามต้องการ
การสร้างความเข้าใจในการใช้พลาสติกอย่างรู้คุณค่าไม่ใช่เพียงแค่การรณรงค์ไม่ใช้ถุงพลาสติกหันไปใช้ถุงผ้าเท่านั้น แต่การนำพลาสติกมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดโดยไม่กระทบกับสิ่งแวดล้อมจะสร้างมูลค่าได้มากกว่าเยอะ.
หมัดเหล็ก
mudlek@thairath.co.th