ในที่สุดประเทศไทย ก็ได้ “อธิบดีกรมป่าไม้” คนใหม่ หลังว่างเว้นมานานกว่า 1 ปี
นั่นคือ อรรถพล เจริญชันษา ข้าราชการหนุ่มอายุ 52 ปี จากคณะวนศาสตร์ รุ่น 49 มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่เติบโตมาจากงานป้องกันและปราบปรามผู้กระทำผิดในการบุกรุกผืนป่ามาเกือบตลอดชีวิตราชการ
หากย้อนหลังไปกว่า 1 ปี คงไม่อาจปฏิเสธได้ว่าประเทศไทย ได้สูญเสียโอกาสมากมาย เพราะกรมป่าไม้เกี่ยวข้องโดยตรงกับคนไทยทั้งประเทศ โดยเฉพาะการจัดการทรัพยากรป่าไม้ของประเทศ รวมทั้งกฎหมาย การอนุญาต สัมปทาน การแก้ปัญหาเขาหัวโล้น ฯลฯ
ตอกย้ำด้วยตัวเลขซึ่งน่าตกใจที่ประเทศไทยต้องสูญเสียงบประมาณด้านป่าไม้ในแต่ละปีไปมากมายมหาศาล ขณะที่รัฐบาลมีการตั้งเป้าเพิ่มพื้นที่ป่าที่มีอยู่ปัจจุบัน 31.57% ของพื้นที่ประเทศ หรือเท่ากับ 102.17 ล้านไร่ ให้เพิ่มขึ้นอีก 40 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ประเทศให้ได้ในปี 2567
และซ้ำเติมด้วยการบุกรุกทำรีสอร์ตบ้านพักในป่าสงวนฯ ทั่วประเทศรวมถึงที่ยังค้างคาไม่กล้าทุบทิ้งอย่าง รีสอร์ตภูทับเบิก หรือ เขาค้อ จ.เพชรบูรณ์ และที่อื่นๆ อีกมากมาย
...
ปัญหาป่าไม้ ที่รอการสะสางขนาดนี้ แน่นอน คำถามจากสังคมคงหนีไม่พ้น...แล้วทำไมถึงปล่อยให้ตำแหน่งอธิบดีกรมป่าไม้ว่างตั้งปีกว่า
ทั้งๆที่ตำแหน่งอธิบดีกรมป่าไม้ มีความสำคัญในการเป็นหัวขบวนหรือหัวหอกในการพลิกฟื้นผืนป่าของประเทศ ที่แม้จะไม่สามารถทำให้ป่าไม้กลายเป็นป่าสมบูรณ์ หรือป่าในอุดมคติที่เป็นธรรมชาติได้ทั้งหมด แต่อย่างน้อยที่สุด ก็น่าจะช่วย
สร้างป่าเศรษฐกิจ ที่ประชาชนที่ยากจนได้มีที่อยู่ ที่อาศัย ที่ทำกิน เพื่อประคับประคองชีวิตไปได้ พร้อมๆ กับปกป้องผืนป่าจากกลุ่มนายทุนที่จ้องเอารัดเอาเปรียบและหาช่องทางทางกฎหมาย ที่หมายจะยึด ครองเพื่อหวังประโยชน์จากป่าให้ได้
“หยุดยั้งการบุกรุกทำลายป่า ส่งเสริมไม้มีค่าป่าชุมชน คนอยู่กับป่าอย่างยั่งยืน นี่คือปรัชญาในการทำงาน การหยุดยั้งการบุกรุกทำลายป่าซึ่งที่ผ่านมาถือเป็นที่น่าพอใจ โดยเฉพาะการจับกุมขบวนการค้าไม้ข้ามชาติแก๊งมู่หลานกว่า 100 ล้านบาทที่สามารถจับกุมเครือข่ายมู่หลาน ได้ตัวการที่เกี่ยวข้องทั้งชาวไทยและต่างชาติ และดำเนินการขั้นเด็ดขาดกับเจ้าหน้าที่ป่าไม้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง และภายในสิ้นปีนี้จะมีการออกหมายจับผู้ร่วมขบวนการเพิ่มอีก 15 คน หลังจากนี้ยังต้องเดินหน้างานปราบปรามกลุ่มนายทุนที่บุกรุก โดยต้องสร้างทีมพยัคฆ์ไพรเพิ่มเสริมให้แข็งแกร่งและบูรณาการกับหน่วยงานต่างๆ ซึ่งตั้งเป้าต้องทำให้ดีขึ้นเพราะเรายังไว้วางใจกลุ่มนายทุนไม่ได้ ต้องปราบให้สนิท นอกจากนี้ จะทำเรื่องการขับเคลื่อนนโยบายการหยุดยั้งการทำลายป่าให้ครบวงจร โดยป่าที่กรมป่าไม้ดูแลประมาณ 58.68% หรือ 143,925,404.30 ไร่ ใน 1,221ป่าไม่ให้ลดลง แต่จะให้เพิ่มขึ้นโดยเชื่อมโยงการทำงานกับการแก้ปัญหาประชาชนที่อยู่ในที่ดินป่าไม้ การจัดหาที่ดินให้กับชุมชน เป็นการจัดระเบียบประชาชนที่อาศัยอยู่ในที่ดินของรัฐ ให้อยู่อาศัยทำกินในที่ดินนั้นๆ ได้อย่างถูกกฎหมาย ภายใต้เงื่อนไขต่างๆ และเป็นการป้องกันการบุกรุกป่าเพิ่มเติม ซึ่งกรมป่าไม้ปรับปรุงระเบียบและโครงสร้างการทำงานให้สอดคล้องกับภารกิจ โดยให้หน่วยป้องกันและพัฒนาป่าไม้ทำหน้าที่เป็นคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ หรือ คทช.อำเภอ ซึ่งบูรณาการการทำงานทั้งฝ่ายปกครอง องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และประชาชนในพื้นที่ ปัจจุบันอยู่ระหว่างการร่าง พ.ร.บ.คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ พ.ศ. เพื่อใช้เป็นแนวทางการดำเนินงานการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนต่อไป” นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมป่าไม้คนใหม่ระบุถึงทิศทางการทำงาน
นอกจากนี้ ยังมีเรื่องการปลูกไม้เศรษฐกิจ ที่ต้องเพิ่มพื้นที่ป่าอีก 15 เปอร์เซ็นต์ ปรับปรุงกฎหมายเพื่อเป็นการลดปัญหา อุปสรรค และอำนวยความสะดวกแก่ประชาชน ที่ทำอาชีพปลูกสร้างสวนป่าทั้งในที่ดินกรรมสิทธิ์ และที่ได้รับรองสิทธิ เพื่อให้เกิดการเสริมสร้างเศรษฐกิจระดับชุมชนและกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศในภาพรวม โดยต้องอาศัยการมีส่วนร่วมของประชาชนในการดูแลทรัพยากรป่าไม้ ตาม พ.ร.บ.ป่าชุมชนที่ถือเป็นป่าแนวกันชนที่อยู่รอบบริเวณป่าอนุรักษ์ ซึ่งกรมป่าไม้ส่งเสริมให้ประชาชนได้ใช้ประโยชน์จากป่าชุมชนเท่าที่จำเป็นพร้อมๆกับการดูแลป่า ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการเสนอร่าง พ.ร.บ.ป่าชุมชนเพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการบริหารงานด้านป่าชุมชนอย่างยั่งยืน
“ผมจะไม่ทำให้ผิดหวังและพร้อมทำงานอย่างเต็มที่ให้สมกับที่ได้รับความไว้วางใจ พร้อมทั้งขอปลดล็อกให้คนในกรมป่าไม้เกิดความสามัคคี ซื่อสัตย์ และมีทัศนคติที่อยากทำงานร่วมกันเพื่อประโยชน์ของประชาชน รักในเกียรติและศักดิ์ศรีของกรมป่าไม้ มีมาตรการที่ทำให้คนไม่ดีเกรงกลัวและประชาชนรักกรมป่าไม้” ถ้อยคำที่เป็นเสมือนคำมั่นสัญญาของ นายอรรถพล
“ทีมข่าวสิ่งแวดล้อม” มองว่านี่คือโจทย์ใหญ่ที่ท้าทายอธิบดีกรมป่าไม้คนใหม่หมาดๆ ที่ชื่อ อรรถพล เจริญชันษา โดยเฉพาะสิ่งที่เราอยากจะฝากไว้ คือ กรมป่าไม้นั้น ดูแลป่าสงวนแห่งชาติที่ต้องทำงานเกี่ยวข้องกับคนจนที่อาศัยในเขตป่าสงวนฯ กว่า 10 ล้านคน จะทำอย่างไร ถึงจะอยู่อย่างพึ่งพาอาศัยกันได้
ทำอย่างไรจะให้ประชาชนร่วมกันลุกขึ้นมาช่วยกันปกป้องรักษาผืนป่า รวมไปถึงหาทางพัฒนาให้ทุกชีวิตอยู่อย่างมั่นคง มีคุณภาพและยั่งยืนขึ้นนับจากวันนี้คงมีแต่เวลาเท่านั้นที่จะเป็นเครื่องพิสูจน์.
ทีมข่าวสิ่งแวดล้อม