รมว.วัฒนธรรม เผย การแสดงมหรสพสมโภชในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ ขณะนี้เตรียมการใช้นักแสดง 3,084 คน โดยจะมีการซ้อมใหญ่ 16-20 ต.ค. ก่อนจะแสดงจริง 26 ต.ค.นี้...
 
เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 7 มิ.ย.60 ที่โรงละครแห่งชาติ นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รมว.วัฒนธรรม แถลงข่าวการแสดงมหรสพสมโภชในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ว่า กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) โดยสำนักการสังคีต กรมศิลปากร ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลจัดการแสดงมหรสพสมโภชงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพตามแบบแผนโบราณราชประเพณี โดยใช้ผู้แสดงจากนาฏศิลปิน สำนักการสังคีต นักเรียน นักศึกษา วิทยาลัยนาฏศิลป 12 แห่งทั่วประเทศ สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ และคณะศิลปิน รวมทั้งสิ้น 3,084 คน การจัดแสดงมหรสพสมโภชครั้งนี้ กรมศิลปากร เป็นแม่งานและกำหนดแนวทางจัดแสดงแต่ละเวที โดยมีศิลปินหลายสาขาต้องการมีส่วนร่วมเพื่อแสดงความจงรักภักดี ต่อในหลวง รัชกาลที่ 9 ในฐานะที่ทรงเป็นองค์อัครศิลปิน

รมว.วัฒนธรรม กล่าวอีกว่า ขณะนี้ ได้มีการเริ่มฝึกซ้อมการแสดงแล้ว และจะมีการซ้อมใหญ่ในวันที่ 16-20 ต.ค.นี้ ที่วิทยาลัยนาฏศิลป ศาลายา จ.นครปฐม และในวันที่ 26 ต.ค. ซึ่งเป็นวันออกพระเมรุมาศ จะมีการถ่ายทอดสดการแสดงออกไปทั่วโลก ดังนั้นทุกฝ่ายจึงพร้อมใจสานภารกิจนี้ ให้มีความสมบูรณ์ ครบถ้วน และสมพระเกียรติที่สุด ทั้งนี้ ตนจะนำเรื่องการแสดงมหรสพทั้งหมดรายงานต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการอำนวยการจัดงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพฯ จากนั้นนายกรัฐมนตรี จะนำความกราบบังคมทูลต่อไป

ด้าน นายอนันต์ ชูโชติ อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวว่า การจัดการแสดงมหรสพสมโภช ในงานออกพระเมรุมาศ ประกอบด้วย การแสดงโขน เรื่องรามเกียรติ์ ชุดพระรามข้ามสมุทร–ยกรบ รำลึกพระมหากรุณาธิคุณ ซึ่งจัดแสดง บริเวณพระที่นั่งทรงธรรม หน้าพระเมรุมาศ โดยมีผู้แสดง ผู้พากย์ – เจรจา ผู้บรรเลง ขับร้อง และผู้เกี่ยวข้องจำนวน 300 คน ขณะเดียวกัน มีการแสดงมหรสพในเวทีกลางแจ้ง บริเวณสนามหลวงด้านทิศเหนือ อีก 3 เวที ประกอบด้วย เวทีที่ 1 การแสดงหนังใหญ่เบิกหน้าพระ และการแสดงโขนรามเกียรติ์ แบ่งเป็น 3 ส่วน คือ ส่วนแรก เป็นการแสดงหนังใหญ่ ชุดจับลิงหัวค่ำ ส่วนที่ 2 การแสดงโขนหน้าจอ และโขนชักรอก เรื่องรามเกียรติ์ ชุดพระรามข้ามสมุทร ชุดศึกทศกัณฐ์ครั้งแรก ทัพสิบขุนสิบรถ ชุดท้าวมาลีวราชว่าความ ชุดนางมณโฑหุงน้ำทิพย์ ชุดศึกทศกัณฐ์ขาดเศียรขาดกร และชุดสีดาลุยไฟ พระรามคืนนคร และ ส่วนที่ 3 การแสดงโขนหน้าจอ และโขนชักรอก เรื่องรามเกียรติ์ ชุดรามาวตาร ทศกัณฐ์รบสดายุ หนุมานถวายพล พิเภกสวามิภักดิ์ เป็นการแสดงของโขนพระราชทานของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ โดยใช้ผู้แสดงจำนวน 1,420 คน

อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวด้วยว่า ส่วนเวทีที่ 2 ประกอบด้วย การแสดงละครเรื่องพระมหาชนก การแสดงหุ่นหลวง ตอนหนุมานเข้าห้องนางวานรินทร์ การแสดงหุ่นกระบอก เรื่องพระอภัยมณี ตอนกำเนิดสุดสาครจนถึงเข้าเมืองการะเวก รำกิ่งไม้เงินทอง ละครใน เรื่องอิเหนา ตอนบุษบาชมศาล– อิเหนาตัดดอกไม้ – ฉายกริช – ท้าวดาหาบวงสรวง และละคร เรื่องมโนห์รา ใช้ผู้แสดง 422 คน สำหรับเวที ที่ 3 การบรรเลงดนตรีสากล “ธ คือ ดวงใจไทยทั่วหล้า” เป็นการบรรเลงและขับร้องเพลงพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เพลงเทิดพระเกียรติ บทเพลงที่ประพันธ์ขึ้นเพื่อแสดงความอาลัย โดยมีวงดนตรี อ.ส.วันศุกร์ วงสหายพัฒนา โรงเรียนราชินี วงดนตรี 4 เหล่าทัพ วงดนตรีสถาบันกัลยาณิวัฒนา กองสวัสดิการ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมประชาสัมพันธ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เข้าร่วมด้วย รวมผู้แสดงทั้งหมด 942 คน ซึ่งทั้ง 3 เวทีจะเริ่มแสดงตั้งแต่ 18.00 น. ของวันที่ 26 ต.ต. จนถึงเวลา 06.00 น. ของเช้าวันที่ 27 ต.ค. และการแสดงของทุกเวทีจะหยุดการแสดงเมื่อมีพระราชพิธีบนพระเมรุมาศ.