นพ.บัณฑิต-ดวงพร-ซัมซูดีน-กิตติโชค
สำนักงานสถิติแห่งชาติ สำรวจ พฤติกรรมการสูบบุหรี่และดื่มสุราของประชากร ครั้งที่ 18 ประจำปี 2560 ระบุชัดว่า คนไทยมีอัตราการสูบบุหรี่ที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง จาก 20.7% ในปี 2557 เหลือเพียง 19.1% ในปี 2560 ถือเป็นข่าวดีต้อนรับ “วันงดสูบบุหรี่โลก” 31 พฤษภาคม 2561 ที่ผ่านมา
กิจกรรม “เลิกสูบ ก็เจอสุข : 5 วิถี ปลอดบุหรี่โดยชุมชนท้องถิ่น” เป็นการทำงานร่วมกับชาวบ้านในระดับพื้นที่ การสร้างเครือข่ายของคนในชุมชน ดวงพร เฮงบุณยพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน (สำนัก 3) สสส. บอกว่า ข้อมูลด้านการควบคุมการบริโภคยาสูบระดับครัวเรือน ระบุว่า มีครัวเรือนมากถึง 10.86% หรือราวๆ 2.5 แสนครัวเรือน ที่ยังมีผู้สูบบุหรี่ โดยในจำนวนนี้มีถึง 2.17 แสนครัวเรือน หรือ 86.2% ที่ภายในครอบครัวมีกลุ่มคนที่ต้องการความช่วยเหลือ
นั่นก็คือ...ผู้สูงอายุ...เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี...ผู้พิการ
สำหรับ “ยุทธศาสตร์และองค์ความรู้ด้านการควบคุมยาสูบ” นพ.บัณฑิต ศรไพศาล รองผู้จัดการ สสส. บอกว่า WHO ใช้หลักที่เรียกกันว่า “MPOWER” หรือแยกได้เป็น 5 หัวข้อย่อย ประกอบด้วย 1.Monitor ติดตามสถานการณ์ 2.Protect ปกป้องผู้ไม่สูบ 3.Offer ให้ความช่วยเหลือเพื่อเลิกสูบ 4.Warn เตือนให้เห็นพิษภัย 5.Enforce บังคับใช้กฎหมาย 6.Raise taxes ขึ้นภาษี และมาตรการชุมชน
...
ในส่วนของการขับเคลื่อน “5 วิถี ปลอดบุหรี่ โดยชุมชนท้องถิ่น” เป็นการออกแบบที่สอดรับกับแนวคิดของ WHO อย่างถูกเหลี่ยม ได้แก่ 1.สร้างบุคคลต้นแบบ ซึ่งตรงกับ Warn 2.เพิ่มพื้นที่ปลอดบุหรี่ ตรงกับ Protect 3.สร้างคลินิกเลิกบุหรี่ ตรงกับ Offer 4.เพิ่มกติกาทางสังคม ตรงกับ Raise taxes
และ 5.บังคับใช้กฎหมาย ตรงกับ Enforce
นพ.บัณฑิต บอกอีกว่า ปัจจัยสำคัญที่ทำให้อัตราการสูบบุหรี่ลดลง ส่วนหนึ่งมาจากการขับเคลื่อนโครงการ 3 ล้าน 3 ปี เลิกบุหรี่ทั่วไทย เทิดไท้องค์ราชัน ที่ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2559 โดยใช้อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.)...“ทุกวันนี้ประเทศไทยมี อสม.มากกว่า 1 คน หาก อสม.1 คน ชวนให้คนเลิกบุหรี่ได้ 1 คน ก็เท่ากับว่าจำนวนผู้สูบบุหรี่จะลดลงทันที 1 ล้านคน ซึ่งจะเป็นไปตามเป้าขององค์การอนามัยโลกด้วย”
กิตติโชค กาฬหว้า นักพัฒนาชุมชน เทศบาลตำบลภูแล่นช้าง อ.นาคู จ.กาฬสินธุ์ เสริมว่า การสร้างสิ่งแวดล้อมปลอดบุหรี่ในชุมชนว่า ส่วนเราเริ่มจากการเก็บข้อมูลในพื้นที่ ซึ่งพบว่ามีประชากรที่สูบบุหรี่ราวๆ 10% จากนั้นก็สำรวจพฤติกรรมการสูบและประเมินสถานการณ์ร่วมกับทีมงาน
โดยมุ่งหวังที่จะ “จำกัด” พื้นที่การสูบในชุมชน
“ช่วงแรกถูกต่อต้านเพราะเป็นวิถีชีวิตปกติของคนในชุมชน แต่เราก็ใช้การรณรงค์ โดยชี้ให้เห็นว่าเรื่องควันบุหรี่ไม่ใช่เรื่องปกติ สอดแทรก ไปตามกิจกรรมต่างๆ ทั้งในโรงเรียน หน่วยราชการ งานกีฬา ฯลฯ จนกลายเป็นกระแส...ความตระหนักร่วม จากนั้นได้ขยายผลไปถึงการออกมาตรการต่างๆ เช่น การติดป้ายห้ามสูบในสถานที่ต่างๆ ที่สุดแล้วผู้ที่คอยควบคุมกฎเกณฑ์ต่างๆที่กำหนดขึ้นมาก็คือคนในชุมชนที่ช่วยเป็นหูเป็นตาสอดส่องกันเอง”
สอดคล้องกับ มนตรี คำสอน หัวหน้าสำนักงานปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลทุ่งรวงทอง อ.แม่วาง จ.เชียงใหม่ ที่แนะนำแนวทางการ “เพิ่มกติกาทางสังคม” ในพื้นที่ ต.ทุ่งรวงทอง เอาไว้ว่า ปัจจุบันมีเครือข่ายกว่า 20 แห่ง ทั้งรัฐ เอกชน ท้องถิ่น ชุมชนมาเข้าร่วม โดยทุกฝ่าย เห็นตรงกันว่าจำเป็นต้องมุ่งเน้นเพิ่มกติกาของสังคม
ผู้นำในพื้นที่ต้องทำความเข้าใจกับชาวบ้านและผู้ที่เกี่ยวข้องสม่ำเสมอ เช่น การทำบันทึกข้อตกลง (เอ็มโอยู) ร่วมกัน เช่น เอ็มโอยูโครงการบ้านไร้ควัน ติดป้ายประกาศหน้าบ้านที่ไม่สูบบุหรี่ ส่งผลให้บ้านที่สูบบุหรี่เกิดความกดดันจากสมาชิกในครอบครัว โดยมีหลักสำคัญคือ...“ต้องร่วมคิด ร่วมทำ และร่วมกันรับประโยชน์”
บุปผา บุญสดุดี พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) บ้านสหกรณ์ อ.แม่ออน จ.เชียงใหม่ เป็นอีกหนึ่งคนที่ทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายอย่างแข็งขัน เล่าให้ฟังว่า การควบคุมการบริโภคยาสูบเป็นภารกิจจากกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) มอบหมายให้ รพ.สต.ดำเนินการอยู่แล้ว ทว่าด้วยข้อจำกัดของ รพ.สต.ทำให้ที่ผ่านมา รพ.สต.ทำได้เพียงการให้คำแนะนำไม่มีการติดตามผล
แต่...เมื่อได้ทำงานร่วมกับท้องถิ่นก็มีข้อมูล เครื่องมือ และกิจกรรมต่างๆมากขึ้น มีการจัดอบรมให้ความรู้ทั้งครอบครัว มีกระบวนการติดตาม...ให้กำลังใจกัน ที่สุดแล้วก็มีครอบครัวที่ปลอดบุหรี่มากขึ้น จนมาซึ่งการสร้างบุคคลต้นแบบในท้ายที่สุด
ซัมซูดีน รอเซะ หัวหน้าฝ่ายบริหารงานสาธารณสุข เทศบาลตำบลมะรือโบตก อ.ระแงะ จ.นราธิวาส เปิดมุมมองว่า จุดแข็งของพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ คือเป็นชุมชนมุสลิม จึงใช้ความรู้คู่ศาสนาในการขับเคลื่อนกิจกรรม และถือโอกาสที่ศาสนาอิสลามชี้ว่าบุหรี่เป็นสิ่งต้องห้าม รวมทั้งการใช้หลักคำสอน เช่น อย่าโยนความพินาศของตัวเองด้วยน้ำมือของเจ้าเอง ฯลฯ มาเป็นเครื่องมือควบคู่ไปกับการรณรงค์
ขณะเดียวกันในพื้นที่มีการสร้างบุคคลต้นแบบขึ้น โดยต้องเป็นผู้ที่ได้รับความยอมรับจากคนในชุมชน แน่นอนว่าในพื้นที่จะให้การยอมรับ “องค์กรศาสนา” จึงควรใช้โอกาสนี้ขับเคลื่อน เช่น ในพื้นที่ได้การทำงานกับกลุ่มโต๊ะอิหม่าม มีการยกย่องอิหม่ามที่เลิกบุหรี่สำเร็จเป็นบุคคลต้นแบบ และขยายผลไปถึงมัสยิดปลอดบุหรี่
“เราเป็นมุสลิม เราเป็นคนสองโลก ในโลกหน้าเราหวังว่าจะได้ไปสวรรค์ การจะไปสวรรค์ได้นั้นต้องสร้างความโปรดปรานของพระเจ้า ซึ่งการเลิกบุหรี่ไม่ใช่แค่เพื่อตัวเองหรือครอบครัว หากแต่หมายถึงการสร้างบุญเพื่อโลกหน้าด้วย”
เครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ ได้ร่วมกับเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ ประกาศปฏิญญา โดยระบุว่า ฐานปรัชญาในการดำเนินการของเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ คือการยึดหลัก “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” และใช้ “ศาสตร์พระราชา” เพื่อเป็นฐานในการสร้างชุมชนท้องถิ่นเข้มแข็ง
สมพร ใช้บางยาง ประธานเครือข่ายฯ บอกว่า ตามเจตนารมณ์ที่ยึดมั่นอุดมการณ์เพื่อนำพาชุมชนท้องถิ่นไปสู่ความเข้มแข็ง จัดการตนเอง และร่วมสร้างพื้นที่ของตนเองให้เป็นชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ ด้วยการน้อมนำศาสตร์พระราชาของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (รัชกาลที่ 9) มาปฏิบัติให้เป็นวิถีร่วมกัน...การลด ละ เลิก บริโภคยาสูบ ในทุกรูปแบบ เป็นเรื่องหนึ่งที่เครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่
“ยาสูบเป็นเหตุของการทำลายสุขภาพของแต่ละบุคคล ครอบครัว และสาธารณะ...ประเทศไทยได้ออกกฎหมายที่ก้าวหน้าที่สุดในการปกป้องสุขภาพของคนไทยจากพิษภัยของยาสูบ”
พุ่งเป้าไปที่การป้องกันไม่ให้มีผู้สูบหน้าใหม่ ลดจำนวนผู้สูบให้น้อยลงและหมดไป ดังนี้ (1) เพิ่มคนต้นแบบ โดยมุ่งเน้นกลุ่มเป้าหมายที่มีบทบาททางสังคม ประกอบด้วย ผู้นำ แกนนำชุมชน อาสาสมัครทุกกลุ่มในชุมชน นักเรียน เยาวชนในพื้นที่ และสมาชิกในครัวเรือนที่สูบบุหรี่
(2) เพิ่ม พื้นที่ปลอดบุหรี่ (3) สร้างคลินิก หรือนวัตกรรมช่วยเลิกบุหรี่ ที่ใช้ทุนทางสังคมให้เป็นแนวทางในการลด ละ เลิกบุหรี่ (4) เพิ่ม กติกาทางสังคม ที่คนในชุมชนร่วมกันกำหนดผ่านกระบวนการมีส่วนร่วม (5) การบังคับใช้กฎหมายในพื้นที่อย่างเคร่งครัด มีการกำหนดพื้นที่ห้ามสูบบุหรี่อย่างชัดเจน
ตั้งมั่นในการเดินตามรอยพ่อใช้ “ศาสตร์พระราชา”...“เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา”...“ระเบิดจากข้างใน”...“ความพอเพียง” เพื่อความสุขของครอบครัว ชุมชน สังคม อย่างยั่งยืน
ร่วมกันขับเคลื่อนปฏิบัติการนี้ให้เกิดผลเป็นรูปธรรม ควบคุมการบริโภค “ยาสูบ” ลดปัจจัยเสี่ยง สร้างปัจจัยเสริมทางสุขภาพ กระทั่ง นำไปสู่สุขภาวะของชุมชนท้องถิ่น...ปักธง “เลิกสูบ ก็เจอสุข”.