“ควันดำ” จากท่อไอเสียรถยนต์ถูกยกให้เป็นหนึ่งในตัวการของ “ปัญหาฝุ่นละอองจิ๋วพิษ PM 2.5” แต่ที่ยังไม่มีการพูดถึงคือ “ควันจากบุหรี่”...จากการทดลองเปรียบเทียบพบว่าเพียงจุด ทิ้งไว้เพียง 3 มวนในสภาพแวดล้อมเดียวกัน ระดับค่า PM 2.5 สูงถึง 591 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.)

ขณะที่ควันจากท่อไอเสียรถยนต์ดีเซลวัดได้ 250 มคก./ลบ.ม. เท่านั้น

ในแง่สุขภาพทั่วๆไป “บุหรี่”...พิษภัยที่เราๆท่านๆพอจะรู้กันนั้นมี...“พิษ” มี...“โทษ” มี...“อันตราย” มากมายเหลือเกิน ยิ่งปัจจุบันนี้ก็ไปไกลอีกมาก ทราบว่าใน “บุหรี่” มีสารเคมีมากกว่า 4,000 ชนิด แล้วก็มีถึง 72 ชนิดที่ทำให้เกิดมะเร็ง ฉะนั้น...คนที่สูบบุหรี่ก็เกิดอันตราย ทำให้เกิดโรคต่างๆ เยอะ

“ผู้ชายสูบบุหรี่ทำให้เป็นหมันได้ ทำให้อสุจิมีรูปร่างผิดแปลกไปแล้วก็ลดจำนวนน้อยลง คนไข้หลายคนต้องการจะมีลูกแล้วพบว่าสูบบุหรี่วันละซอง...สองซอง ทำลายทุกอวัยวะของเราตั้งแต่ผมจดเท้า...ทำให้เกิดมะเร็งและทำให้เกิดโรคเรื้อรังได้มากมายอีกด้วย นอกจากไม่ดีกับตัว ผู้สูบเองแล้ว ยังเป็นอันตรายกับคนรอบข้างด้วย...”

ที่เราเรียกว่า “ควันบุหรี่มือสอง” สมมติว่าสูบอยู่ใกล้ๆห้องนี้ หมอนั่งอยู่ตรงนี้ก็ต้องรับควันบุหรี่มือสองไปด้วย อีกทั้งคนสูบสารต่างๆก็จะเกาะติดเสื้อผ้า ผม ตัว...ไปอุ้มลูก อุ้มหลาน เด็กก็จะได้รับไปด้วย เรียกว่า “ควันบุหรี่มือสาม”...เมื่อก่อนเราไม่รู้ เรียนจบหมอมาก็ยังไม่รู้ลึกซึ้ง ถึงอย่างนี้ เพิ่งจะมารู้ตอนที่มาทำเรื่องบุหรี่นี่เอง

ศ.พญ.สมศรี
ศ.พญ.สมศรี

...

ศาสตราจารย์เกียรติคุณแพทย์หญิงสมศรี เผ่าสวัสดิ์ ประธานสมาพันธ์เครือข่ายแห่งชาติเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่และประธานเครือข่ายวิชาชีพสุขภาพเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ บอกอีกว่า ตอนนี้เราและเครือข่ายช่วยกันทุกสาขาวิชาชีพ ร่วมด้วยช่วยกันรณรงค์ บำบัดผู้สูบบุหรี่ให้เลิกสูบบุหรี่ให้ได้ ใครอยู่วิชาชีพไหนก็พยายามให้บุคลากรในวิชาชีพนั้นมีความรู้ติดอาวุธให้ แล้วก็ไปถ่ายทอดให้ประชาชน

ตัวอย่างเครือข่ายแพทย์มีหน้าที่ให้การบริการรักษาด้วยการก่อตั้ง “คลินิกฟ้าใส” ขึ้นมา ตอนนี้มี 560 แห่ง กระจายอยู่ในทุกจังหวัดทั่วประเทศและ กทม.ก็มีเยอะ อยู่ในทั้งโรงพยาบาลรัฐและเอกชน

โรงพยาบาลเปาโลเป็นเอกชนก็ยังทำได้เข้มแข็งมาก เราก็อยากให้เห็นว่าไม่เฉพาะโรงพยาบาลรัฐที่ทำได้เข้มแข็ง ทำดีจนได้รางวัลจากเครือข่าย...เป็นที่มาที่ไปของการศึกษาดูงานจากคณะผู้เข้าประชุมวิชาการรางวัลเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2562 เรื่อง Tobacco Cessation in people with NCDs by Physician Networks เมื่อปลายสัปดาห์

ที่ผ่านมา นอกจากนี้แล้วก็ยังมี “คลินิกชุมชนอบอุ่น” ใน กทม. 169 แห่ง มีหมอ เภสัชฯ พยาบาล ซึ่งดูแลคนไข้ทั้งหมดของผู้ใช้สิทธิบัตรทอง สปสช.ก็มีราวๆ 102 แห่ง...ที่มาสมัครเป็นสมาชิกคลินิกฟ้าใส

คนกรุงเทพฯที่อยากจะเลิกสูบบุหรี่เดินตรงดิ่งเข้าไปได้เลย พญ.อารยา ทองผิว ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคเบาหวานมากว่า 49 ปี เสริมว่า ใครที่สูบบุหรี่แล้ว อยากเลิกก็มารายงานตัวที่คลินิกชุมชนฟ้าใส ศูนย์บริการสาธารณสุข...โรงพยาบาลใน กทม.ที่เป็นเครือข่ายช่วยเรามีหลายแห่ง อาจจะแตกต่างกันเรื่องการบริหารจัดการในแต่ละแห่งแต่ให้รู้ว่า คลินิกฟ้าใส...บริการฟรีไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย

นพ.สยาม
นพ.สยาม

นพ.สยาม พิเชฐสินธุ์ ผอ.โรงพยาบาลเปาโล หนึ่งในผู้นำองค์กรที่ส่งเสริมสนับสนุน “คลินิกฟ้าใส” อีกทั้งยังเป็นหนึ่งในผู้สูบบุหรี่สะท้อนว่า บุหรี่มีอันตรายต่อสุขภาพ ผมเองก็เคยสูบมาตั้งแต่อายุ 17 ปี แต่ปัจจุบันเลิกแล้ว การเลิกทำได้ไม่ยาก ส่วนตัวคิดว่าจะเลิกก็เลิก ขี้เกียจสูบ...ห่วงสุขภาพก็หยุด แรงจูงใจมาจากตัวเองทั้งสิ้น

“การสูบบุหรี่กระทบต่อสุขภาพ อวัยวะภายในของร่างกาย...หลอดเลือด โรคเบาหวาน โรคความดัน โรคหัวใจ หลอดเลือดสมองตีบ...ควันบุหรี่ใกล้ตัวเรามากๆเป็นภัยที่ไม่ควรมองข้าม”

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ พญ.สมศรี ในฐานะประธาน สปสช.เขต 13 บอกอีกว่า การเลิกสูบบุหรี่มีความท้าทายอย่างมากถึงมากที่สุด คนที่เลิกได้นับว่าเป็นฮีโร่เลย คลินิกชุมชนอบอุ่นดูแลคนไข้บัตรทองใน กทม. จากการที่ได้เห็นประสบการณ์ในการดูงานประเทศญี่ปุ่น มีคลินิกเอกชน 15,000 แห่ง...

ทำให้ลดจำนวนคนสูบบุหรี่จาก 53 เปอร์เซ็นต์เหลือ 30 กว่าเปอร์เซ็นต์ และทุกคนก็สามารถเดินเข้าไปที่คลินิกได้ ก็เลยไปชวนคุณหมอที่เป็นเจ้าของคลินิก มองตรงกันว่าเป็นเรื่องที่ดีมาก ถ้าเลิกสูบบุหรี่ที่เป็นสารพัดต้นเหตุโรคเรื้อรังได้ คนเจ็บป่วยก็ลดน้อยลงไป...งบใช้จ่ายค่ารักษาพยาบาลก็น้อยลงไปด้วย

“คลินิกชุมชนอบอุ่น” รับภาระคนไข้ ได้รับการสนับสนุน ช่วยเหลือจากเครือข่ายวิชาชีพสุขภาพทั้งการให้ความรู้ อบรม ให้อุปกรณ์เครื่องวัดคาร์บอนมอนอกไซด์เป่าทดสอบการสูบบุหรี่ ให้หุ่นจำลองปอดแสดงให้คนไข้ดูแล้วก็ยา ซึ่งก็ไม่มาก เพราะที่สำคัญจริงๆแล้ว...คนที่จะเลิกบุหรี่ส่วนใหญ่เลิกได้ด้วยตนเอง ด้วยใจ

นอกเสียจากว่าฮาร์ดคอร์จริงๆจึงจะใช้ “ยา” เลิกบุหรี่ และยิ่งสูบมานานนับสิบๆ ปีก็ยิ่งเลิกยาก

ผู้ติดบุหรี่คิดอยากจะเข้าไปใช้บริการควรรู้ พญ.อารยา เปิดประสบการณ์ให้ฟังว่า เบื้องต้นที่โรงพยาบาลเปาโลยังไม่ได้เป็นคลินิกฟ้าใส เพราะเป็นโรงพยาบาลเอกชนแห่งเดียวที่เข้าร่วม หมอก็ตั้งต้นจากการเป็นผู้เชี่ยวชาญเบาหวาน ดูแลคนไข้...หนึ่งในข้อมูลที่จะต้องให้ความรู้กับผู้เป็นเบาหวานทุกราย

คือ...“คุณไม่ควรสูบบุหรี่ แต่ถ้าสูบแล้วแนะนำให้เลิก หมอก็สอนทุกๆคนเลิกนะ เราไม่ได้บอกเขาว่าเลิกอย่างไร...ก็กลับไปสูบอีกตามเดิม แล้วก็บอกเขาว่าทำไมต้องเลิก...เพราะมีโรคแทรกไปที่หลอดเลือด ตา ไต ปลายประสาท สมองก็จะเป็นอัมพาต อัมพฤกษ์ หัวใจก็จะมีโรคหลอดเลือดตีบซึ่งจะต้องมีค่าใช้จ่ายสูง แล้วก็ป่วยเข้าไอซียู...เสียทั้งเงิน เสียทั้งสุขภาพ แล้วประเทศชาติก็เสียเศรษฐกิจ”

พญ.อารยา
พญ.อารยา

ในฐานะดูแลผู้เป็นเบาหวาน มีหน้าที่สายตรง เมื่อหมอไม่เป็น ไม่รู้จึงต้องไปหาองค์ความรู้ บังเอิญอาจารย์สมศรีมาช่วยทำกิจกรรมอย่างอื่น แล้วก็แนะให้มาเรียนรู้กับเครือข่ายในเรื่องนี้ น่าสนใจว่า...แพทย์ส่วนใหญ่ 99 เปอร์เซ็นต์ ไม่มีความรู้เรื่องว่าบุหรี่มีพิษภัยยังไง เริ่มจากศูนย์ เรียนรู้วิธีการที่จะเลิกยังไงก็ต้องถามเขา...แนะนำ...ช่วยเหลือ...ติดตาม “ใคร...เลิกยาก เลิกง่าย ใช้เวลามาก...น้อย ขึ้นอยู่กับกำลังใจ แต่ต้องอธิบายก่อนว่าคุณเป็นเบาหวาน หลอดเลือดชำรุดอยู่แล้ว ถ้าไม่เลิกสูบก็ทำให้ชำรุดหนักขึ้น...เส้นเลือดเสียหาย ต้องตัดขา”

ประเด็นสำคัญก็คือ ถ้าเป็น “ผู้ป่วย” ปัจจัยที่จะทำให้เลิกสูบบุหรี่อาจจะง่ายกว่าเพราะมีโรคแทรก ถัดมา...ลูกขอร้อง “ค่าบุหรี่ของพ่อขอให้หนูไปเป็นค่าเล่าเรียน” เด็กพูดประโยคนี้พ่อชะงัก...บางคนขนาดเป็นหมอสูบบุหรี่ในบ้าน ภรรยาขอร้องให้เลิกยังไงก็ไม่ได้ “ฉันเลิกกับเธอง่ายกว่าเลิกบุหรี่”...

แต่พอลูกพูด คุณพ่อคะขอให้เลิกบุหรี่เถอะเพราะเป็นภัยสุขภาพของพ่อ เดี๋ยวหนูไม่มีพ่อ...แล้วหนูได้ควันบุหรี่ของพ่อ ทำร้ายหนู แล้วถ้าเป็นผู้หญิงตั้งครรภ์ก็ทำร้ายลูกในครรภ์อีก

สมมติว่าเราไปอยู่ในโรงแรมที่มีกลิ่นบุหรี่ เน้นย้ำแบบเข้ากระแส... “พิษฝุ่นจิ๋ว PM 2.5” ที่เรากลัวกันนักกันหนานะ ถ้าเราได้กลิ่นบุหรี่นั้นถือว่าร้ายกว่า...หมายความว่าเรารับควันบุหรี่มือสองเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ถ้าคุณพ่อหยุดสูบบุหรี่แล้วมาอุ้มลูก...พ่อไม่ได้สูบ แต่ลูกก็ได้รับควันบุหรี่มือสามจากควันที่ติดตัวพ่อได้ “ควันบุหรี่” โทษมหันต์ก่อมะเร็ง...โรคได้ ศีรษะจดเท้าแม้กระทั่งเล็บก็ทำให้กุด ผมก็ทำให้ร่วง กระดูกก็พรุน

“หมอผ่าตัดผู้ป่วยสูบบุหรี่ก็บอก ถ้าจะผ่าโรคของผมรอก่อนนะเลิกบุหรี่ก่อน ไม่อย่างนั้นหลังผ่าตัดกระดูกคุณไม่ติด อย่างน้อยๆก็ต้องเลิกก่อนผ่า 7 วัน ถ้าให้ดีต้องเป็นเดือน...ยิ่งนานยิ่งดี บางคนวันเดียวเลิกได้ทันที แต่ถ้านับกันจริงๆต้องเลิกได้นาน 6 เดือนถึงจะได้ฐานะเป็นคนเลิกบุหรี่ตัวจริง”

ยุคพิษฝุ่นจิ๋ว PM 2.5 เป็นกระแสสะท้านเมืองไทย “บุหรี่”...เป็นหนึ่งในปัจจัยทำให้เกิดฝุ่นจิ๋วมากอย่างไม่น่าเชื่อ นี่คืออีกภัยร้ายสำคัญใกล้ตัวที่ไม่อาจมองข้าม.