สวัสดีท่านผู้อ่านทุกท่านครับ สัปดาห์นี้มีประเด็นเรื่องของอำนาจปกครองบุตร ซึ่งหลายครอบครัวมีปัญหาไม่ว่าจะจดทะเบียนสมรสกันหรือไม่ ประเด็นปัญหาที่มีผู้ถามมากที่สุด คือ กรณีของฝ่ายชาย ซึ่งไม่ได้จดทะเบียนสมรส มักจะไม่มีอำนาจปกครองบุตรตามกฎหมาย เนื่องจากไม่มีกฎหมายรองรับไว้ ดังนั้น ในทางแก้ปัญหาฝ่ายชายจะต้องยื่นคำร้องขอต่อศาล เพื่อให้ศาลมีคำพิพากษาว่า ฝ่ายชายเป็นบิดาโดยชอบด้วยกฎหมายของเด็ก พร้อมกับขอใช้อำนาจปกครองบุตร แต่ฝ่ายเดียว หรือขอใช้อำนาจปกครองบุตรร่วมกับมารดาของเด็ก
ทั้งนี้ ไม่ว่าฝ่ายใดจะเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรก็ตาม ย่อมไม่สามารถที่จะขัดขวางการติดต่อบุตรของอีกฝ่ายได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1584/1 บิดาหรือมารดาย่อมมีสิทธิที่จะติดต่อกับบุตรของตนได้ตามควรแก่พฤติการณ์ ไม่ว่าบุคคลใดจะเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองหรือผู้ปกครองก็ตาม
หากมีการขัดขวางการเยี่ยมเยียนบุตรของอีกฝ่าย ย่อมเป็นการเปิดช่องให้อีกฝ่ายหนึ่ง สามารถยื่นคำร้องขอให้ศาลเพิกถอนอำนาจปกครองบุตรได้ อย่างไรก็ตามในการดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลนั้น ศาลจะมุ่งเน้นการปรับความเข้าใจของพ่อแม่ลูก เพื่อให้เกิดความรัก และเกิดความอบอุ่นในครอบครัวเป็นหลัก หรือเรียกมาตักเตือนก่อน โดยอาจจะมีการประนีประนอมยอมความกัน ทำบันทึกข้อตกลงของทั้งสองฝ่ายเป็นลายลักษณ์อักษร และมีสภาพบังคับกับฝ่ายที่ผิดข้อตกลง
หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งผิดข้อตกลง อีกฝ่ายหนึ่งนั้น สามารถที่จะยื่นคำร้องขอต่อศาล เพื่อให้เพิกถอนอำนาจปกครอง หรือให้ศาลใช้อำนาจตามกฎหมายบังคับอีกฝ่ายให้ปฏิบัติตามข้อตกลงได้ และหากฝ่ายที่ปฏิบัติผิดสัญญายังคงเพิกเฉยต่อคำสั่งของศาล ศาลออกหมายเรียกหรือหมายจับตัวมาไต่สวนและตักเตือนให้ปฏิบัติตามคำสั่งหรือคำบังคับของศาล แต่หากยังไม่ปฏิบัติตามอีก ศาลอาจจะออกหมายกักขังฝ่ายที่ประพฤติผิดข้อตกลงจนกว่าจะยอมปฏิบัติตามบันทึกข้อตกลง หรือส่งมอบตัวบุตร หรือยินยอมให้ติดต่อบุตรได้ ตามข้อตกลง
...

ตามพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2553 มาตรา 161 เมื่อศาลมีคำสั่งหรือคำบังคับที่ไม่เกี่ยวกับการยึดหรืออายัดทรัพย์ลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวตามมาตรา 159 หากความปรากฏต่อศาลเองหรือคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือผู้แทนหรือผู้มีส่วนได้เสียร้องต่อศาลว่าคู่ความหรือผู้ที่ถูกคำสั่งบังคับฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามคำสั่งหรือคำบังคับ ให้ศาลออกหมายเรียกหรือหมายจับตัวมาไต่สวนและตักเตือนให้ปฏิบัติตามคำสั่งหรือคำบังคับของศาล หากยังไม่ปฏิบัติตามคำสั่งหรือคำบังคับอีกโดยไม่มีเหตุอันสมควรหรือมีพฤติการณ์จงใจหลบเลี่ยงไม่ปฏิบัติ ให้ศาลมีอำนาจกักขังจนกว่าจะปฏิบัติตามคำสั่งหรือคำบังคับแต่ห้ามมิให้กักขังแต่ละครั้งเกินกว่าสิบห้าวันนับแต่วันจับหรือกักขัง แล้วแต่กรณี เว้นแต่จะได้รับการปล่อยชั่วคราว
อย่างไรก็ตาม แม้ว่ากฎหมายจะมีมาตรการบังคับให้บิดาหรือมารดาปฏิบัติตามบันทึกข้อตกลงก็ตาม แต่หากบิดาหรือมารดายึดเอาประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับบุตรเป็นที่ตั้ง ย่อมไม่มีโอกาสที่ศาลจะได้ใช้มาตรการดังกล่าวกับบิดาหรือมารดาครับ ที่สำคัญพ่อแม่ ไม่ควรจะปั่นหัวลูก เพื่อให้เกลียดอีกฝ่ายหรือทำให้ลูกกลัวอีกฝ่าย เพราะอาจจะส่งผลกระทบต่อพัฒนาการของเด็กได้ครับ
สุดท้ายขอเป็นกำลังใจให้กับทุกครอบครัวที่มีปัญหาขอให้ผ่านพ้นอุปสรรคทุกอย่างไปได้ด้วยดี ขอให้เห็นแก่ความอบอุ่นของบุตรเป็นสำคัญครับ บิดามารดาจะแยกทางกัน แต่สถานะของคำว่าพ่อแม่ลูกยังคงอยู่ ยังสามารถเป็นเพื่อนที่ดีต่อกันได้ เพื่อให้ลูกได้รับความอบอุ่นที่สุด และเป็นเด็กดีของสังคมต่อไปในอนาคตครับ
สำหรับผู้ที่มีคำถามข้อสงสัยเกี่ยวกับเรื่องกฎหมายและต้องการความช่วยเหลือ หรือมีเรื่องราวดีๆ อยากแบ่งปันประสบการณ์ เมลมาหาผมได้ที่ “คุยกับคนดัง” talktoceleb@trendvg3.com หรือ Facebook: ทนายเจมส์ LK ได้เลย