หญิงตั้งครรภ์ 3 เดือน เสียความรู้สึก หลังพบแพทย์จากอาการมีเลือดออกช่องคลอด กลับเจอตะคอกใส่ซ้ำวินิจฉัยผิดจนสุดท้ายแท้งลูก ด้านโรงพยาบาลแจงเป็นหมอฝึกหัด เจ้าตัวยอมรับผิด
จากกรณีหญิงผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่งโพสต์ข้อความในทำนองว่า ตั้งครรภ์ 12 สัปดาห์ แต่เมื่อวันที่ 4 ม.ค. 2562 มีอาการปวดท้องและมีมูกปนเลือดออกมาทางช่องคลอด จึงไปรักษายังโรงพยาบาล ขณะนั้นพบกับแพทย์เวรผู้หญิง ตรวจอาการและตรวจปัสสาวะแล้วบอกว่าเป็นกระเพาะปัสสาวะอักเสบ พร้อมจ่ายยาพาราเซตามอลและอะม็อกซีซิลลิน หรือยาปฏิชีวนะใช้ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งตัวเธอก็แปลกใจว่าเหตุใดจึงไม่ตรวจมากกว่านี้
แต่วันรุ่งขึ้นเธอมีอาการปวดท้องจึงไปโรงพยาบาลอีกครั้งเนื่องจากคลินิกเปิดเพียงครึ่งวัน และได้รับการตรวจอีกครั้งกับแพทย์หญิงคนเดิม แต่กลับมีคำพูดที่ไม่น่าฟังจนเสียความรู้สึกมาก กระทั่งวันที่ 7 ม.ค. ข่าวร้ายก็มาเยือนเธอเพราะแท้งบุตร

...
ล่าสุดวันที่ 10 ม.ค. ผู้สื่อข่าวประสานไปยังโรงพยาบาลนครนายก เพื่อขอทราบข้อเท็จจริงได้รับการตอบรับและนัดให้คู่กรณีมาพบกับฝ่ายบริหารที่โรงพยาบาลในเวลาประมาณ 13.00 น. คณะผู้บริหารนำโดย นพ.สมพงษ์ เชี่ยวชาญกลจักร์ รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลนครนายก และ พญ.กัลยาณี กังสนารักษ์ หัวหน้ากลุ่มงานสูตินรีแพทย์ มาพบและพูดคุยกับ น.ส.สถิตย์ภรณ์ (สงวนนามสกุล) หรือผู้โพสต์ พร้อมกับญาติ
น.ส.สถิตย์ภรณ์ กล่าวว่า ไม่ได้คิดจะทำให้แพทย์คนนี้ออกจากงาน แต่ต้องการให้ผู้บริหารตักเตือนทางแพทย์คนดังกล่าวให้ระมัดระวังคำพูดและกิริยาท่าทางกับคนไข้ให้มากกว่านี้ และอยากให้ทางโรงพยาบาลนครนายกปรับปรุงเรื่องการให้บริการคนไข้ฉุกเฉินให้ดีกว่าที่เป็นอยู่
ด้าน พญ.กัลยาณี กล่าวว่า ได้สอบถามกับทางแพทย์หญิงคนดังกล่าวแล้ว ทางเจ้าตัวก็ยอมรับว่าได้พูดจาไม่ดีกับคนไข้จริง ซึ่งได้ว่ากล่าวตักเตือนไปแล้ว เจ้าตัวก็ยอมรับผิดและรู้สึกเสียใจกับเรื่องที่เกิดขึ้น ในกรณีนี้หากผู้ป่วยมาในเวลาราชการก็จะมีแพทย์เฉพาะทางคอยดูแล เบื้องต้นก็จะได้อัลตราซาวนด์ก่อน แต่อาจจะเป็นเพราะแพทย์คนดังกล่าวเป็นแพทย์ฝึกหัด มีประสบการณ์น้อยไป ซึ่งเรื่องนี้ทางโรงพยาบาลจะนำไปเป็นกรณีศึกษาเพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้นอีก
ในส่วนของการปรับปรุงการให้บริการด้านห้องฉุกเฉิน ปัจจุบันทางโรงพยาบาลมีการจัดตั้งคณะทำงานสำหรับดูแลเรื่องปัญหาเหล่านี้ โดยตั้งเป็นกลุ่ม “บริหารความเสี่ยง” คอยติดตามดูหากเกิดปัญหา ก็จะเข้าไปพูดคุยกับคนไข้หรือผู้เสียหายเพื่อจะได้รับรู้ข้อเท็จจริงและนำมาดำเนินการแก้ไขปัญหาต่อไป
“ที่ผ่านมายอมรับว่าห้องฉุกเฉินเป็นส่วนที่มีปัญหาเรื่องการบริการมากที่สุด อาจจะเป็นเพราะความไม่เข้าใจและการสื่อสารที่ไม่ดีทำให้เกิดความไม่พอใจขึ้น ในระยะยาวจะต้องมีการจัดระบบแจ้งให้คนไข้ทราบว่า ในเวลานั้นแพทย์กำลังทำเคสคนไข้สำคัญอยู่หรือไม่ ซึ่งอาจจะใช้ในเรื่องสัญญาณไฟเป็นเครื่องหมายบอกเหตุต่อไป และขณะนี้ทางโรงพยาบาลก็ได้ทำการใช้คลินิกนอกเวลา เป็นการแยกคนไข้ฉุกเฉินออกจากคนไข้ที่มีอาการไม่ร้ายแรง โดยคนไข้ที่มีอาการไม่ร้ายแรงจะแยกไปไว้ที่คลินิกนอกเวลาเป็นหลัก”
(ขอบคุณเจ้าของเฟซบุ๊ก)