มีกุศลเจตนายิ่งใหญ่ พัฒนา ‘ไทยรัฐวิทยา’

“วิษณุ เครืองาม” ชื่นชม “กำพล วัชรพล” มีกุศล-เจตนายิ่งใหญ่คืนกำไรสนับสนุนการศึกษาชาติ แนะครูผู้บริหารโรงเรียนไทยรัฐวิทยาเตรียมพร้อมรับยุคเปลี่ยนผ่านทั้งยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และการปฏิรูปประเทศ 13 ด้าน เผยรัฐบาลให้ความสำคัญปฏิรูปการศึกษา-ตำรวจ ชี้หาก 2 เรื่องไม่สำเร็จประเทศชาติล้มเหลว เร่งรัดทุกฝ่ายปฏิรูปศึกษาพร้อมกันทั้งระบบ นายกฯพร้อมใช้ ม.44 ช่วยผลักดัน

ที่โรงแรมทวินโลตัส จังหวัดนครศรีธรรมราช เมื่อวันที่ 3 ส.ค. สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ร่วมกับมูลนิธิไทยรัฐ จัดอบรม สัมมนาผู้บริหารโรงเรียนไทยรัฐวิทยา 107 โรงทั่วประเทศ ประจำปี 2561 ภายใต้หัวข้อ “การเตรียมคนไทยเข้าสู่ยุคเปลี่ยนผ่าน” โดยนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานพิธีเปิดและปาฐกถาพิเศษตอนหนึ่งว่า การได้มาพบปะพูดคุย กับผู้บริหารโรงเรียนไทยรัฐวิทยาทั่วประเทศ ซึ่งเป็นผู้ที่มีส่วนในการสร้างและพัฒนาการศึกษาชาติถือเป็นเรื่องสำคัญ เพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับทุกคน การศึกษาเป็นเครื่องมือในการสร้างทรัพยากรมนุษย์ให้เกิดการพัฒนา ทั้งทางร่างกายและจิตใจ อารมณ์ สังคม และสติปัญญา

รองนายกรัฐมนตรีกล่าวอีกว่า จากรายงานทำให้ทราบว่าการดำเนินโครงการโรงเรียนไทยรัฐวิทยา เกิดจากแนวความคิดของคุณกำพล วัชรพล ผู้ก่อตั้งและอดีตผู้อำนวยการหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ตั้งแต่ พ.ศ.2512 เพื่อต้องการคืนกำไรให้กับสังคม ภายใต้การดำเนินงานตามยุทธศาสตร์โรงเรียนไทยรัฐวิทยา ฉบับที่ 1-4 นับเป็นคุณูปการต่อวงการศึกษาไทยเป็นอย่างมาก มูลนิธิไทยรัฐเป็นผู้สานต่อกิจกรรมอย่างเป็นระบบ ในการดูแลพัฒนาโรงเรียนไทยรัฐ-วิทยา จำนวน 107 โรง และจะเพิ่มเป็น 111 โรงภายในปี 2562 เพื่อเฉลิมฉลองครบ 100 ปีชาตกาล นายกำพล วัชรพล ที่ได้รับการประกาศจากยูเนสโก ให้เป็นบุคคลสำคัญของโลกด้านการศึกษาและสื่อสาร มวลชน ขอชื่นชมและขอเป็นกำลังใจให้หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ มูลนิธิไทยรัฐ และ สพฐ.ในการขับเคลื่อนพัฒนาคุณภาพการศึกษาของโรงเรียนไทยรัฐวิทยาและผู้บริหารโรงเรียนไทยรัฐวิทยา ขอให้การสัมมนาครั้งนี้สร้างประโยชน์ให้กับการศึกษา โดยเฉพาะกับนักเรียนให้มากที่สุด

“ขอให้ทุกคนตระหนักว่าปรัชญาการศึกษาตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ มุ่งเน้นศักยภาพของผู้เรียนอย่างเต็มที่ เน้นการคิดวิเคราะห์ ริเริ่ม สร้างสรรค์ ใฝ่เรียนรู้ คิดประยุกต์ มุ่งเน้นให้ผู้เรียนมีคุณลักษณะชีวิตที่ดี เอื้อต่อการดำรงชีวิตส่วนตัว การพัฒนาประเทศ ขอขอบคุณหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ มูลนิธิไทยรัฐที่เข้ามาช่วยแบ่งเบาภาระของรัฐบาลในการสนับสนุนโรงเรียนไทยรัฐวิทยาทั่วประเทศ ถือเป็นกุศลเจตนาที่ยิ่งใหญ่และหาได้ยากยิ่ง เป็นการเสียสละที่ควรค่าแก่การยกย่องสรรเสริญ ควรที่หน่วยงานอื่นๆจะเอาเป็นแบบอย่างที่ดีในการตอบแทนสังคม” นายวิษณุกล่าว

นายวิษณุกล่าวต่อไปว่า ชอบคำว่าเปลี่ยนผ่าน ประเทศไทยกำลังอยู่ในช่วงเวลานี้ มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ทุกคนจะต้องเตรียมตัวให้พร้อมและรู้เท่าทัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสิ่งที่รัฐบาลกำลังทำอยู่ คือยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี หรือเป้าหมายและทิศทางของประเทศ ใน 6 ด้าน 1.ยุทธศาสตร์ด้านการเมืองการปกครอง 2.ด้านความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจ 3.ด้านการพัฒนากำลังคนหรือทรัพยากรมนุษย์ 4. ด้านการลดความเหลื่อมล้ำ 5.ด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และ 6.ด้านการจัดระเบียบสังคมและกลไกราชการ

นายวิษณุกล่าวด้วยว่า ทั้ง 6 ยุทธศาสตร์ เมื่อมีการประกาศใช้บังคับแล้วทุกคนที่เกี่ยวข้องจะต้องปฏิบัติตามอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะหากใครไม่ดำเนินการถ้าถูกร้องเรียน จะมีขั้นตอนในการลงโทษถึงขนาดส่งเรื่องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบ-ปรามการทุกจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. ดำเนินการเอาผิดได้ คาดว่าน่าจะเริ่มใช้แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีได้ ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2561 เป็นต้นไปและเนื่องจากการดำเนินงานของโรงเรียนไทยรัฐวิทยา มีแผนยุทธศาสตร์ โรงเรียนมาแล้วถึง 4 ฉบับ จึงอยากให้มีการกำหนดแผนยุทธศาสตร์ของโรงเรียนให้สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีด้วย

รองนายกรัฐมนตรี กล่าวด้วยว่า นอกเหนือจากยุทธศาสตร์ชาติแล้ว ช่วงยุคเปลี่ยนผ่านนี้รัฐบาลยังได้จัดทำแผนปฏิรูปประเทศที่สอดคล้องกับแผน ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีใน 13 ด้าน ได้แก่ 1.ด้านการเมือง 2.การบริหารระบบราชการแผ่นดิน 3. กฎหมาย 4.กระบวนการยุติธรรม 5.เศรษฐกิจ 6.สังคม 7.สื่อสารมวลชน 8.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 9.พลังงาน 10.สาธารณสุข 11.การปราบปรามการทุจริต 12.การศึกษา และ 13.ตำรวจ ทั้ง 13 ด้าน รัฐได้ประกาศแล้วว่าการปฏิรูปที่สำคัญที่สุด หากทำไม่สำเร็จประเทศไทยล้มเหลวนั่นก็คือ การปฏิรูปการศึกษาและการปฏิรูปตำรวจ ดังนั้นจึงต้องมีการแยกคณะกรรมการปฏิรูปการศึกษาออกมาดูแลเรื่องนี้เป็นการเฉพาะ เช่นเดียวกับการปฏิรูปตำรวจก็มีคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจ

นายวิษณุกล่าวอีกว่า สิ่งที่รัฐบาลเร่งรัดปฏิรูปการศึกษาไปพร้อมๆกัน 7 ด้าน 1.แก้ปัญหาที่เด็ก 2.แก้ปัญหาที่ครู 3.แก้ปัญหาที่ตัวโรงเรียน 4.แก้ปัญหาหลักสูตร 5.ตำราเรียน 6.แก้ปัญหาในการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการศึกษา และ 7.แก้ปัญหาเรื่องการทดสอบและประเมินผล ที่ผ่านมาการปฏิรูปการศึกษาล้มเหลวเพราะไม่ได้แก้ทั้ง 7 เรื่องนี้ไปพร้อมๆกัน เมื่อแก้ที่เด็กได้ ปัญหาก็ไปปูดที่ครูและเรื่องอื่นๆตามมา จึงต้องแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ นายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เคยมาพบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และตนเห็นว่าทั้ง 7 เรื่องเป็นเรื่องที่ต้องเร่งปฏิรูป นายกฯจึงมอบให้กระทรวงศึกษาธิการ ไปคัดเลือกโรงเรียนเพื่อนำร่องแก้ไขปัญหาเรื่องเหล่านี้ ทีดีอาร์ไอพร้อมที่จะเข้ามาช่วยดูแลในทุกๆด้าน แต่ขอว่าหากโรงเรียนใดเข้ามานำร่องแล้วจะต้องไม่ย้ายผู้อำนวยการโรงเรียนไปที่อื่น เพราะการย้ายผู้บริหารโรงเรียนบ่อย ถือเป็นต้นเหตุของปัญหาในทุกๆเรื่อง พร้อมทั้งขอให้มีการออกกฎหมายรองรับ เพื่อเป็นการการันตีว่าไม่ว่ารัฐบาลไหนเข้ามา ก็จะสานต่อเรื่องนี้ นายกฯพร้อมจะสนับสนุน โดยพร้อมใช้มาตรา 44 ดำเนินการให้เกิดความรวดเร็ว เรื่องนี้อาจจะต้องใช้เวลาทำความเข้าใจระหว่าง กระทรวงศึกษาธิการและทีดีอาร์ไออีกสักระยะหนึ่ง

“สิ่งที่เรากำลังจะทำไม่ใช่เพราะต้องการเอาใจทีดีอาร์ไอ แต่เพราะเราต้องการได้เด็กที่จบมาแล้วเก่งจริงมีความรู้จริง ได้คนดีมีคุณธรรม มีระเบียบวินัย เคารพกฎกติกา มีสุขภาพที่ดีทั้งอารมณ์ สังคม กาย ใจ ถ้าเรื่องนี้คือละคร ครูและผู้บริหารโรงเรียนไทยรัฐวิทยา นักเรียน ผู้ปกครอง ภาคประชาชน หรือหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ต้องเข้าไปมีส่วนร่วมในการแสดงด้วย จึงต้องเตรียมตัวให้พร้อม หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล เคยแต่งบทกลอนเอาไว้ว่า กล้วยไม้ออกดอกช้าฉันใด การศึกษาเป็นไปฉันนั้น แต่วันนี้เราอยู่ในยุคเปลี่ยนผ่าน จะมาเสียเวลาชักช้าอยู่ไม่ได้โดยเฉพาะการปฏิรูปการศึกษา แต่ทั้งหมดนี้ต้องทำด้วยความรวดเร็ว ถูกกฎหมาย สุจริตใจ มีแบบแผน ยุคนี้เป็นยุค พล.อ.ประยุทธ์ กล้วยไม้ออกดอกช้าฉันใด ปฏิรูปศึกษาทำได้ไวเช่นนั้น ดังนั้นเราจึงช้าไม่ได้” นายวิษณุกล่าว