ยุทธศาสตร์การพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ ปี 2560-2564 ออกมาแล้ว หลังมีเกษตรกรผลิตสินค้าอินทรีย์ผ่านการรับรองแล้ว 141 กลุ่ม รวม 10,895 ราย พื้นที่เกษตรอินทรีย์ 227,137 ไร่

มีแผนเตรียมจัดตั้งสถาบันพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ ให้เป็นหน่วยงานหลักขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์อย่างเต็มรูปแบบ พร้อมให้ ธ.ก.ส.อัดฉีดโครงการสินเชื่อสีเขียว ดอกเบี้ยต่ำ วงเงิน 5,000 ล้านบาท ดำเนินการในปี 2561–2564

พร้อมเดินเครื่องด้านตลาด ทำเอ็มโอยูกับโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข 896 แห่งทั่วประเทศ เพื่อจับคู่กับผู้ผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ในพื้นที่ วางแผนจัดทำเมนูอาหารให้กับผู้ป่วยและญาติผู้ป่วย

ฟังดูเหมือนจะดี...ประเทศไทยจะได้มีหน่วยงานใหม่อีกแห่ง...แต่มีคำถามแล้วจะผลาญเงินภาษีกันไปอีกเท่าไร ทำไปแล้วไปไม่รอด จะยุบทุบทิ้ง ย้ายคนไปอยู่ไหนเตรียมงบค่าชดเชยกันรึยัง เพราะถ้ามีแต่คณะกรรมการหน้าเดิมๆมานั่งกินเบี้ยประชุม งานขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์จะเดินหน้าได้แค่ไหน

ทำเอ็มโอยูกับโรงพยาบาล นี่ก็ฟังดูดี...คนไข้ ญาติผู้ป่วยได้กินอาหารปลอดภัย

แต่ไม่ได้หมายความว่ามีประโยชน์กว่าสินค้าเกษตรทั่วไป เพราะเท่าที่ทราบยังไม่มีงานวิจัยใดออกมาตีพิมพ์เรื่องนี้เป็นทางการเลย...ตรงกันข้าม มีงานวิจัยหลายชิ้นบอกทำเกษตรปลอดภัย พืชได้รับธาตุอาหารอย่างเต็มที่ ทำให้มีคุณค่าทางโภชนาการมากกว่า

คิดแบบบ้านๆ ปลูกผัก 1 ครอป อายุ 45 วัน ทำเกษตรปลอดภัย พืชได้รับปุ๋ยได้รับธาตุอาหารโดยตรง...ไม่ต้องรอให้จุลินทรีย์มาช่วยย่อยสลายปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก ปุ๋ยอินทรีย์ ที่กินเวลานานนับเดือน

เลยมีคำถาม...พืชแบบไหนจะให้สารอาหารกับผู้ป่วยมากกว่ากัน

สำคัญที่สุด...ภาระค่าใช้จ่ายจะพุ่งสู่โรงพยาบาลอย่างมหาศาล เพราะรู้ๆกันอยู่ สินค้าเกษตรอินทรีย์แพงกว่าสินค้าธรรมดากว่าเท่าตัว เคยคิดตรงนี้กันบ้างมั้ย

...

มูลค่าตลาดเกษตรอินทรีย์ทั้งโลกปีที่แล้ว อยู่ที่ 3 ล้านล้านบาท ในจำนวนนี้เราส่งออกไปได้แค่ 1,100 ล้านบาท มีสัดส่วนแค่ 0.037% ถือว่าไทยส่งออกได้น้อยมาก...ถ้าคิดจะส่งเสริมทำกันจริงๆ ไม่สร้างภาพมามุ่งทำมาตรฐานไทยให้นานาชาติยอมรับก่อน แล้วค่อยหาตลาดส่งออกจะดีกว่ามั้ย.

สะ-เล-เต