ภาพจาก NASA/JPL-Caltech
เมื่อปี 2558 นักวิทยาศาสตร์จากไลโก้ (Laser Interferometer Gravitational–Wave Observatory–LIGO) ซึ่งเป็นหอสังเกตการณ์คลื่นโน้มถ่วงแสงเลเซอร์สอดแทรก ได้ตรวจพบคลื่นความโน้มถ่วง (gravitational–Wave) เป็นครั้งแรกของโลก โดยคลื่นดังกล่าวเกิดจากหลุมดำ 2 หลุมกำลังควบรวมกันเป็นหลุมดำเดี่ยวขนาดมหึมา เป็นการยืนยันถึงการมีอยู่ของคลื่นความโน้มถ่วงแล้วและการมีอยู่จริงของหลุมดำคู่ที่โคจรรอบกันเอง (binary black hole)
จากที่เคยตรวจพบคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าจากการเฝ้าสังเกตหลุมดำที่โคจรรอบดาวฤกษ์ และทำแผนที่พฤติกรรมของหลุมดำ ซึ่งต่อมาพบว่ามีการหมุนปั่นรวดเร็วอย่างน่าสนใจ นักวิทยาศาสตร์เผยว่ามีความเป็นไปได้ที่คลื่นความโน้มถ่วงจะสามารถอธิบายถึงการก่อเกิดของหลุมดำที่อยู่นอกกาแล็กซีของเราได้ พร้อมระบุว่าคลื่นแรงโน้มถ่วงจะเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการเข้าใจอย่างลึกซึ้งถึงหลุมดำคู่ขนาดใหญ่ที่อยู่นอกกาแล็กซี ซึ่งเมื่อมองเห็นผ่านคลื่นความโน้มถ่วงแล้วพบว่าแตกต่างจากที่เคยเห็นในกาแล็กซีของเรา
หลุมดำดังกล่าวมีการหมุนปั่นที่เป็นไปได้ 2 วิธีคือ หมุนช้ากว่าหลุมดำในกาแล็กซีของเรา หรือหมุนเร็วขึ้นแต่มีลักษณะหมุนคว้างไปตามวงโคจรของมัน โดยไม่เป็นแถวแนวเดียวกันกับวงโคจร ซึ่งหมายความว่าหลุมดำอาจอยู่ในสภาพแวดล้อมที่แออัดในกลุ่มดาว ซึ่งมีผลต่อการก่อตัว ทั้งนี้ นักฟิสิกส์และดาราศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยเบอร์มิงแฮม ในประเทศอังกฤษ เชื่อว่านักวิทยาศาสตร์จะได้คำอธิบายถึงการก่อกำเนิดหลุมดำที่ถูกต้องในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า.