กระทรวงทรัพย์ฯ ติวเข้ม 14 เมืองสิ่งแวดล้อมยั่งยืนระดับประเทศ เขณะที่ทศบาลนครภูเก็ต-อุดรฯ ขานรับพร้อมเป็นเมืองแนวหน้าของไทย สู่ต้นแบบระดับอาเซียน...

นายวิจารย์ สิมาฉายา ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า แนวคิด “การพัฒนาที่ยั่งยืน” หรือ SDGs เป็นแนวคิดกระแสหลักที่มุ่งให้เกิดการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ สังคม ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุล โดยองค์การสหประชาชาติ (UN) ได้กำหนดให้เป็นวาระการพัฒนาระดับโลก และให้แต่ละประเทศใช้เป็นแนวทางพัฒนาในทิศทางเดียวกันทั่วโลกในอีก 15 ปีข้างหน้า โดยประชาคมอาเซียนได้นำแนวคิดดังกล่าวมากำหนดเป็นทิศทางการพัฒนาภูมิภาคผ่านโครงการ “เมืองสิ่งแวดล้อมยั่งยืน” ภายใต้ยุทธศาสตร์หลักด้านความยั่งยืน ในวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียนปี 2025 ซึ่งถือเป็นเครื่องมือสำคัญในการยกระดับการพัฒนาและจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อมเมือง นำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ภายใต้พลังความร่วมมือของภาคีทุกระดับ ได้แก่ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ชุมชน ภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรพัฒนาเอกชน และประชาสังคม โดยประสานการทำงานร่วมกันในลักษณะเครือข่ายอย่างครอบคลุมทั่วพื้นที่ทุกระดับ

ด้านนายรัชฎา สุริยกุล ณ อยุธยา อธิบดีกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า มีภารกิจแปลงนโยบายสู่การปฏิบัติตามกรอบระดับชาติและสากล รวมทั้งยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 เพื่อขับเคลื่อนการจัดการสิ่งแวดล้อมเมืองของประเทศไทยให้เกิดผลที่เป็นรูปธรรม โดยน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งมุ่งเน้นการพัฒนาที่มีความสมดุลด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม มาเป็นแนวทางในการพัฒนาตั้งแต่ระดับชุมชน ท้องถิ่นไปสู่จังหวัดและประเทศ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน

นอกจากนี้ได้ประสานโครงการ ASEAN SDGs Frontrunner City ของประเทศไทย ภายใต้ความร่วมมือกับรัฐบาลญี่ปุ่น สำนักงานเลขาธิการอาเซียน และ Japan – ASEAN Integrated Fund เพื่อยกระดับเมืองที่ได้รับรางวัลชนะเลิศจากการประเมินเมืองสิ่งแวดล้อมยั่งยืนระดับประเทศ ตั้งแต่ปี 2558 ถึงปัจจุบัน ตามหลักการ เมืองอยู่ดี คนมีสุข สิ่งแวดล้อมยั่งยืน เทศบาลแห่งการเรียนรู้และการบริหารจัดการที่ดี ให้มีความพร้อมสู่การเป็นต้นแบบเมืองสิ่งแวดล้อมยั่งยืนอาเซียน

อย่างไรก็ตามในการประชุมเชิงปฏิบัติการระหว่างหน่วยงานภาคีเครือข่ายกับองค์ปกครองส่วนท้องถิ่น 14 เมือง ที่ได้ผ่านการประเมินเมืองสิ่งแวดล้อมยั่งยืนระดับประเทศ และมีความพร้อมในการเป็นเมืองต้นแบบ 4 ด้าน คือ 1.เป็นเมืองคุณภาพสิ่งแวดล้อม 2.พร้อมเป็นแหล่งเรียนรู้ 3.เชิดชูอัตลักษณ์ และ 4.ยึดหลักการมีส่วนร่วม ในการร่วมคิดและเตรียมการขับเคลื่อนงานด้านการพัฒนาเมืองและการจัดการสิ่งแวดล้อมท้องถิ่นตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ตลอดจนส่งเสริมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทั้งในระดับประเทศและภูมิภาคอาเซียน เพื่อเพิ่มพูนศักยภาพด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมยั่งยืน

...

สำหรับ 14 เมืองสิ่งแวดล้อมยั่งยืนระดับประเทศ ประกอบด้วย เทศบาลนครเชียงราย เทศบาลตำบลเวียงเทียง และเทศบาลตำบลเชียงเคี่ยน จังหวัดเชียงราย, เทศบาลนครภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต, เทศบาลนครอุดรธานี จังหวัดอุดรธานี, เทศบาลเมืองกระบี่ จังหวัดกระบี่, เทศบาลเมืองพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี, เทศบาลเมืองตาคลี จังหวัดนครสวรรค์, เทศบาลเมืองพิจิตร จังหวัดพิจิตร, เทศบาลตำบลเกาะคา จังหวัดลำปาง เทศบาลตำบลบ้านสาง จังหวัดพะเยา, เทศบาลตำบลเรณูนคร จังหวัดนครพนม, เทศบาลตำบลหนองเต็ง จังหวัดบุรีรัมย์ และเทศบาลตำบลฉมัน จังหวัดจันทบุรี โดยมีเทศบาลนครภูเก็ตและเทศบาลนครอุดรธานี เป็น 2 เมืองแนวหน้า หรือ Frontrunner City ของประเทศไทย เตรียมยกระดับสู่การเป็นเมืองต้นแบบสิ่งแวดล้อมยั่งยืนระดับอาเซียน.