เป็นที่รู้กันว่าขั้วโลกใต้นั้นมีอุณหภูมิต่ำที่สุดถึงระดับติดลบหลายสิบองศา แต่ก็เป็นสถานที่พบพืชดอก 2 ชนิด คือโคโลแบนธัส ควีเตนสิส (Colobanthus quitensis) หรืออีกชื่อหนึ่งคือเพิร์ลเวิร์ต (pearlwort) และดีแชมพ์เซีย แอนตาร์กติกา (Deschampsia Antarctica) หรือแฮร์ กลาสส์ (hair grass) ซึ่งมีข้อมูลจากคณะสำรวจทวีปแอนตาร์กติกาของสหราชอาณาจักรรายงานว่าเป็นพืชดอก 2 ชนิดที่จะพบในบริเวณพื้นที่เย็นจัดของขั้วโลกใต้ โดยล่าสุด นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยซานติอาโก ในประเทศชิลี ได้วิจัยค้นคว้าถึงประโยชน์ของพืชทั้งคู่นี้

พวกเขาค้นพบว่า โมเลกุลของดอกไม้แอนตาร์กติก 2 ชนิดนี้สามารถทนต่อรังสีอัลตราไวโอเลตในระดับสูงได้ โดยระบุว่ากลุ่มโมเลกุลในดอกโคโลแบนธัสจะทำหน้าที่เป็นตัวกรองแสงอาทิตย์ สรรพคุณดังกล่าวทำให้เกิดความเป็นไปได้ว่า นักวิจัยอาจจะนำดอกไม้เหล่านี้มาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ป้องกันรังสีแสงอาทิตย์ เช่น ครีมกันแดดสำหรับมนุษย์และนำมาป้องกันพืชที่ไม่สามารถทนทานต่อการเพิ่มระดับของรังสี

นักวิจัยคาดว่า จะมีการทดลองเพื่อนำมาใช้ประโยชน์ในอนาคตอันใกล้ โดยพวกเขากำลังมองหากลุ่มบริษัทเพื่อมาร่วมวิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์ครีมกันแดดที่มีส่วนผสมของโมเลกุลดอกไม้ทั้ง 2 ชนิดเพื่อปกป้องผิวมนุษย์ไม่ให้เกิดความเสียหายอันเนื่องจากรังสีอัลตราไวโอเลต อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการละลายของธารน้ำแข็ง กำลังเพิ่มความเปลี่ยนแปลงในช่วงหนึ่งของพืชชนิดดังกล่าว ซึ่งทำให้นักวิจัยต้องศึกษาถึงผลกระทบอื่นๆต่อไป.