หลายคนอาจยังไม่คุ้นเคยกับคำว่าหมอดิน แต่เกษตรกรไทยนั้นกลับรู้จักหมอดินเป็นอย่างดี โดยหมอดินนั้นจะมีหน้าที่รักษาดินที่เสื่อมโทรม ให้กลับมาทำการเพาะปลูกพืชได้อีกครั้ง และคอยปรับปรุงดินให้มีความอุดมสมบูรณ์ เพื่อให้ดินสามารถผลิตธาตุอาหารกลับไปเลี้ยงต้นไม้ให้มีการเจริญเติบโตที่ดี ทำให้เกษตรกรหลายรายต่างก็เข้าไปขอความรู้และคำแนะนำเรื่องดิน เพื่อนำกลับไปแก้ไขสภาพดินในพื้นที่ของตนเอง
โดยสถานีพัฒนาที่ดินตรัง สำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 12 เป็นหัวแรงหลักผลิตหมอดินที่มีคุณภาพให้กับเกษตรกรภาคใต้ของประเทศไทย และมีหมอดินหลายรายที่ประสบความสำเร็จ ทั้งการเป็นหมอดินและการเป็นเกษตรกรนักพัฒนา เช่น นางพูนสุข พิทยาสุนทร หรือป้าสุข หมอดินประจำหมู่บ้าน หมู่ที่ 6 ต.บ้านควน อ.เมือง จ.ตรัง ที่มีความมุ่งมั่นและตั้งใจบ่มเพาะความรู้จากการเข้ารับการอบรมการเป็นหมอดิน รวมถึงขอรับความรู้เพิ่มเติมจากเจ้าหน้าที่สถานีพัฒนาที่ดินตรัง เพื่อศึกษาเรียนรู้การเป็นเกษตรกรที่มีคุณภาพ

นางพูนสุข กล่าวว่า ตนเองเป็นเกษตรกรที่ทำการเพาะปลูกพืชผักและเลี้ยงสัตว์ในพื้นที่บริเวณบ้าน ภายใต้ระบบเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งแต่เดิมนั้นใช้แต่สารเคมี เพราะคิดว่าสารเคมีจะช่วยเร่งให้ผลผลิตมีมากพอที่จะส่งขายได้ในปริมาณมาก แต่เมื่อเวลาผ่านไปกลับพบว่า ผลผลิตที่ได้เริ่มขาดคุณภาพและไม่สมบูรณ์ดังก่อน บางต้นก็ล้มตาย เพราะสารเคมีที่สะสมระยะยาว และเมื่อเริ่มรู้ว่าต้นตอของปัญหาคือสารเคมี ก็เกือบเสียทั้งรายได้และสุขภาพ ถือเป็นจุดเปลี่ยนครั้งใหญ่ และเมื่อได้เป็นหมอดินแล้วก็ได้แบ่งปันความรู้การปรับปรุง ฟื้นฟูดิน ให้กับเพื่อนเกษตรกรในชุมชน ตั้งแต่การนำดินไปตรวจวิเคราะห์เพื่อหาค่าความอุดมสมบูรณ์ของดิน การทำปุ๋ยหมัก น้ำหมักชีวภาพ โดยใช้สารเร่งซุปเปอร์พด.สูตรต่างๆ เพื่อนำไปใช้ปรับปรุงดิน รวมถึงใช้ดูแลผลผลิตให้มีการเจริญเติบโตได้อย่างสมบูรณ์ นอกจากนี้ยังร่วมกับกลุ่มแม่บ้านในชุมชนทำปุ๋ยหมักชีวภาพจำหน่ายให้กับเกษตรกรที่สนใจลดการใช้สารเคมีด้วย
...

ปัจจุบัน หมอดินมีการกระจายอยู่ทั่วประเทศไทย ซึ่งหมอดินล้วนแล้วแต่เป็นที่พึ่งพาหลักให้กับเกษตรกร เพราะมีเกษตรกรอีกหลายรายที่ยังประสบกับปัญหาการทำเกษตรที่ไม่เป็นอย่างที่หวัง และมีเกษตรกรอีกจำนวนไม่น้อยที่อยากเป็นหมอดินอาสา หากเกษตรกรท่านใดที่สนใจอยากเป็นเครือข่ายหมอดินอาสา ก็สามารถเข้าอบรมเรียนรู้กับเจ้าหน้าที่สถานีพัฒนาที่ดินประจำจังหวัดได้โดยตรง.
