สจล. ตั้งศูนย์ดาต้าเซ็นเตอร์ติดตามความเคลื่อนไหวของพายุปาบึก แนะประชาชนเกาะติดอิทธิพลของพายุปาบึก ด้วยแอปฯ WMApp เตือน 15 จังหวัดภาคใต้ เฝ้าระวังฝนตกหนัก ลมแรง...


วันที่ 4 ม.ค.62 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ตั้งศูนย์ติดตามความเคลื่อนไหวของพายุปาบึก (Data center) ซึ่งเป็นการติดตามทิศทางการเคลื่อนของพายุปาบึก ด้วยระบบพยากรณ์อากาศและแอปพลิเคชัน "WMApp" ที่มีความแม่นยำและความละเอียดสูงที่สุด รายเขตปกครองในเขตภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ อาเซียน ตลอดจนข้อมูลเตือน 15 จังหวัดภาคใต้ เฝ้าระวังอันตรายจากฝนตกหนัก

ดร.วัฒนชัย พงษ์นา รองอธิการบดี วิทยาเขตชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ สจล. ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ประสานงานและที่พักฉุกเฉินผู้ประสบภัยพายุโซนร้อนปาบึก กล่าวว่า สจล.ระดมศักยภาพของบุคลากร เตรียมความพร้อมรับมืออิทธิพลจากพายุปาบึก โดยได้จัดตั้งศูนย์ประสานงานและที่พักฉุกเฉินผู้ประสบภัยพายุโซนร้อนปาบึก ตั้งแต่วันที่ 2 ม.ค.62 ภายใน สจล. วิทยาเขตชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ บริเวณชั้น 1-2-3 อาคารเฉลิมพระเกียรติฯ รองรับผู้อพยพได้ประมาณ 500 คน พร้อมอุปกรณ์ยังชีพที่จำเป็น พร้อมเปิดครัวพร้อมปรุงอาหาร 3 มื้อ มีน้ำประปาและไฟฟ้าสำรอง ขณะที่ไฟดับน้ำข้างนอกไม่ไหลก็สามารถให้การช่วยเหลือได้ ตลอดจนการให้คำปรึกษาเพื่อเยียวยาผลกระทบทางจิตใจ

ขณะนี้ชาวชุมพรเฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และมีการประสานเส้นทางการเดินทางมาที่ศูนย์ ซึ่งคาดว่าพายุฝนอาจจะส่วผลกระทบต่อชาวจังหวัดชุมพรช่วงบ่าย และจะมีประชาชนอพยพเข้ามาที่ศูนย์ช่วงดังกล่าว

...

ขณะที่ ดร.ชินวัชร์ สุรัสวดี อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมโทรคมนาคม คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ผู้คิดค้นและพัฒนานวัตกรรม WMApp กล่าวว่า จากการติดตามพายุปาบึกจากแอปพลิเคชัน "WMApp" พบว่าพายุดังกล่าวก่อตัวในทะเลจีนใต้ตอนล่าง มีทิศทางเคลื่อนไปทางทิศตะวันตก ผ่านชายฝั่งประเทศมาเลเซีย และพื้นที่ภาคใต้ตอนล่างฝั่งทะเลอ่าวไทย ประเทศไทย บริเวณจังหวัด นราธิวาส ปัตตานี ยะลา สงขลา พัทลุง และนครศรีธรรมราช ช่วงกลางดึกของวันที่ 3 ม.ค.ที่ผ่านมา ก่อนจะเคลื่อนไปครอบคลุม 15 จังหวัของภาคใต้ตั้งแต่ประจวบคีรีขันธ์ลงมา อาจทำให้เกิดฝนตกหนัก น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลากในบางพื้นที่ นอกจากนี้ต้องระมัดระวังอันตรายจากแรงลม ที่อาจสร้างความเสียหายแก่สิ่งปลูกสร้าง ต้นไม้ ป้ายโฆษณาที่ไม่แข็งแรง โดยหลังจากนั้นพายุนี้จะเคลื่อนไปทางทิศตะวันตกออกสู่ทะเลอันดามัน

ระบบพยากรณ์อากาศ WMApp จะสามารถพยากรณ์อากาศที่แม่นยำสูงถึง 85% และมีความละเอียดสูง ดูเป็นรายชั่วโมง ทั้งล่วงหน้าละปัจจุบัน ดูปริมาณฝนที่จะตกว่ากี่มิลลิเมตรต่อชั่วโมง และดูเป็นรายเขตปกครอง สามารถระบุตำแหน่งและเวลาที่หยาดน้ำฟ้าจะตกควบคู่กับให้ผลพยากรณ์พายุหมุน ได้ล่วงหน้า 5.5 วัน ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และยุโรป

จากการสังเกตของดาวเทียมคลื่นมิลลิมิเตอร์เวฟแบบแพสซิฟ และดาวเทียมค้างฟ้าอินฟราเรดแบบแพสซิฟ โดยใช้อัลกอริทึม AMP และ JPP ซึ่งอัลกอริทึม AMP ถือเป็นอัลกอริทึมแรกของโลก และมีความถูกต้องแม่นยำดีที่สุดในปัจจุบัน ที่สามารถประมาณค่าหยาดน้ำฟ้าได้ครอบคลุมทั่วโลก รวมถึงพื้นที่ที่มีหิมะปกคลุมและทะเลน้ำแข็ง เช่น ขั้วโลกเหนือ และยังสามารถรายงานการเกิดแผ่นดินไหวทั่วโลกได้ด้วย ซึ่งจะมีประโยชน์อย่างมากกับการวางแผนการรับมือกับการเกิดภัยพิบัติ เตรียมความพร้อมอพยพประชาชนไปสู่พื้นที่ปลอดภัย และช่วยลดความเสียหายทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม

"โดยช่วงบ่าย 3 - 6 โมงเย็นวันนี้ จุดศูนย์กลางพายุปาบึก จะเข้าตอนล่างจังหวัดนครศรีธรรมราช และศูนย์กลางจะเคลื่อนออกมาฝั่งอันดามัน ความสูงของคลื่น 5.5-7.5 เมตร พรุ่งนี้เที่ยงถีงเที่ยงคืน สถานการณ์จะดีขึ้น หลังเที่ยงคืนวันที่ 5 จะค่อยๆจางไปจนหมด"

อย่างไรก็ตามผู้ประสบภัย สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ ศูนย์ประสานงานและที่พักฉุกเฉินผู้ประสบภัยพายุโซนร้อนปาบึก ภายในสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง วิทยาเขตชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ ได้ที่เบอร์ ประสานงานทั่วไป 0-7750-6410 แจ้งเหตุฉุกเฉิน 08-3066-5373 และ 08-8757-4847.