ขอเพียงสังคมเห็นใจและให้โอกาสคนเคยผิดพลาด เปิดใจ อดีตเด็กหลังห้อง หนีเรียน ติดยาจนชีวิตพัง โชคดีได้โอกาสอีกครั้งจนเป็นคนดีของสังคม

นายเนม (นามสมมติ) อายุ 24 ปี อดีตเยาวชนที่เคยก้าวพลาด เล่าถึงประสบการณ์ชีวิตที่ผ่านมาว่า ช่วงตอนตนอยู่ ม.2 ชอบเที่ยวมากกว่าเรียนจึงถูกไล่ออก ซึ่งตอนเรียนอยู่รู้สึกกดดัน จึงชอบหนีเที่ยวจนถูกไล่ออก

เมื่อโดนไล่ออกจากโรงเรียนแล้ว ตนไปสมัครเรียนที่ไหนก็ไม่มีโรงเรียนไหนรับ จึงตัดสินใจไม่เรียนต่อ จากนั้นก็เที่ยว กินเหล้า ยกพวกตีกันบ้าง ขี่จักรยานยนต์กับเพื่อนๆ หรือที่เรียกว่าแว้น จนมาถึงการลองเสพยาบ้าเพราะคิดว่าแค่ทดลองไม่เป็นไร แต่มันกลับทำให้ยิ่งหลงเข้าไปจนเริ่มไปใช้ยาตัวอื่นๆ เช่น เฮโรอีน สุดท้ายก็ติดจนไม่สามารถขาดยาได้

"ตอนนั้นผมอายุแค่ 15 ปี เมื่อติดยาแล้วก็ต้องหาเงินไปซื้อจึงเริ่มเป็นเด็กเดินยาแถวบ้าน แล้วก็ผันตัวมาเป็นผู้ขายรายย่อย ขายส่ง จนวันหนึ่งมีคนมาจ้างให้ไปส่งยาบ้า 50,000 เม็ด ได้ค่าตอบแทน 200,000 กว่าบาท ตอนนั้นมีความสุขมากเพราะได้เงินมาง่ายและเร็ว จึงรับงานนี้ แต่สุดท้ายก็ไปไม่รอดโดนจับกุมข้อหามียาบ้า 50,000 เม็ด โดยศาลเยาวชนตัดสินส่งไปอยู่ศูนย์ฝึก"

นายเนม กล่าวอีกว่า ปัจจุบันตนพ้นโทษแล้วและเลิกยุ่งกับยาเสพติดทุกชนิด เพราะได้รับโอกาส ได้ฝึกอาชีพโดยให้ค้นหาตัวเองถึงอาชีพที่สนใจ การซ่อมและซื้อขายจักรยานยนต์เก่า รวมถึงเรียนรู้การทำเกษตรผสมผสานแบบพอเพียง

"ผมมีความฝันอยากจะมีบ้านสวนเล็กๆ และเปิดร้านซ่อมจักรยานยนต์ เพื่อสักวันหนึ่งผมจะมีโอกาสรับเยาวชนที่เคยก้าวพลาดมาดูแล เหมือนที่ตนเองได้รับโอกาสนั้นมา เพราะเด็กและเยาวชนที่ก้าวพลาด ต้องการเพียงคนให้อภัย ให้โอกาสได้เริ่มต้นใหม่"

เกิดที่ไทย แต่ต้องไร้สัญชาติ

...

นางสาวคำแลง เยาวชนไร้สัญชาติ อายุ 20 ปี นักเรียนชั้น ม.6 ที่แม่ฮ่องสอน กล่าวว่า ตนอยู่ในสถานะไร้สัญชาติแม้ว่าจะเกิดที่ประเทศไทย แต่พ่อแม่ไม่ได้แจ้งเกิด ที่ผ่านมาพยายามยื่นเรื่องขอมีสัญชาติไทยแต่ติดปัญหาที่ต้องมีพ่อแม่มายืนยันการเกิด ซึ่งพ่อที่แยกทางจากแม่ก็แจ้งว่ามีลูกเพียงคนเดียวคือลูกที่เกิดกับครอบครัวใหม่

อย่างไรก็ตาม ทุกครั้งเวลาไปร่วมกิจกรรมภายนอก ตนมักใส่เสื้อกันหนาวปิดไว้ เพราะมีแต่ชื่อไม่มีนามสกุล ทำให้รู้สึกอายเมื่อมีคนมาถามว่าทำไมมีแค่ชื่อ และการไม่มีสัญชาติทำให้ถูกจำกัดสิทธิในการเรียนต่อ เพราะคณะที่อยากศึกษาต่อคือ คณะแพทย์และสายสุขภาพ ซึ่งมีการระบุคุณสมบัติว่าไม่รับเด็กที่ไม่มีสัญชาติ และไม่มีสิทธิกู้ยืมกองทุนช่วยเหลือทางการศึกษา (กยศ.)

"หนูฝันอยากเป็นหมอหรือพยาบาล แต่สิทธิการสมัครสอบก็ไม่สามารถทำได้ ที่ผ่านมามีผู้ใหญ่หลายคนพยายามช่วยให้หนูได้รับสัญชาติโดยเร็ว แต่ปัญหาของหนูมันซับซ้อน ซึ่งหนูมีเส้นตายการสมัครอยู่ภายใน 30 ก.ย.นี้."

พบเยาวชนอยู่ในภาวะเปราะบางกว่า 3.17 ล้านคน

ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า สถานการณ์เด็กเยาวชนภาวะเปราะบางในปัจจุบัน พบว่า มีจำนวนไม่ต่ำกว่า 3.17 ล้านคน ประกอบด้วย กลุ่มเด็กเยาวชนที่มีความต้องการพิเศษทางการเรียนรู้ ซึ่งมีอยู่ประมาณ 10% ของจำนวนประชากรเด็กไทย โดยยังขาดการส่งเสริมพัฒนาการเรียนรู้และอาชีพรองรับ กลุ่มเด็กยากจนพิเศษ จำนวน 476,000 คน ลูกแรงงานต่างด้าว 250,000 คน

เมื่อประเทศได้จัดระบบแรงงานต่างด้าวด้วยการขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ก็ต้องคิดถึงสิทธิสวัสดิการทางการศึกษาแก่คนกลุ่มนี้ไว้รองรับ กลุ่มเด็กไร้สัญชาติ ราว 200,000 คน ที่เผชิญกับปัญหารอยต่อทางการศึกษา แม่วัยรุ่น ที่มีอยู่ 104,289 คน โดยพบว่าเด็กแรกเกิดของไทย 15% มาจากแม่วัยรุ่น ทำอย่างไรจะทำให้เด็กที่เกิดใหม่เหล่านี้เติบโตอย่างมีคุณภาพ รวมถึงกลุ่มเด็กเยาวชนที่ถูกดำเนินคดี 33,121 คน ที่ 68% มาจากครอบครัวที่พ่อแม่แยกทาง และส่วนใหญ่หลุดจากระบบการศึกษา

ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาด้านเด็กและเยาวชน คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงข้อเสนอจากเวทีแลกเปลี่ยนเด็กเยาวชนที่เผชิญภาวะเปราะบาง จาก 4 ภูมิภาค จำนวน 35 เครือข่าย พบว่า

1. ต้องมีการจัดทำระบบฐานข้อมูลเด็กและเยาวชนภาวะเปราะบางในระดับพื้นที่ เพื่อนำสู่การวางทิศทางแก้ปัญหา โดยร่วมกับกระทรวงมหาดไทย ในการประสานไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นซึ่งใกล้ชิดกับคนในพื้นที่มากที่สุด

2. การพัฒนาระบบความคุ้มครองทางสังคมสำหรับเด็กเยาวชนภาวะเปราะบาง เพื่อเป็นตัวช่วยภาครัฐโดยดึงความร่วมมือจากภาคประชาสังคมที่ทำงานอยู่ ดึงทุนจากภาคเอกชน โดยแชร์ข้อมูล แชร์บุคลากร เพื่อเป็นตัวช่วยการทำงานของศูนย์ชุมชนคุ้มครองเด็ก รวมถึงพัฒนาศักยภาพคนทำงานด้านเด็กเพื่อพัฒนาศักยภาพเด็กเยาวชนภาวะเปราะบาง

3. การปลดล็อกเงื่อนไขและข้อจำกัดทางกฎหมาย เช่น รอยต่อทางการศึกษาระหว่างช่วงชั้น ที่ต้องมีบัตรประชาชน

4. การปรับปรุงกองทุนที่มีอยู่ให้มุ่งเป้าสู่การพัฒนามากกว่าการสงเคราะห์ รวมถึงการฝึกอาชีพขั้นสูงที่มีงานรองรับมากกว่าฝึกอาชีพที่ไม่สามารถอยู่ได้จริง และ 5. เปิดพื้นที่ให้กับเด็กเยาวชนภาวะเปราะบาง เช่น สนับสนุนกิจกรรมพื้นที่สร้างสรรค์เพื่อสร้างคุณค่ าและการยอมรับให้กับเด็กเยาวชนภาวะเปราะบาง ตลอดจนเพิ่มสัดส่วนการมีส่วนร่วมของเยาวชนภาวะเปราะบางในสภาเด็กและเยาวชนทุกระดับตำบล