จะให้ทำอย่างไร! สุ่มสัมภาษณ์ 2 หนุ่มเดลิเวอรี่ หากเจอสถานการณ์ลูกค้าชอบโชว์ งัดหนอนมาสไลด์ต่อหน้าต่อตา ขณะที่คุณหมอระบุ อาการชอบโชว์บำบัดได้


จากกรณี คลิปชายคนหนึ่งโชว์ทำอนาจาร ต่อหน้าพนักงานส่งพิซซ่า ก่อนจะเผยแพร่คลิปวิดีโอไปตามโซเชียล ซึ่งทีมข่าวไทยรัฐออนไลน์ได้รายงานข่าวไปก่อนนี้ (หนุ่มเดลิเวอรี่เหวอ เจอชายโรคจิตแก้ผ้าโชว์สไลด์หนอน ถ่ายคลิปอวดโซเชียล) ล่าสุดทีมข่าวได้สัมภาษณ์พนักงานส่งพิซซ่า และส่งไก่ทอดชื่อดังว่า หากเจอเหตุการณ์แบบนี้จะทำเช่นไร

นายรัชชานนท์ อภิธีรเจริญรัตน์ อายุ 31 ปี ซึ่งส่งพิซซ่ามากว่า 1 ปี เล่าให้ทีมข่าวฟังว่า ตั้งแต่ทำงานมา ไม่เคยเจอเหตุการณ์แบบนี้ ยอมรับว่าหากเจอกับตัวคงรู้สึกไม่อยากดู เป็นภาพที่อุจาด เข้าใจว่าคนที่ทำคงมีอาการป่วยทางจิต

"ถ้าผมเจอเหตุการณ์แบบนี้ สิ่งแรกต้องตั้งสติ จากนั้นรีบส่งของ และเก็บเงิน จากนั้นจะรีบเดินทางกลับทันที สำคัญที่สุดคืองานต้องมาก่อน"

ส่วน นายมานพ บุญมานะ อายุ 34 ปี พนักงานส่งไก่ทอด มากว่า 4 ปี เปิดเผยว่า ไม่เคยเจอเหตุการณ์แบบนี้ แต่เคยเจอลูกค้าบางคนใส่แค่กางเกงชั้นในตัวเดียว หรือนุ่งผ้าชิ้นเดียวออกมารับของ ซึ่งมองว่าลูกค้าอาจจะรีบมากกว่า หรืออาจจะตั้งใจแกล้งให้เราตกใจ

"หากเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ต่อหน้า สิ่งแรกต้องตั้งสติและนิ่งเข้าไว้ แล้วรีบส่งของและเก็บเงินกลับทันที เพราะมองว่าคนเหล่านี้ชอบโชว์หรือทำให้ตกใจ หากไม่สนใจคนเหล่านี้อาจไม่กล้าทำ"

ด้าน น.พ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ ที่ปรึกษากรมสุขภาพจิต กล่าวว่า คนที่มีพฤติกรรมการช่วยเหลือตัวเอง โชว์สำเร็จความใคร่ และอัดคลิปไว้ จากนั้นนำมาโพสต์ลงโลกโซเชียล ทางจิตเวชไม่ถือว่าพฤติกรรมลักษณะนี้เป็น รสนิยมทางเพศ แต่เป็นความผิดปกติทางเพศ และเรียกอาการเหล่านี้ว่า ความเบี่ยงเบนทางเพศ ซึ่งลักษณะอาการแบบนี้มีอยู่ด้วยกันสองกลุ่ม คือ กลุ่มเบี่ยงเบนทางเพศ และกลุ่มพวกที่ไม่มีความสุขทางเพศ

...

โดยทั้งสองกลุ่มจะแสดงพฤติกรรมเหมือนกัน อาทิ การใช้เซ็กซ์โฟน การเสียดสีบนรถเมล์ หรือการชอบโชว์ในที่สาธารณะ เป็นต้น แต่กลุ่มคนที่มีอาการเหล่านี้จะไม่ทำอันตรายให้กับผู้อื่น เพียงแค่มีวิธีการมีความสุขทางเพศโดยวิธีการที่ไม่ถูกต้อง

อย่างไรก็ตาม ปัญหาเหล่านี้สะท้อนถึงสังคมไทย ที่ยังมีปัญหาในเรื่องของการเรียนรู้ทางเพศ และมีความเก็บกดในเรื่องเพศ รวมไปถึงการเรียนรู้เรื่องเพศอย่างไม่ถูกต้อง

ขณะที่อาการเหล่านี้สามารถรักษาได้โดยการเข้ารับการบำบัด ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม หรือการให้ยา ซึ่งอาจจะบางส่วน แต่หัวใจสำคัญของปัญหาเหล่านี้คือป้องกัน โดยส่งเสริมในด้านความรู้ ความเข้าใจ และการศึกษา ในเรื่องของเพศ เพื่อให้รู้วิธีการจัดการกับปัญหาของตัวเองได้อย่างถูกวิธี