พระราชบัญญัติกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) พ.ศ.2560 ฉบับใหม่ ซึ่งมีการแก้ไขสาระสำคัญด้วยการรวมกองทุน กยศ.กับกองทุนเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาที่ผูกกับรายได้ในอนาคต (กรอ.) เข้าด้วยกัน มีผลบังคับใช้แล้วเมื่อวันที่ 26 ก.ค.ที่ผ่านมา

สาระสำคัญของกฎหมาย ยังกำหนดให้หน่วยราชการ และบริษัทห้างร้าน หรือนิติบุคคลต่างๆ “ต้อง” หักเงินเดือนข้าราชการ เจ้าหน้าที่รัฐ หรือ พนักงานของตนที่จบการศึกษามาโดยการกู้ยืมเงินจาก กยศ.และ กรอ.เพื่อนำส่งคืนกระทรวงการคลัง เหมือนๆ กับการหักภาษี ณ ที่จ่ายของเงินเดือนในแต่ละเดือนนั่นเอง

นอกจากนี้แล้ว ถ้ามีข้าราชการ เจ้าหน้าที่ หรือพนักงานบริษัทไม่จ่ายคืนเงินที่กู้ยืมไปจาก กยศ. และ กรอ. กฎหมายยังกำหนดให้ต้นสังกัด และบริษัทเอกชนต้องบวกค่าปรับอีก 18% ต่อปี ส่งคืนให้กระทรวงการคลังจนกว่าจะครบจำนวนที่กู้ยืมไปด้วย

เหตุที่ต้องแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมาย ก็เพราะที่ผ่านมาคนที่จบการศึกษาออกมาแล้ว “เบี้ยว” ไม่ยอมใช้หนี้คืนกองทุน กยศ.และกรอ.ที่จัดตั้งขึ้นมาเพื่อช่วยเหลือนักศึกษาที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ หรือพ่อแม่มีเงินไม่เพียงพอจะส่งลูกเรียนในระดับปริญญาตรี ให้สามารถมีโอกาสรับการศึกษาต่อในระดับนี้ได้

นั่นจึงทำให้ กยศ. และ กรอ.มียอดหนี้ค้างชำระอยู่เกือบ 90,000 ล้านบาท ไม่สามารถช่วยเหลือเยาวชนรุ่นต่อๆไปเท่าเดิม หลังจากที่ตลอดช่วง 20 ปี ทั้งสองกองทุนนี้ช่วยเหลือเยาวชนไทยให้มีอนาคตที่ดีไปแล้วกว่า 8 ล้านคน มีเพียง 3.2 ล้านคนเท่านั้น ที่จบปริญญาตรีออกมาแล้ว ใช้หนี้คืนรัฐโดยดีภายใต้ข้อกำหนดที่ปลอดการชำระหนี้ให้ 2 ปีเพื่อหางานทำ จากนั้นให้ชำระหนี้เดือนละ 1,000-2,000 บาท หรือตามที่ตกลงกัน บวกดอกเบี้ย 1%

คณะทำงานเพื่อแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายฉบับนี้ ยังกำหนดด้วยว่า หลังกฎหมายบังคับใช้ 1 ปี พวกที่ยังไม่ยอมไปติดต่อชำระหนี้ที่กู้ยืมคืนกระทรวงการคลัง จะถูกนำรายชื่อไปขึ้นบัญชี “เครดิตบูโร” ด้วย เพราะการตามไล่ฟ้องร้องขอให้มีการชำระหนี้คืนอย่างเดียวไม่เพียงพอ เนื่องจากลูกหนี้หลายคนหายตัวไปแบบไร้ร่องรอย มีเพียง 900,000–1,000,000 รายเท่านั้น ที่ตามตัวมาฟ้องร้องเป็นจำเลยของรัฐได้

...

เรื่องนี้จะว่าไปแล้ว การที่กระทรวงการคลังตั้งกองทุนให้เด็กกู้ยืมเงินไปเรียนหนังสือก็เป็นเจตนารมณ์ที่ดี แต่น่าจะเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ โดยเฉพาะการเปิดโอกาสให้เยาวชนสามารถกู้ยืมเงินไปเรียนปริญญาตรีในมหาวิทยาลัยเอกชน ซึ่งมีค่าหน่วยกิตแพงหูฉี่ถึงหน่วยกิตละ 1,200-1,500 บาท หรือวิชาละมากกว่า 4,500 บาทได้

แต่ละปีเยาวชนเหล่านี้จะต้องใช้จ่ายค่าวิชาที่เรียน 2 เทอมเกือบแสนบาท กว่าจะจบปริญญาตรีออกมา แต่ละคนจะมีหนี้ท่วมหัวราว 400,000–500,000 บาท

เยาวชน 1 คนจบออกมามีงานทำก็ถือว่าโชคดีแล้ว ส่วนเงินเดือนที่ได้ก่อนหน้าเศรษฐกิจจะถดถอยลงอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

คนหนึ่งๆ อาจมีเงินเดือน รวมค่าทำงานล่วงเวลา (OT) 20,000- 25,000 บาท แบ่งให้พ่อแม่เดือนละ 5,000 บาท ใช้เป็นค่ารถ ค่าเดินทาง ค่ากินอยู่ส่วนตัว และส่งคืนเงินกองทุน ก็อาจจะอยู่ได้อย่างสบายๆ

แต่ทุกวันนี้ข้าวของขายไม่ได้ บริษัทยกเลิกเงินโอที และรายได้อื่นๆ เงินเดือนจริงๆอาจเหลือเพียง 15,000 บาทแบ่งให้พ่อแม่เหมือนเดิม แล้วกันเงินไปใช้หนี้รัฐด้วย ต้องจัดว่า อยู่อย่างเหนื่อยยากพอสมควร

ถ้าหากกระทรวงการคลังไม่พิจารณาปรับลดหรือตัดหนี้ให้บ้าง หรือรัฐบาลกับกระทรวงศึกษาธิการไม่มีนโยบายปรับปรุงมาตรฐาน และระบบการศึกษาไปในทิศทางที่เยาวชนไทยทุกคนไม่จำเป็นต้องจบปริญญาตรี

เรียนแค่ ปวส. หรือ ปวช.ที่เน้นหนักไปในสายวิชาชีพเหมือนที่เคยเป็นมาในอดีต โดยรัฐบาลอุดหนุนเครื่องไม้เครื่องมือที่ทันสมัย เหมาะกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปทั้งในเรื่องของปัญญาประดิษฐ์ (AI) ระบบรถไฟความเร็วสูง รถยนต์ที่ใช้ไฟฟ้าแทนน้ำมันเชื้อเพลิงหรือแก๊ส และมีค่าเล่าเรียนที่ต่ำลง

ก็น่าจะเป็นการแก้ปัญหาที่ยั่งยืน ถูกต้อง และเหมาะสมกับโลกยุคใหม่ที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วมากกว่า ขณะเดียวกันเยาวชนหลายคนก็ไม่ต้องกลายเป็นพวกหนี้สินล้นพ้นตัวตั้งแต่ยังเยาว์วัยอยู่.

แสงทิพย์ ยิ้มละมัย