ตรวจพบชายไทยมี "ฝีในสมอง" หลังเก็บอุจจาระแมวโดยไม่สวมถุงมือนานติดต่อกัน 9 เดือน ชี้ ภูมิคุ้มกันบกพร่องจากเอชไอวี เชื้อจึงแบ่งตัวทำลายเนื้อสมองเกิดเป็นฝี แนะ หญิงตั้งครรภ์ต้องระวังเป็นพิเศษ

แฟนเพจเฟซบุ๊ก หมอมนูญ ลีเชวงวงศ์ FC หรือ นายแพทย์มนูญ ลีเชวงวงศ์ เป็นหัวหน้าห้องไอซียู เฉพาะทางด้านโรคระบบการหายใจ ผู้ป่วยหนัก และโรคผู้สูงอายุ ประจำที่โรงพยาบาลวิชัยยุทธ โพสต์เรื่องราวของผู้ป่วยรายหนึ่งที่มี “ฝีในสมอง” Toxoplasmosis (ท๊อกโซพลาสโมสิส) จากการเลี้ยงแมว

ทั้งนี้ ผู้ป่วยรายนี้เป็นชายไทย อายุ 49 ปี มีอาการแขนขาข้างซ้ายอ่อนแรง 3 สัปดาห์ มีไข้ต่ำๆ ปวดศีรษะเป็นบางครั้ง โดยพบว่า ผู้ป่วยเลี้ยงแมว 2 ตัว และให้แมวนอนในห้องด้วย และขณะที่ทำความสะอาดกระบะทราย ตักอุจจาระแมวไปทิ้งโดยไม่ได้สวมถุงมือเป็นเวลา 9 เดือน ซึ่งแมวคงรับเชื้อโปรโตซัวชื่อ Toxoplasma (ท๊อกโซพลาสมา) จากการไปกินอุจจาระของแมวตัวอื่น เชื้อนี้จะเติบโตอยู่ในลำไส้แมว โดยแมวสบายดี ไม่ป่วย แล้วขับถ่ายออกมากับอุจจาระ คนรับเชื้อโดยผ่านทางมือเวลาใช้ที่ตักทรายที่ปนเปื้อนอุจจาระแมว แล้วไปจับอาหารใส่ปาก เชื้อนี้จะทะลุผ่านผนังลำไส้เข้าสู่ระบบไหลเวียนเลือดไปตามอวัยวะต่างๆ เช่น สมอง ตา กล้ามเนื้อ

ในกรณีที่มีสภาวะภูมิคุ้มกันปกติเชื้อนี้ก็อยู่เงียบๆ ไม่ทำอันตรายต่อร่างกายของคน แต่ในคนที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่องอย่างผู้ป่วยรายนี้ที่ติดเชื้อเอชไอวี เชื้อโปรโตซัวตัวนี้จะแบ่งตัวทำลายเนื้อสมองเกิดเป็นฝีหลายตำแหน่ง (ดูในรูปคลื่นแม่เหล็กสมอง) ผู้ป่วยรายนี้ได้รับยาต้านไวรัสและยารักษาเชื้อท๊อกโซพลาสมา อาการแขนขาข้างซ้ายอ่อนแรงดีขึ้น สามารถเดินได้เกือบปกติแล้ว ฝีในสมองก็ขนาดเล็กลง

...

ส่วนข้อแนะนำคือ หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับอุจจาระแมวขณะทำความสะอาดกระบะทราย ถ้าหลีกเลี่ยงไม่ได้ต้องสวมถุงมือ ล้างมือให้สะอาดทุกครั้งด้วยสบู่หลังสัมผัสกับอุจจาระแมวโดยเฉพาะอย่างยิ่งก่อนเอามือมาจับปาก หยิบอาหารมารับประทาน หญิงตั้งครรภ์ต้องระวังเป็นพิเศษเพราะถ้ารับเชื้อ จะไปติดทารกในครรภ์ อาจแท้ง คลอดก่อนกำหนด ทารกที่คลอดอาจผิดปกติ.