แม้ไม่อยากเชื่อก็ต้องเชื่อ วันนี้ประเทศไทยกลายเป็นประเทศที่มีปัญหาท้องวัยรุ่น คุณแม่วัยใส หรือวัยรุ่นตั้งครรภ์ในขณะที่ยังเรียนสูงปรี๊ดอยู่ในอันดับต้นๆของโลก และครองอันดับสองของทวีปเอเชีย รองลงมาจาก สปป.ลาว

เมื่อ 15 ปีที่แล้ว หรือปี 2546 มีวัยรุ่นไทยอายุต่ำกว่า 20 ปี ซึ่งส่วนใหญ่ ยังอยู่ในวัยเรียนคลอดลูก (เฉพาะที่ได้รับรายงาน) ประมาณ 95,000 ราย

ปี 2558 หรือเมื่อ 3 ปีก่อน ยอดวัยรุ่นวัยเรียนตั้งท้องและคลอดลูกในขณะยังเป็นนักเรียน นักศึกษา (เฉพาะที่ได้รับรายงาน) ทั่วประเทศขยับขึ้นไปเป็น 104,000 ราย

แม้ตัวเลขล่าสุดในปีนี้ยังไม่มีการเคาะออกมา แต่ที่แน่ๆอัตราการตั้งครรภ์ของวัยรุ่นไทยตลอดระยะ 10 ปีที่ผ่านมา มีแต่จะสูงขึ้น ไม่มีทีท่าว่าจะลด แถมยังสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องอีกต่างหาก

ประมาณการกันว่าตัวเลขที่ใกล้เคียงล่าสุด ณ เวลานี้ น่าจะพุ่งขึ้นไปถึง กว่า 2 แสนคน แล้ว

แม้ขณะนี้เมืองไทยจะมี พ.ร.บ.การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ.2559 ออกมารองรับปัญหาข้างต้นได้ 2 ปีเต็ม แต่ในทางปฏิบัติ ดูเหมือนแทบจะไม่มีวัยรุ่นไทยคนใดอาจหาญพอจะใส่ชุดคลุมท้องไปนั่งเรียน นั่งสอบร่วมกับเพื่อน ท่ามกลางสายตาล่อเป้าและดูแคลนจากคนทั้งโรงเรียน

การตั้งครรภ์ของวัยรุ่นที่ไม่พร้อมจะมีครอบครัว จึงส่งผลกระทบเชิงลบต่อพัฒนาการของตัววัยรุ่นเอง ต่อโอกาสทางการศึกษา โยงไปถึงการประกอบอาชีพ ความเสี่ยงต่อการทำแท้งอย่างไม่ปลอดภัย ไปจนถึงการทอดทิ้งทารกหรือเด็กเล็ก เพราะตัวเองไม่สามารถเลี้ยงดูได้อย่างเหมาะสม ซึ่งนอกจากมีโทษตามกฎหมาย ยังเป็นการปล่อยให้ทารกหรือเด็กตกเป็นภาระของสังคมอย่างไม่ควรจะเกิดขึ้น

โครงการร้อยชุมชน สานพลัง เพื่อป้องกันแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นของ มูลนิธิสร้างความเข้าใจเรื่องสุขภาพผู้หญิง (สคส.) ภายใต้ การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จึงเป็นอีกโครงการหนึ่ง ที่หวังจะเข้ามาสกัดกั้นและแก้ไขปัญหานี้

...

ดร.กนกวรรณ ธราวรรณ หรือ “เก๋” ที่ปรึกษาของโครงการนี้ บอกว่า โครงการนี้ประกอบด้วยโครงการย่อยนับ 100 โครงการกระจายตัวอยู่ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ โดยใช้คนที่อยู่ในแต่ละชุมชนนั้น เป็นผู้เข้าไปป้องกัน และแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น

นับจากได้ดำเนินงานมาตั้งแต่เดือน มิ.ย.ปีที่แล้ว จนถึงขณะนี้ เก๋บอกว่า อย่างน้อยมีอยู่ 17 โครงการ ที่สามารถนำเอาบทเรียนจากการทำงานมาใช้เป็นต้นแบบเพื่อพัฒนาโครงการต่างๆได้เป็นอย่างดี

เธอยกตัวอย่างที่ ชุมชนบ้านบูวะ หมู่ 3 ตำบลกระเสาะ อำเภอมายอ จังหวัดปัตตานี ซึ่งมีคนในชุมชนนั้น ซึ่งใช้ชื่อว่ากลุ่ม “กาวันกีตอ” เป็นคนทำงานในพื้นที่

หมู่บ้านแห่งนี้เป็นหมู่บ้านดั้งเดิม ที่เผชิญกับปัญหาความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีประชากรทั้งสิ้น 270 ครัวเรือน จำนวน 1,196 คน ทุกคนนับถือศาสนาอิสลาม มีเด็กและเยาวชนอายุระหว่าง 12-15 ปี จำนวน 73 คน จาก 62 ครัวเรือน

มีเยาวชน (อายุ 12-15 ปี) ตั้งครรภ์ 6 ราย

ดร.เก๋เล่าว่า ก่อนเริ่มออกปฏิบัติการในพื้นที่ ได้มีการสำรวจเพื่อวัดความรู้ และทัศนคติในเรื่องเพศของครอบครัวเยาวชน พบว่า ผู้ปกครอง ส่วนใหญ่ ร้อยละ 61 มีความรู้เรื่องสุขภาวะทางเพศ อยู่ในระดับดี

แต่ ตัวเยาวชน ร้อยละ 67 มีความรู้เรื่องเพศที่ถูกสุขภาวะ อยู่ในระดับน้อย

นอกจากนี้ยังพบว่าผู้ปกครองส่วนใหญ่ในชุมชน มีทัศนคติเรื่องเพศ อยู่ในระดับน้อย ขณะที่เยาวชนส่วนใหญ่ มีทัศนคติต่อเรื่องเพศ ในระดับปานกลาง

“ที่เป็นเช่นนี้ เพราะชุมชนบ้านบูวะเป็นชุมชนมุสลิม ผู้ใหญ่เห็นว่าเด็กทุกคนควรเชื่อในพระเจ้า การสอนเพียงหลักศาสนาจึงน่าจะเพียงพอให้เด็กและเยาวชนเชื่อฟังแล้ว ไม่จำเป็นต้องพูดเรื่องเพศให้แก่เด็กและเยาวชนที่ยังไม่อยู่ในวัยออกเรือนฟัง ทั้งหมู่บ้านจึงแทบไม่มีการพูดถึงเรื่องการใช้ถุงยางอนามัย หรือยาคุมกำเนิด”

“เมื่อการพูดถึงเรื่องเพศเกือบจะเป็นเรื่องที่ห้ามพูดถึงและแตะต้อง แต่ความต้องการทางเพศของเด็กวัย 12-15 ปี สมัยนี้ ซึ่งมีรูปร่างโตเป็นหนุ่มเป็นสาวเร็วกว่าอายุ เด็กผู้หญิงบางคนอายุแค่ 12 ปี มีประจำเดือนแล้ว จึงอาจไม่ได้เป็นอย่างที่ผู้ใหญ่คิด ในที่สุดเด็กๆส่วนหนึ่งจึงแอบไปมีอะไรกันจนตั้งท้อง แต่ตามหลักศาสนาห้ามทำแท้ง เพราะถือว่าผิดบาป ในที่สุดวัยรุ่นเหล่านั้นจึงต้องออกจากโรงเรียน”

เก๋บอกว่า หลังจากจับทางถึงต้นตอของปัญหาได้แล้ว คณะทำงานเริ่มแก้ปัญหาโดยใช้ยุทธศาสตร์ให้คนในพื้นที่นั้นเอง ซึ่งเป็นคนมุสลิมด้วยกัน ใช้ภาษามลายูด้วยกัน เป็นผู้เปิดพื้นที่ โดยคณะทำงานชุดนี้ได้ไปจับมือกับสถาบันราชภัฏแห่งหนึ่ง นำปัญหาของชุมชนไปศึกษาวิจัย จากนั้นนำผลการวิจัยไปพูดคุยกับโต๊ะอิหม่าม หรือผู้นำชุมชน ซึ่งมีบทบาทสำคัญในชุมชน แล้วค่อยนำไปขยายผลเพื่อแก้ปัญหาต่อไป

นี่คือ ตัวอย่างหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงการฝังรากลึกของปัญหา แต่ในความเป็นจริงปัญหาที่ว่าไม่ได้มีอยู่แต่ที่ชุมชนบ้านบูวะเท่านั้น แต่มีอยู่ทั่วทุกหนแห่งในประเทศนี้

เช่น ที่ชุมชน บ้านแม่สามแลบ ต.แม่สามแลบ อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน บ้านทุ่งมอก ต.บ้านมาง อ.เชียงม่วน จ.พะเยา บ้านร่วมจิต ต.ร่วมจิต อ.ท่าปลา จ.อุตรดิตถ์ บ้านป่าแขม ต.แม่แวน อ.พร้าว จ.เชียงใหม่ บ้านหนองทุ่ม ต.นาดูน อ.นาดูน จ.มหาสารคาม บ้านหนองใหญ่ ต.ผาอินทร์แปลง อ.เอราวัณ จ.เลย

บ้านดงน้อย ต.ห้วยโพธิ์ อ.เมือง จ.กาฬสินธุ์ เทศบาล ต.บ้านนา อ.บ้านนา จ.นครนายก เทศบาล ต.ลูกแก อ.ท่ามะกา จ.กาญจนบุรี บ้าน หนองตะขบ ต.หนองมะโมง อ.หนองมะโมง จ.ชัยนาท ต.วิหารขาว อ.ท่าช้าง จ.สิงห์บุรี ชุมชนไผ่ล้อม-ทุ่งน้อย ต.ยายร้า อ.ท่าใหม่ จ.จันทบุรี

บ้านโนนชาด ต.คงเค็ง อ.หนองสองห้อง จ.ขอนแก่น บ้านโสกแมว ต.อุ่มเหม้า อ.ธาตุพนม จ.นครพนม บ้านทะนง ต.แกใหญ่ อ.เมือง จ.สุรินทร์ หรือที่ บ้านบ่อกุด ต.กระดังงา อ.สทิงพระ จ.สงขลา เป็นต้น

จะเห็นว่าปัญหานี้กระจายตัวไปทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ แต่ละชุมชนล้วนมีสภาพแวดล้อมของปัญหาที่ต่างกัน การเข้าถึง และวิธีแก้ปัญหาก็ต่างกัน...แต่ละทีมทำหน้าที่เหมือนเป็น...ศิราณี ที่ปรึกษาเรื่องเพศ

“อย่างที่ลูกแก อำเภอท่ามะกา รองนายก อบต. บอกว่า ในพื้นที่มีการพัฒนาด้านวัตถุมากพอแล้ว ควรหันมามุ่งพัฒนาทางด้านสังคมและจิตใจบ้าง จึงมีการนำเด็กที่เรียนจบ ป.6 ส่วนหนึ่ง ที่ไม่ได้เรียนต่อ บางคนไปเป็นเด็กแว้นบ้าง ติดเกมบ้าง บางคนก็ไปมั่วสุมมีแฟนจนตั้งท้องขึ้นมา จัดหาคนในชุมชนเข้าไปสัมผัสใกล้ชิดกับเด็กๆเหล่านั้น แล้วให้ความรู้ที่เป็นประโยชน์แก่พวกเขา เป็นต้น”

“หรืออย่างที่บ้านนา นครนายก มีการนำเอาเด็กวัยรุ่นที่ค่อนข้างเกเรทั้งหลายมาสอนตัวเอง โดยเอาสิ่งที่เด็กเป็นคนคิดขึ้นมาเอง มาออกแบบทำเป็นโครงการขึ้นมา เช่น ถามวัยรุ่นเหล่านั้นว่า อยากรู้เรื่องอะไรบ้าง มีเด็กบางคนถามว่า กินน้ำอสุจิของแฟนเข้าไปแล้ว หนูจะตั้งท้องได้ไหมคะ เป็นต้น เมื่อรู้ว่าวัยรุ่นเหล่านั้นอยากรู้อะไร ก็รวบรวมเอาไปนั่งคุยกับวิทยากร เพื่อให้วิทยากรจัดเตรียมในสิ่งที่เด็กอยากรู้ไปมอบให้โดยตรง”

“ไม่ใช่ก้มหน้าก้มตาสอนแต่เรื่องเพศศึกษา ซึ่งสมัยนี้เด็กหรือวัยรุ่น สามารถเข้าไปเปิดดูในยูทูบเองได้ มาบอกซ้ำมันน่าเบื่อ แต่เราต้องอ่านปัญหาที่มีในแต่ละพื้นที่ให้ขาดก่อน แล้วค่อยเอาสิ่งที่วัยรุ่นอยากรู้ หรือไม่เคยรู้ไปป้อนให้ การอบรมถึงจะได้ผล” ดร.เก๋ทิ้งท้าย.