คณะวิจัย มธ.ลงพื้นที่ศึกษาผลสวัสดิการจ่ายเงินอุดหนุนช่วยเหลือเด็กแรกเกิด พบท้องถิ่นมีความพร้อมมากในการถ่ายโอนภารกิจ เหนือ-อีสาน หนุนรัฐจ่ายเงินเด็กทั่วหน้าถึง 6 ขวบ ขณะที่ พม.เตรียมเสนอ ครม.พิจารณารูปแบบการจ่ายเงิน ต.ค.นี้
เมื่อวันที่ 4 ต.ค.61 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับกองพัฒนามาตรฐาน กระทรวงพัฒนาสังคมฯ จัดทำโครงการศึกษาผลการการดำเนินงานการจ่ายเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด สู่ความพร้อมการถ่ายโอนภารกิจแก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อศึกษาผลการดำเนินงานการจ่ายเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด ซึ่งจะนำไปสู่ความพร้อมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในการรับถ่ายโอนภารกิจการจ่ายเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด รวมไปถึงสำรวจความคิดเห็นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่อการถ่ายโอน และเตรียมความพร้อมระหว่างกรมกิจการเด็กและเยาวชน กับกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นในการถ่ายโอน ก่อนจัดทำข้อเสนอแนวทางและแผนปฏิบัติการในการถ่ายโอนต่อไป
ดร.สมคิด สมศรี อธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชน กล่าวว่า โครงการอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด ถือเป็นการลงทุนกับเด็กแรกเกิด ซึ่งมีผลตอบแทนคุ้มค่ามากที่สุด เพราะจากผลการวิจัยในต่างประเทศ ชี้ว่ามีผลด้านเศรษฐกิจ 7-15 เท่าของการลงทุน โดยพบว่าเด็กที่ได้รับการพัฒนาในโครงการฯ จะมีพัฒนาการที่ดีกว่าเด็กที่ไม่ได้เข้าโครงการและเติบโตสมวัย ขณะที่คุณแม่ในโครงการสามารถให้นมลูกได้มากกว่า 6 เดือน ซึ่งมากกว่าคุณแม่ที่อยู่นอกโครงการ ที่สำคัญลดการเจ็บป่วยของเด็กและการพบแพทย์ลงได้ นอกจากนี้ยังพบว่าโครงการดังกล่าวสามารถลดปัญหาการทิ้งเด็กแรกเกิดได้เป็นอย่างดี โดยมีคุณแม่วัยใสสมัครเข้าโครงการ 1.2 แสนคน จากผู้ใช้สิทธิ์ลงทะเบียนจำนวน 6.3 แสนคน
...
ขณะที่ได้มีการลงพื้นที่ประชุมกลุ่มย่อย ศึกษาผลการดำเนินงานการจ่ายเงินอุดหนุน เพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิดสู่ความพร้อมการถ่ายโอนภารกิจแก่องค์กรปกครองท้องถิ่น ในพื้นที่ภาคเหนือและอีสาน นำทีมโดย ศาสตราจารย์ระพีพรรณ คำหอม คณะผู้วิจัย พบว่า พื้นที่ จ.เชียงใหม่ มีการสะท้อนปัญหาและแนวทางปฏิบัติ ข้อจำกัด รวมถึงประสิทธิภาพในโครงการ โดยผู้เข้าร่วมเสนอให้มีการเตรียมความพร้อมให้ท้องถิ่นอย่างเป็นระบบขั้นตอน เชื่อมโยงฐานข้อมูลมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะด้านเทคโนโลยี พร้อมเสนอให้มีการนำร่องการถ่ายโอนโดยกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นเป็นผู้เลือก อปท. ที่จะทำการนำร่อง อีกทั้งเห็นควรสนับสนุนองค์ความรู้แนวทางการปฏิบัติ บูรณาการแต่ละหน่วยงาน จัดอบรมให้แก่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติในทุกพื้นที่ ซึ่งผู้เลี้ยงดูเด็กโดยสิทธิ์รับเงินอุดหนุนควรเป็นของผู้เลี้ยงดูหลัก และควรมีการจัดสรรงบประมาณให้เพียงพอต่อผู้ลงทะเบียน
เวที จ.อุบลราชธานี ผู้เข้าร่วมประชุมสนับสนุนให้เงินอุดหนุนเด็กแรกเกิดทุกคน เพื่อเตรียมความพร้อมของแม่และดูแลเด็กช่วง 0-6 ปี เนื่องจากเป็นช่วงสำคัญ ขณะเดียวกันมีข้อเสนอแนะให้ส่วนกลางเตรียมความพร้อม ทำความเข้าใจกับท้องถิ่นด้วย สำหรับการลงพื้นที่ของทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หลังจากนี้จะลงพื้นที่ที่ จ.นนทบุรี จ.สงขลา และ กทม. ก่อนรวบรวมผลวิจัยทั้งหมดเสนอกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ต่อไป.