นายสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เผยว่า จากนโยบายเปิดรับจำนำข้าว สร้างแรงจูงใจให้ชาวนามุ่งแต่ทำนาปลูกข้าวตลอดทั้งปี ส่งผลให้การปลูกพืชชนิดอื่น โดยเฉพาะพืชตระกูลถั่วที่เคยมีการปลูกสลับฤดูในแปลงนาถูกละเลย และไม่ได้รับความสนใจจากชาวนาอีกต่อไป ทั้งที่ความต้องการบริโภคในประเทศจะเพิ่มมากขึ้นทุกปีก็ตาม แม้ฤดูนาปรังปีที่ผ่านมา ทางการจะรณรงค์ให้ชาวนาสลับไปปลูกพืชชนิดอื่น เช่น ข้าวโพด ถั่วชนิดต่างๆแล้วก็ตาม แต่ต้องล้มเหลวไม่เป็นไปตามแผนที่วางไว้ เนื่องจากฝนมาเร็วกว่าคาดการณ์ ทำให้เกษตรกรหลายรายต่างหันกลับไปปลูกข้าวกันเหมือนเดิม
“การปลูกข้าวต่อเนื่องระยะเวลานานจะส่งผลกระทบต่อภูมิศาสตร์เกษตร ทำให้เกิดการสะสมโรคและแมลง พืชที่ปลูกอ่อนแอเป็นโรคได้ง่าย และเป็นการใช้ที่ดินไม่ถูกต้อง หากไม่มีการปลูกพืชสลับจะทำให้โครงสร้างดินเสีย เพื่อให้ระบบการทำเกษตรเกิดความสมบูรณ์ ดังนั้น การลดรอบทำนาข้าว ส่งเสริมให้ปลูกพืชหมุนเวียน จัดระบบพืชให้เหมาะสม โดยเฉพาะพืชตระกูลถั่ว จะช่วยลดปัญหาการระบาดแมลงศัตรูพืช ยังทำให้ดินมีความอุดมสมบูรณ์ การทำนาในฤดูถัดไปจะช่วยลดต้นทุนค่าปุ๋ยได้เป็นอย่างดี”
...
อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตรบอกว่า เพื่อลดการทำนาในฤดูนาปรัง สลับปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชทางเลือกอื่น สร้างรายได้จากการปลูกพืชทดแทน ให้ชาวนาเรียนรู้การปลูกพืชอื่นในพื้นที่นา อันเป็น แนวทางเกษตรกรรมทางเลือกระยะยาว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมส่งเสริมการเกษตร จัดโครงการส่งเสริมการปลูกพืชหลากหลายฤดูนาปรัง ปี 2560/2561 โดยผ่านการอนุมัติจากมติ ครม.ไปแล้ว มีพื้นที่เป้าหมาย 400,000 ไร่ ใน 53 จังหวัด
ประกอบด้วย ภาคเหนือ 15 จังหวัด, ภาคกลาง 9 จังหวัด, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 20 จังหวัด, ภาคตะวันออก 4 จังหวัด และภาคตะวันตก 5 จังหวัด โดยรัฐจะสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการปลูกพืชทดแทนให้ชาวนาที่เข้าร่วมโครงการรายละไม่เกิน 15 ไร่ วงเงิน 30,000 บาทต่อคน ผ่านธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เพื่อนำไปซื้อเมล็ดพันธุ์ปรับพื้นที่ปลูก โดยพืชทางเลือกมีทั้งพืชไร่ อาทิ ถั่วเขียว ถั่วเหลือง งา ถั่วลิสง ทานตะวัน ส่วนพืชผัก ได้แก่ ข้าวโพดหวาน ฟักทอง ฟักแฟง แตงกวา ถั่วฝักยาว พริก มะเขือ ตะไคร้.