ศูนย์ช่วยเหลือคนไร้ที่พึ่งจังหวัดขอนแก่น รับมอบห้องน้ำจากกลุ่มข้าราชการเกษียณอายุ สำหรับการให้บริการช่วยเหลือคนเร่ร่อนและผู้ตกทุกข์ได้ยากที่มาขอรับบริการ พร้อมทั้งมีการจัดทำบ่อเลี้ยงปลา เลี้ยงกบ และพืชผักสวนครัวเพื่อให้ผู้เร่ร่อนได้เรียนรู้ทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียงอีกด้วย
เมื่อเวลา 14.00 น. ที่ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง จ.ขอนแก่น นางพวงพยอม จิตรคง ผอ.ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งขอนแก่น พร้อมด้วย นายชาติชาย ชาธรรมมา ประธานมูลนิธิช่วยเหลือคนไร้ที่พึ่งขอนแก่น ร่วมกันประกอบพิธีรับมอบห้องน้ำจากนางพรทิพย์ ประสานวงศ์ ประธานกลุ่ม เพื่อน ออ.พาณิชย์ และนายชุมพล หลักคำ ส.อบจ.กาฬสินธุ์ เขต อ.ยางตลาด ในฐานะผู้แทนจากกลุ่มข้าราชการครูที่เกษียณอายุราชการ รวมไปถึงภาคธุรกิจเอกชนจากหลายจังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่ได้ร่วมกันจัดสร้างห้องน้ำสาธารณประโยชน์ขึ้น บริเวณด้านหลังศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งขอนแก่น สำหรับการให้บริการประชาชนที่ตกทุกข์ได้ยาก คนไร้ที่พึ่งและผู้ที่ต้องการขอรับการช่วยเหลือจากหน่วยงานภาครัฐในด้านที่อยู่อาศัย ในกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน
...
นางพวงพยอม กล่าวว่า ปัจจุบันมีบุคคลเร่รอน และบุคคลที่ไร้ที่พึ่ง มาขอรับบริการในเรื่องที่พักอาศัยและเรื่องการประกอบอาชีพ จากศูนย์เฉลี่ยเดือนละไม่น้อยกว่า 50 ราย โดยบริเวณด้านหลังของศูนย์ฯ แห่งนี้ได้มีการจัดสร้างอาคารที่พักแบบชั่วคราวไว้ สำหรับการให้บริการประชาชนที่ด้อยโอกาส และผู้ที่ตกทุกข์ได้ยากได้มาพักอาศัยเป็นการชั่วคราว รวมไปถึงการให้ความช่วยเหลือในด้านต่างๆ โดยมีหมุนเวียนมาขอรับบริการทุกวัน วันละไม่น้อยกว่า 10 ราย แต่ด้วยงบประมาณที่จำกัด จึงจำเป็นจะต้องขยายการให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ที่มาขอรับบริการในสัดส่วนที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะห้องน้ำที่เดิมได้ใช้ห้องน้ำร่วมกัน ทั้งในส่วนของสำนักงานฯ และอาคารรักษาความปลอดภัย ซึ่งเจ้าหน้าที่และบุคคลที่มาขอรับบริการก็ใช้ร่วมกัน ดังนั้นเพื่อให้เกิดการเป็นสัดส่วนและมีการบริหารจัดการได้อย่างองค์รวม จึงได้ขอรับการสนับสนุนจากผู้มีจิตศรัทธาในการจัดสร้างห้องน้ำขึ้นเฉพาะในพื้นที่ที่พักของบุคคลที่มาขอรับบริการ โดยได้รับการสนับสนุนและมีการจัดสร้างเบื้องต้น 3 ห้อง อยู่ภายในบริเวณพื้นที่พักอาศัยทั้งหมด
นอกจากการจัดสร้างที่พัก อาคารรับประทานอาหาร รวมไปถึงห้องน้ำสำหรับการให้บริการแก่ผู้ด้อยโอกาส ผู้ตกทุกข์ได้ยากและบุคคลเร่ร่อนแล้ว ยังคงมีการจัดทำพื้นที่เพื่อให้ผู้ที่มาขอรับบริการนั้นได้สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ทั้งยังคงเป็นการสืบสานเจตนาในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช จึงได้จัดทำพื้นที่เกษตรผสมผสาน ตามแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียง ด้วยการขุดบ่อเลี้ยงปลา เลี้ยงกบ พื้นที่ปลูกผักสวนครัว พื้นที่เพาะเห็ด รวมไปถึงพื้นที่สำหรับการเลี้ยงสัตว์ เพื่อให้ผู้ที่พักอาศัยอยู่ภายในการคุ้มครองของศูนย์ฯ นั้นได้ฝึกอาชีพ การเรียนรู้ในศาสตร์พระราชา และที่สำคัญคือการได้ดำเนินกิจกรรมร่วมกันระหว่างเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบกับผู้ที่มาพักอาศัยที่ทุกคน เปรียบเสมือนกับคนในครอบครัวเดียวกัน และคนบ้านเดียวกัน
นางพวงพยอม กล่าวต่ออีกว่า นอกจากการจัดสร้างห้องน้ำให้กับผู้ที่ตกทุกข์ได้ยากและกลุ่มคนเร่ร่อนแล้วนั้น ยังคงมีการวางแผนการดำเนินงานร่วมกันระหว่างศูนย์ฯ กับผู้ที่มีจิตศรัทธา โดยเฉพาะกลุ่มเพื่อน ออ.พาณิชย์ ที่ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มข้าราชการครูที่ปฏิบัติงานในกลุ่มจังหวัดภาคอีสาน รวมไปถึงผู้ที่มีจิตศรัทธาและนักการเมืองท้องถิ่นในพื้นที่ที่ขอทำความดีเพื่อพ่อ ด้วยการขุดเจาะบ่อบาดาลเพิ่มเติมเป็นแผนการดำเนินงานต่อจากนี้ เนื่องจากการซื้อน้ำประปามาใช้ในการช่วยเหลือประชาชนทั้งระบบ รวมไปถึงภาคการเกษตรตามทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียง ที่ดำเนินการอยู่นั้นแต่ละเดือนมีราคาแพง ดังนั้นการบขุดเจาะบ่อบาดาลจะเป็นการบริหารจัดการพื้นที่ที่คุ้มค่า ไม่ฟุ่มเฟือย และสามารถนำมาใช้งานได้จริงภายในศูนย์ฯ แห่งนี้อีกด้วย.