เมื่อวันที่ 4 ธ.ค. ผู้สื่อข่าวรายงาน สืบเนื่องจากเกิดอุบัติเหตุสลดขึ้นในเมืองพัทยา โรคกำเริบ! หนุ่มเมืองชลบุรี ควบกระบะชักเกร็งพุ่งชนรถจักรยานยนต์ บาดเจ็บ 15 คน เสียชีวิตแล้ว 2 คน เบื้องต้นทราบว่าผู้ขับขี่รถกระบะมีโรคประจำตัว เป็นลมชักนั้น
เกี่ยวกับโรคนี้ ดร.นพ.โยธิน ชินวลัญช์ แพทย์เฉพาะทางด้านโรคความจำถดถอยและโรคลมชัก คลินิกลมชัก ศูนย์สมองและระบบประสาทกรุงเทพ โรงพยาบาลกรุงเทพ เคยอธิบายถึงลักษณะอาการของโรคลมชัก เอาไว้ในความตอนหนึ่งว่า คนส่วนใหญ่เข้าใจว่า อาการของโรคลมชัก คือ แค่ชักเกร็งกระตุกทุกส่วนของร่างกาย หรือที่เรียกว่า โรคลมบ้าหมู แต่จริงๆ แล้ว โรคลมชักแสดงอาการได้หลายแบบ เช่น วูบ เบลอ จำอะไรไม่ได้ และมักจะเกิดขึ้นในกลุ่มผู้ใหญ่สูงวัยที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป ส่วนกลุ่มวัยทำงานมักมีอาการเหม่อลอยเป็นพักๆ ระหว่างทำงาน ทำปากขมุบขมิบ หรือเคี้ยวปาก มือเกร็ง บางรายอาจมีอาการพูดไม่ออก ในกลุ่มเด็กโตจะมีอาการผิดปกติ เช่น นอนตื่นสาย จากเดิมไม่เคยตื่นสายมาก่อน เป็นต้น
โรคลมชักมีความหลากหลายทางอาการมากขึ้นอยู่กับว่าภาวะผิดปกติของกระแสไฟฟ้าในสมองส่วนใด รุนแรงแค่ไหน จึงสังเกตยาก ทำให้ผู้ป่วยส่วนหนึ่งไม่รู้ตัวว่าตัวเองเป็นโรคลมชัก ยิ่งถ้ามีอาการเป็นๆ หายๆ เช่น สูญเสียความจำไปชั่วขณะ และญาติพามาพบแพทย์ด้วยอาการเดินเซ หลงๆ ลืมๆ โดยคิดว่าเกิดจากความเสื่อมตามอายุก็อาจเป็นเรื่องที่ไม่ทันสังเกตหรือนึกไม่ถึง
คุณหมอโยธินบอกแพทย์เฉพาะทางด้านโรคความจำถดถอยและโรคลมชัก บอกอีกว่า จริงๆ แล้วโรคลมชักเกิดได้กับคนทุกเพศทุกวัย แต่กลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง คือ ผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคตับ โรคไต รองลงมาคือกลุ่มเด็ก ซึ่งเกิดจากแผลเป็นในสมองติดตัวมาตั้งแต่เกิด บางรายเซลล์สมองผิดปกติ สิ่งสำคัญ คือ พ่อ แม่ ลูกหลานต้องหมั่นสังเกตพฤติกรรม หากพบอาการผิดปกติหรืออาการชัก แม้เพียงครั้งเดียวให้รีบพามาพบแพทย์เพื่อรักษา เพราะผลจากการชักจะทำให้เซลล์สมองตาย
...
สำหรับการรักษาโรคลมชักแพทย์จะต้องวินิจฉัยก่อนว่าเป็นโรคลมชักที่มาจากสาเหตุใด เพื่อทำการรักษาได้ถูกต้อง โดยจะใช้ยากันชัก เพื่อช่วยปรับกระแสไฟฟ้าในสมองให้เป็นปกติ ในผู้ป่วยที่ดื้อยาอาจต้องรักษาโดยการผ่าตัด ซึ่งปัจจุบันมีเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามารักษาเพื่อให้ทราบตำแหน่งในสมองที่ผิดปกติได้อย่างถูกต้องแม่นยำ
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า จากอาการของโรคลมชัก โดยเฉพาะอาการชักเกร็ง วูบ หรือ เบลอนั้น หากเกิดขึ้นขณะผู้ป่วยขับขี่รถ ย่อมเป็นอันตรายต่อผู้ใช้รถใช้ถนนร่วมทางและต่อตัวเอง ซึ่งกรณีอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นที่พัทยานี้ ไม่ใช่กรณีแรก.
อ่านเกี่ยวกับโรคลมชักเพิ่มเติมได้ที่ สแกนสมอง..ค้นหาลมชัก เจอเร็ว..รักษาได้