สวัสดีค่ะคุณผู้อ่านไทยรัฐออนไลน์ที่รัก หลายวันก่อนคุณครูลิลลี่ได้อ่านเจอข่าวดีที่คนไทยทั้งหลายรอคอย นั่นก็คือมีการประกาศออกมาว่าปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ประเทศไทยของเราได้เข้าสู่หน้าหนาวอย่างเป็นทางการ งานนี้ก็เล่นเอาหลายคนรีบไปรื้อตู้เสื้อผ้าเตรียมเสื้อกันหนาวกันใหญ่ แต่ดูเหมือนว่าการก้าวเข้าสู่หน้าหนาวที่บอกจะยังเป็นแค่คำกล่าวลอยๆ เพราะว่าเราๆ ท่านๆ ส่วนใหญ่ก็ยังไม่ได้สัมผัสกับความหนาวกันเลยสักคน ว่าแต่ว่าพูดถึงการเข้าหน้าหนาวทั้งที ก็เท่ากับว่าปีนี้เราได้ผ่านหน้าฝนไปเรียบร้อยแล้ว และก็แน่นอนว่าเมื่อผ่านหน้าฝนอย่างที่บอก ในทางพุทธศาสนาก็เท่ากับว่าเราก็ได้ผ่านวันออกพรรษาไปแล้วนั่นเอง ซึ่งปีนี้ วันออกพรรษาตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 11 หรือวันพุธที่ 24 ตุลาคม 2561 ที่ผ่านมา และเมื่อพูดถึงวันออกพรรษา ภาษาไทยของคุณครูลิลลี่ มีความยินดีที่จะเสนอคำว่า “ตักบาตรเทโว” ค่ะ คำนี้จะมาคู่กับคำว่า วันออกพรรษา เสมอนะคะ เพราะ วันตักบาตรเทโว หมายถึง วันทำบุญตักบาตรในเทศกาลวันออกพรรษา ตามความเชื่อของพุทธศาสนิกชนว่า เป็นวันที่พระพุทธเจ้าเสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์หลังจากเทศนาอภิธรรมปิฎกโปรดพุทธมารดา คำว่า ดาวดึงส์ เป็นคำนามนะคะ อ่านว่า ดาว วะ ดึง เป็นชื่อของสวรรค์ชั้นที่ 2 แห่งสวรรค์ 6 ชั้น มีพระอินทร์เป็นใหญ่ในชั้นนี้ค่ะ

คุณผู้อ่านคะ คำว่า เทโว มาจากคำว่า เทโวโรหณะ หมายถึงการเสด็จลงมาจากเทวโลกขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นเหตุการณ์หลังจากที่องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้และทรงออกประกาศพระศาสนาไปทั่วชมพูทวีป รวมทั้งได้เสด็จไปโปรดเทศนาพระญาติพระวงศ์ทั้งหลายจนได้ดวงตาเห็นธรรมตามสมควร คงเหลือแต่พระนางสิริมหามายาที่สิ้นพระชนม์ไปหลังจากที่มีพระประสูติกาลได้ 7 วัน องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงดำริจะที่จะขึ้นไปเทศนาแสดงธรรมโปรดแด่พุทธมารดาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เพื่อเป็นการสนองพระคุณ เป็นเวลา 1 พรรษา ในพรรษาที่ 7 หลังจากที่ทรงตรัสรู้ และเสด็จกลับลงมายังโลกมนุษย์ในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 เมื่อเหล่าเทพบุตร เทพธิดา เทวดานางฟ้า มนุษย์ ภูติผีปิศาจ อสูรกาย ประชาชนทราบข่าวการเสด็จกลับลงมาจากดาวดึงส์ จึงพากันไปเข้าเฝ้าฯ รออยู่ที่เชิงบันไดเพื่อถวายบาตรแด่พระองค์กันอย่างเนืองแน่น นั่นคือความเชื่อและประวัติความเป็นมาของการตักบาตรเทโวค่ะ

...


คุณผู้อ่านที่รักคะ ในการตักบาตรเทโว นอกจากบรรดา ข้าวสารอาหารแห้ง ดอกไม้ดอกบัวแล้ว ยังมีอาหารสำคัญอีกหนึ่งชนิดที่ไม่พูดถึงคงไม่ได้ นั่นคือ ข้าวต้มลูกโยน เคยได้ยินคำนี้กันไหมคะ หลายคนเคยเห็นภาพการโยนขนมชนิดหนึ่งให้กับพระ ซึ่งบ้างก็คิดว่าไม่เหมาะสม บ้างก็คิดว่าเป็นเรื่องที่เป็นความเชื่อโบราณ เกี่ยวกับเรื่องนี้ คุณครูมีคำตอบค่ะ ข้าวต้มลูกโยน ตามที่ราชบัณฑิตยสถานได้ให้ข้อมูลไว้นั้น บอกว่าข้าวต้มลูกโยนเป็นชื่อขนมอย่างหนึ่ง ใช้ข้าวเหนียวผัดกับน้ำกะทิที่ผสมน้ำตาลทรายและเกลือ แล้วนำมาห่อด้วยใบมะพร้าวอ่อน หรือใบเตยเป็นรูปทรงสี่เหลี่ยม มียอดแหลม และไว้หางยาวที่ปลายยอด ข้าวต้มลูกโยนเป็นขนมที่ทำสำหรับใส่บาตรในเทศกาลออกพรรษา หรือการตักบาตรเทโว เนื่องจากมีเรื่องราวในพุทธประวัติว่า ในสมัยพุทธกาลเมื่อครั้งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จขึ้นไปโปรดพุทธมารดาที่สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เมื่อออกพรรษาเสด็จลงมาทางบันไดแก้ว ประชาชนต่างพากันไปเฝ้าตักบาตรกันมากมาย แต่ไม่สามารถเข้าถึงพุทธองค์ได้จึงได้โยนข้าวไป ข้าวนั้นก็ตกลงสู่บาตรของพระพุทธองค์ทั้งหมด จึงเป็นเหตุให้ทำอาหารห่อใบมะพร้าวหรือใบเตย  ห่อไว้หางเพื่อจับโยนไปได้และนำไปตักบาตรในวันออกพรรษา ซึ่งเรียกว่า ตักบาตรเทโว นั่นเองค่ะ

นอกจากข้าวต้มลูกโยนแล้ว ในช่วงของการตักบาตรเทโว ยังมีอาหารอีกหนึ่งอย่าง นั่นคือ ข้าวมธุปายาส หรือ ข้าวทิพย์ คือข้าวที่กวนกับน้ำผึ้ง โดยข้าวทิพย์นี้จะประกอบพิธีกวนขึ้นในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 ก่อนวันออกพรรษา 1 วัน โดยจะต้องให้เด็กหญิงที่ยังไม่มีประจำเดือน 4 คน นุ่งขาว ห่มขาว ทำหน้าที่กวนข้าวทิพย์ การกวนข้าวทิพย์นี้ตามตำนานความเชื่อกล่าวไว้ว่า นางสุชาดาคือผู้ริเริ่มการปรุงข้าวมธุปายาสมาถวายองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ต่อมาเหล่าเทพบุตร เทพธิดา เทวดานางฟ้า มนุษย์ ภูติผีปิศาจ อสูรกาย ได้รวมตัวกันประกอบพิธีกวนข้าวทิพย์ เพื่อแจกจ่ายให้ได้นำไปถวายบาตรแด่องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าร่วมกัน จึงเป็นที่มาของการร่วมแรงร่วมใจของคนในชุมชนและวัดที่จะรวมกันจัดพิธีกวนข้าวทิพย์เพื่อใช้ในการตักบาตรในวันตักบาตรเทโวนั่นเอง และทั้งหมดคือ ไทยรัฐออนไลน์ประจำครั้งนี้ พบกันใหม่ครั้งหน้า สวัสดีค่ะ

instagram : kru_lilly , facebook : ครูลิลลี่