“หมอสมศักดิ์” ชี้ ปมข่าวผู้ป่วยถูกหมอห้องฉุกเฉินไล่ แพทย์ต้องรักษาคนมีโอกาสเสียชีวิตสูงกว่าก่อน เห็นด้วย ห้องฉุกเฉินไม่ใช่ร้านสะดวกซื้อ พร้อมแจงให้สังคมเข้าใจ
จากกรณีเหตุการณ์ผู้ป่วยรายหนึ่งมีอาการปวดศีรษะแล้วไปพบแพทย์ฉุกเฉินที่โรงพยาบาลอรัญประเทศ จ.สระแก้ว แต่กลับถูกแพทย์ไล่ให้มาหาในวันถัดไป พร้อมบอกว่าโรงพยาบาลไม่ใช่เซเว่น จนกลายเป็นกระแสในโลกโซเชียล กระทั่งทางโรงพยาบาลออกมาขอโทษต่อสิ่งที่เกิดขึ้น เพราะในเวลานั้นที่ห้องฉุกเฉินมีคนไข้วิกฤติฉุกเฉินมารับบริการหลายรายนั้น (อ่านข่าวก่อนหน้า ต้นสังกัด 'หมอดุคนไข้' รับสื่อสารผิดพลาด เผยวันเกิดเหตุคนไข้วิกฤติอื้อ)
ล่าสุดวันที่ 21 ต.ค. 61 รศ.นพ.สมศักดิ์ เทียมเก่า รองผู้อำนวยการฝ่ายบริการทางการแพทย์ โรงพยาบาลศรีนครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้โพสต์ถึงเรื่องดังกล่าวผ่านเฟซบุ๊ก ว่า ส่วนตัวเห็นด้วย 100 เปอร์เซ็นต์กับประโยคดังกล่าวของแพทย์ท่านนั้น โดยตนเองเคยพูดเรื่องการให้การบริบาลผู้ป่วยที่ห้องฉุกเฉินหลายครั้ง ย้ำว่า “ห้องฉุกเฉินสำหรับผู้ป่วยฉุกเฉินเท่านั้น” คนไข้เจ็บป่วยที่ไม่ฉุกเฉิน แต่มารักษาที่ห้องฉุกเฉิน เท่ากับละเมิดสิทธิผู้ป่วยฉุกเฉิน และการให้การรักษาที่ห้องฉุกเฉิน แพทย์จะให้การรักษาตามความเร่งด่วน คือ ใครมีโอกาสเสียชีวิตสูงกว่า แพทย์จะให้การรักษาก่อน ไม่ได้ให้การรักษาตามลำดับการมาก่อนหลัง จึงอาจส่งผลให้ผู้ป่วยที่รอไม่เข้าใจ อาจไม่พอใจที่รอนาน หรือเกิดความขัดแย้งกับทีมผู้ให้การรักษา
พร้อมกันนี้ รศ.นพ.สมศักดิ์ ได้ชี้แจงเรื่องห้องฉุกเฉิน โดยแบ่งเป็น 8 ประเด็นเพื่อให้สังคมได้เข้าใจอย่าถูกต้อง ดังนี้
...
1. ห้องฉุกเฉิน มีวัตถุประสงค์รักษาผู้ป่วยที่ไม่ได้มีการนัดหมายไว้ แต่เกิดอาการเจ็บป่วยรุนแรง หรืออุบัติเหตุที่รุนแรง ถ้าไม่ได้รับการรักษาอาจก่อให้เกิดอันตราย เสียชีวิต หรือพิการได้
2. ห้องฉุกเฉิน ไม่ใช่ห้องตรวจผู้ป่วยนอกที่ให้บริการนอกเวลาราชการ เพราะปัจจุบันจำนวนผู้ป่วยเกือบ 1 ใน 3 เป็นผู้ป่วยที่ไม่ฉุกเฉินที่มารับการรักษา ณ ห้องฉุกเฉิน ด้วยหลากหลายเหตุผล ที่ไม่ใช่เหตุผลทางการแพทย์
3. ห้องฉุกเฉิน ไม่ได้รักษาผู้ป่วยจนหาย แต่เป็นการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นแบบเร่งด่วน แก้ปัญหาการบาดเจ็บ อุบัติเหตุ หรืออาการเจ็บป่วยแบบฉุกเฉินเท่านั้น เมื่ออาการปลอดภัยก็จะส่งปรึกษาแพทย์เฉพาะทางที่เหมาะสมในแต่ละปัญหาต่อไป
4. ห้องฉุกเฉิน ไม่ได้มีไว้เพื่อเป็นสถานที่เปลี่ยนสายให้อาหาร สายสวนปัสสาวะ ฉีดวัคซีน ขอรับยาที่หมดก่อนกำหนด
5. ห้องฉุกเฉิน มีจำนวนเจ้าหน้าที่ และความพร้อมที่จัดไว้ สำหรับผู้ป่วยฉุกเฉินเท่านั้น
6. ห้องฉุกเฉิน มีระบบการคัดกรองผู้ป่วยและให้การรักษาตามความเร่งด่วนว่าใครมีโอกาสเสียชีวิตมากกว่ากัน เร่งด่วนมากกว่ากัน ไม่ได้ให้การรักษาตามลำดับก่อนหลังที่มา
7. ห้องฉุกเฉิน โรงพยาบาล มีความพร้อมตลอด 24 ชั่วโมงไม่เคยปิด ถึงแม้จะมีภัยพิบัติ ต่างกับร้านสะดวกซื้อ ตรงที่ห้องฉุกเฉินพร้อมช่วยให้คนไข้ปลอดภัยจากสิ่งที่มีอันตรายกับชีวิต ไม่ได้มีความพร้อมด้านอำนวยสะดวกสบายแก่ชีวิต
8. ห้องฉุกเฉิน เป็นการบริการทางการแพทย์ ถ้าเป็นภาวะฉุกเฉินจริงๆ ไม่มีค่าใช้จ่าย ต่างจากร้านสะดวกซื้อที่ท่านต้องเสียค่าใช้จ่าย
ทั้งนี้ ยังทิ้งท้ายด้วยว่า “ผมรู้สึกเหนื่อยใจ บางครั้งก็หมดกำลังใจกับข่าวดราม่าที่เกี่ยวกับวงการแพทย์ พยาบาล เพราะทุกครั้งที่มีข่าวออกมา หมอและพยาบาลคือผู้ผิดในสายตาของสังคมเสมอ พวกเราเหนื่อยครับ ทานอาหาร นอนไม่เป็นเวลาอยู่แล้ว เราไม่ต้องการคำชื่นชมหรอกครับ เพียงแต่อย่ามาทำลายกำลังใจ ทำลายความตั้งใจของพวกเราก็พอครับ จบนะครับ ห้องฉุกเฉินไม่ใช่ร้านสะดวกซื้อ”
(ขอบคุณเฟซบุ๊ก Somsak Tiamkao)