เมื่อวันที่ 3 ส.ค.ที่ รพ.จุฬาลงกรณ์ ศ.นพ.สุทธิพงศ์ วัชรสินธุ ผอ.โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย กล่าวในงานเสวนา เรื่องถ้ำหลวงความพร้อมรับมือโรคอุบัติใหม่ ว่าหากไม่เตรียมพร้อมรับมือโรคอุบัติใหม่ เมื่อเกิดขึ้นจะมีผลกระทบทั้งคน สัตว์ รวมไปถึงเศรษฐกิจ กรณีถ้ำหลวง รพ.จุฬาฯและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงให้ความสำคัญมากในการป้องกันโรคเพราะในถ้ำมีสิ่งมีชีวิต เช่น ค้างคาวซึ่งเป็นสัตว์นำโรคอุบัติใหม่อาศัยอยู่ จึงต้องเฝ้าระวังเชื้อกับทุกกลุ่มที่เข้าถ้ำ
นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ รพ.จุฬาฯ กล่าวว่า การทำงานที่ถ้ำหลวงต้องได้รับความร่วมมือจากหลายฝ่ายและต้องมีการวางแผนที่ดีโดยต้องมีการเฝ้าระวังเชื้อในระยะยาวด้วย ซึ่งขณะนี้มีการทำแผนที่โรคโดยเน้นตามแนวตะเข็บชายแดนด้วยเพื่อป้องกันโรคอุบัติใหม่
วันเดียวกันที่ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นายจงคล้าย วรพงศธร รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวถึงนโยบายทิศทางการบริหารจัดการอุทยานถ้ำว่า จะใช้กรณีที่เกิดขึ้นที่ถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน เป็นต้นแบบการบริหารจัดการถ้ำอื่นๆ ในประเทศไทยให้ครอบคลุมทุกด้าน โดยระยะเร่งด่วนคือ การเตรียมรองรับนักท่องเที่ยว ที่จอดรถ ร้านค้า ส่วนระยะยาว ทั้งการจัดสร้างศูนย์นักท่องเที่ยว การฟื้นฟูสภาพแวดล้อม การสร้างพิพิธภัณฑ์ กรมจะขอความร่วมมือจากผู้เชี่ยวชาญเพราะเรายังขาดองค์ความรู้ด้านธรณีวิทยา อุทกธรณีวิทยา เป็นต้น ส่วนการนำภาพวาดและรูปปั้นนาวาตรีสมาน กุนัน วีรบุรุษถ้ำหลวง จากฝีมือศิลปินแห่งชาติมาจัดตั้งนั้น ขอรับรองว่าจะจัดวางในพื้นที่อย่างเหมาะสม.