กรมศิลปากรเผยการแสดงมหรสพสมโภชในงานออกพระเมรุ ใช้ผู้แสดงกว่า 3 พันชีวิต จัดเต็มชุดใหญ่เพื่อให้สม พระเกียรติสูงสุด โดยใน วันออกพระเมรุจะมีการถ่ายทอดสดการแสดงไปทั่วโลก ด้านผู้เข้าถวายสักการะพระบรมศพยังมีเดินทางมาอย่างต่อเนื่องทุกวันเหลือเวลาอีกกว่า 4 เดือน จะถึงงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เร่งระดมดำเนินงานพระราชพิธีในด้านต่างๆอย่างขะมักเขม้น

ที่โรงละครแห่งชาติ เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 7 มิ.ย. นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รมว.วัฒนธรรม แถลงข่าวการแสดงมหรสพสมโภชในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระ ปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ว่า กระทรวงโดยสำนักการสังคีต กรมศิลปากร ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลจัดการแสดงมหรสพสมโภชงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพตามแบบแผนโบราณราชประเพณี โดยใช้ผู้แสดงรวมทั้งสิ้น 3,084 คนมีกรมศิลปากรเป็นแม่งาน และมีศิลปินหลายสาขาต้องการมีส่วนร่วมแสดงความจงรักภักดีต่อรัชกาลที่ 9 ในฐานะที่ทรงเป็นองค์ “อัครศิลปิน” ขณะนี้ได้เริ่มฝึกซ้อมการแสดงแล้วและซ้อมใหญ่ในวันที่ 16-20 ต.ค. ที่วิทยาลัยนาฏศิลป์ ศาลายา จ.นครปฐม ในวันที่ 26 ต.ค. ซึ่งเป็นวันออกพระเมรุมาศจะมีการถ่ายทอดสดการแสดงออกไปทั่วโลก

นายอนันต์ ชูโชติ อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวว่า การจัดแสดงมหรสพสมโภชงานออกพระเมรุ ประกอบด้วย การแสดงโขนเรื่องรามเกียรติ์ ชุดพระรามข้ามสมุทร-ยกรบ รำลึกพระมหากรุณาธิคุณ จัดแสดงบริเวณพระที่นั่งทรงธรรม หน้าพระเมรุมาศ ส่วนการแสดงมหรสพเวทีกลางแจ้ง ที่สนามหลวงด้านทิศเหนืออีก 3 เวที ประกอบด้วย เวทีที่ 1 การแสดงหนังใหญ่เบิกหน้าพระและการแสดงโขนรามเกียรติ์ แบ่งเป็น 3 ส่วน คือ ส่วนแรกเป็นการแสดงหนังใหญ่ ชุดจับลิงหัวค่ำ ส่วนที่ 2 การแสดงโขนหน้าจอ และโขนชักรอก เรื่องรามเกียรติ์ ชุดพระรามข้ามสมุทร ชุดศึกทศกัณฐ์ครั้งแรก ทัพสิบขุนสิบรถ ชุดท้าวมาลีวราชว่าความ ชุดนางมณโฑหุงน้ำทิพย์ ชุดศึกทศกัณฐ์ขาดเศียรขาดกร และชุดสีดาลุยไฟ พระรามคืนนคร ส่วนที่ 3 การแสดงโขนหน้าจอและโขนชักรอก เรื่องรามเกียรติ์ ชุดรามาวตาร ทศกัณฐ์รบสดายุ หนุมานถวายพล พิเภกสวามิภักดิ์ เป็นการแสดงของโขนพระราชทานของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ โดยใช้ผู้แสดงจำนวน 1,420 คน

อธิบดีกรมศิลปากรกล่าวด้วยว่า เวทีที่ 2 แสดงละครเรื่องพระมหาชนก แสดงหุ่นหลวง ตอนหนุมานเข้าห้องนางวานรินทร์ การแสดงหุ่นกระบอกเรื่องพระอภัยมณี ตอนกำเนิดสุดสาครจนถึงเข้าเมืองการะเวก รำกิ่งไม้เงินทอง ละครใน เรื่องอิเหนาตอนบุษบาชมศาล-อิเหนาตัดดอกไม้-ฉายกริช-ท้าวดาหาบวงสรวง ละครเรื่องมโนห์รา เวทีที่ 3 การบรรเลงดนตรีสากล “ธ คือ ดวงใจไทยทั่วหล้า” เป็นการบรรเลงและขับร้องเพลงพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เพลงเทิดพระเกียรติ บทเพลงที่ประพันธ์ขึ้นเพื่อแสดงความอาลัย โดยมีวงดนตรี อ.ส.วันศุกร์ วงสหายพัฒนา โรงเรียนราชินี วงดนตรี 4 เหล่าทัพ วงดนตรีสถาบันกัลยาณิวัฒนา กองสวัสดิการ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมประชาสัมพันธ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเข้าร่วมด้วย ทั้ง 3 เวทีจะเริ่มแสดงตั้งแต่ 18.00 น. วันที่ 26 ต.ค.-06.00 น. เช้าวันที่ 27 ต.ค. การแสดงของทุกเวทีจะหยุดเมื่อมีพระราชพิธีบนพระเมรุมาศ

ส่วนบรรยากาศที่ท้องสนามหลวง พสกนิกรจากทั่วประเทศยังคงเดินทางมากราบพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชอย่างต่อเนื่อง โดยในวันนี้มีชาวไทยภูเขาเผ่าลีซอ มูเซอและกะเหรี่ยง 100 คนจาก จ.เชียงใหม่ เข้ากราบพระบรมศพ ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ที่รัชกาลที่ 9 ทรงมีต่อชาวไทยภูเขา
นายมนัส เลายี่ปา อายุ 44 ปี ชาวไทยภูเขาเผ่าลีซอ กล่าวถึงความรู้สึกที่ได้เข้าถวายสักการะพระบรมศพรัชกาลที่ 9 ว่า ทุกคนในหมู่บ้านสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงมีต่อชาวไทยภูเขาอย่างหาที่สุดมิได้ แม้ว่าพระองค์ไม่เคยเสด็จมาด้วยพระองค์เอง แต่ทรงจัดตั้งโครงการพระราชดำริต่างๆ ทรงให้ความรู้โดยเฉพาะหลักปรัชญาพอเพียง ที่พวกตนนำมาใช้ในหมู่บ้านตามวิถีชนเผ่า สามารถอยู่ได้ด้วยตัวเอง นอกจากนี้ ยังช่วยเป็นหูเป็นตาคอยเฝ้าระวังเรื่องการลักลอบตัดไม้ทำลายป่า ป้องกันยาเสพติดเข้าประเทศ ตอบแทนพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงมีต่อพวกเรา

ส่วนที่เต็นท์กองอำนวยการร่วมกรุงเทพมหานคร ด้านทิศเหนือสนามหลวง ช่วงบ่าย พล.ต.สันติพงศ์ ธรรมปิยะ รองแม่ทัพภาคที่ 1 ในฐานะรอง ผอ.กอร.รส. พร้อมด้วย พล.ต.ท.อำนวย นิ่ม–มะโน รองผู้ว่าฯ กทม. รับมอบข้าวสาร 30 ตัน จากกรมเจ้าท่าและสมาคมผู้ประกอบการทางน้ำ เพื่อนำไปประกอบอาหารเลี้ยงประชาชนที่มาเข้ากราบพระบรมศพ