เกษตรกรไทยยุคไหนๆยังต้องไหว้วอน “เทวดาช่วย” ให้โปรยฟ้าฝนตกถูกต้องตามฤดูกาล...!

แต่พอถึงช่วงแล้ง น้ำที่เก็บไว้ในบ่อถูกใช้หล่อเลี้ยงพืชสวนไร่นาจนหมด ต้องกลับมาอ้อนวอนให้ช่วยอีกครั้ง เป็นทุกข์ซ้ำกรรมซัดหมุนเวียนเกิดกับเกษตรกร นอกเหนือจากถูกพ่อค้าคนกลางเอารัดเอาเปรียบกดราคาพืชผล

แต่แล้ววันนี้ฟ้าดลใจ กระทรวงพลังงาน จัดโครงการ “สูบน้ำด้วยพลังงานแสงอาทิตย์สู้ภัยแล้ง” เป็นนิมิตหมายใหม่หรือความหวังของเกษตรกร อาจเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้พวกเขาลืมตาอ้าปากไม่มากก็น้อย

เปิดดำเนินการมาเมื่อปี 2559 ด้วยรูปแบบการใช้แผงโซลาร์เซลล์ช่วยผลิต “พลังงานแสงอาทิตย์” ในพื้นที่ประสบปัญหาภัยแล้ง 58 จังหวัดถัวเฉลี่ยทั่วประเทศตัวเลขกลมๆอยู่ที่ 900 แห่ง ทำไปแล้ว 800 แห่ง

ล่าสุด จ.นครราชสีมา พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รมว.พลังงาน พร้อมด้วย นายวิเชียร จันทรโณทัย ผวจ.นครราชสีมา เปิดนำร่องพื้นที่โคราชใช้กับระบบประปาหมู่บ้านมอดินแดง หมู่ที่ 6 ต.หนองหญ้าขาว อ.สีคิ้ว

นายสุรินทร์ แสงไทยทวีพร พลังงาน จ.นครราชสีมา เผยว่าโคราช ตั้งเป้าติดตั้งช่วยเหลือด้านการเกษตร 49 แห่ง และประปาหมู่บ้าน 3 แห่ง โดยติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ต่อเข้ากับเครื่องสูบน้ำของถังน้ำซึ่งทำไว้บนที่สูง

เมื่อน้ำในถังถูกจ่ายเข้าสู่ครัวเรือนหรือพื้นที่การเกษตร จึงช่วยลดการใช้ไฟฟ้ากับเครื่องสูบน้ำ ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตน้ำประปาหมู่บ้านลดลงไปโดยปริยาย หากไปถึงจุดนั้นผู้บริหารจัดการสามารถลดค่าน้ำประปาได้ในที่สุด

สำหรับพื้นที่การเกษตร เฉพาะ อ.สีคิ้ว จะได้รับประโยชน์ 40,600ไร่ ช่วยเหลือเกษตรกรได้ไม่ต่ำกว่า 410 ราย ในขณะที่โครงการนี้ตั้งเป้าช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรทั่วประเทศที่ 4 แสนไร่ และเกษตรกรไม่น้อยกว่า 9,000 ราย

...

เป็นการทำงานของกระทรวงพลังงานที่ตั้งธงช่วยแก้ปัญหาภัยแล้งให้เกษตรกร และเพื่อลดการใช้พลังงานเชื้อเพลิงให้มากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นน้ำมันและไฟฟ้า หรือถ้าโชคดีอาจไม่ต้องใช้เลย

แต่ถึงอย่างไรทำแล้วก็ต้องติดตามประเมินผลอย่าปล่อยให้ท้องถิ่นทำเองแก้ปัญหาเองก็แล้วกัน...!

ทวีศักดิ์ ทิพย์พรชัย