“...แวดวงชีวิตของฉันแต่ไหนแต่ไรมามีอยู่สองประการคือ วงการวิชาการ แวดวงของครูบาอาจารย์ ผู้รู้ในสาขาวิชาต่างๆ ทั้งในสายศิลปวัฒนธรรมและเทคโนโลยี กับอีกวงการคือ เรื่องของการพัฒนาสังคมให้เจริญก้าวหน้า งานที่เห็นพ่อแม่ทำมาตลอดตั้งแต่รู้ความคือ การทำให้ผืนแผ่นดินและทุกคนในแผ่นดินมีความเจริญรุ่งเรือง เน้นหนักในการช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาส ผู้ที่มีความทุกข์ยาก เราคลุกคลีอยู่กับคนที่ลำบากยากแค้น หาทางบรรเทาความเดือดร้อนของคน...การเรียนรู้จักบุคคลต่างๆ สรรพวิทยาที่ได้พบ ให้เวลาเป็นพันเป็นหมื่นปีก็ยังไม่พอจะเรียนรู้ได้ทัน ชีวิตเราคงไม่ถึงร้อยปี ทุกๆวันที่ผ่านมาก็มีความตื่นตาตื่นใจที่อยากไขว่คว้าแสวงหา ข้าพเจ้าจึงพยายามทำความเข้าใจกับเรื่องราวต่างๆที่ได้พบเห็น ได้ยินคำบอกเล่าอ่านจากหนังสือ...” พระราชดำรัสดังกล่าวใน “สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี” สะท้อนได้เป็นอย่างดีถึงความมุ่งมั่นและใส่พระทัยในการเรียนรู้อย่างไม่หยุดยั้ง เพื่อนำวิชาความรู้ทั้งหลายที่ศึกษาเล่าเรียนมาบำเพ็ญพระองค์ให้เป็นประโยชน์แก่ชาติบ้านเมือง
ตั้งแต่ยังทรงแบเบาะก็ได้ทรงสัมผัสและซึมซับภาพการทรงงานหนักเพื่ออาณาประชาราษฎร์ของ “พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร” และ “สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง” โดยขณะที่มีพระชนมายุ 6 เดือน ทูลกระหม่อมพ่อและสมเด็จแม่เพิ่งเริ่มต้นพระราชภารกิจสำคัญคือ การเสด็จฯทรงเยี่ยมราษฎรอย่างเป็นทางการทั่วประเทศ โดยเริ่มจากการเสด็จเยือน 13 จังหวัดในภาคอีสาน เป็นเวลา 20 วัน ตามด้วยการเสด็จฯไปยังภาคเหนือ 10 จังหวัด และภาคใต้ 13 จังหวัด
แวดวงชีวิตของพระองค์ที่คลุกคลีผูกพันกับวงการวิชาการ และครูบาอาจารย์ เริ่มต้นขึ้นโดยมีสมเด็จแม่ทรงเป็น “ครู” พระองค์แรก ทรงเล่าไว้ในบทพระราชนิพนธ์ตอนหนึ่งว่า “...เวลาไหนที่พอจะมีเวลา ไม่มีพระราชกิจ สมเด็จแม่ทรงใช้เวลาไปในการอบรมพวกเราเสมอ การอบรมทรงมีมาตรการหลายอย่างที่ได้ผล สมเด็จแม่ทรงสอนให้รู้จักอดทนและภูมิใจที่ได้ช่วยเหลือพี่น้องร่วมชาติที่ด้อยโอกาส และมีความละอายใจถ้าไม่สามารถปฏิบัติตามหน้าที่ได้...”
ในด้านพระพลานามัย พระองค์ทรงได้รับการดูแลอย่างมีระบบ เช่น ต้องทรงพระดำเนินไปโรงเรียนเพื่อออกกำลังพระวรกาย ในวันหยุดหรือเวลาบ่ายที่แสงแดดอ่อน ต้องเสด็จออกไปประทับกลางแจ้ง เพื่อรับอากาศบริสุทธิ์ ต้องฝึกกีฬาหลายด้าน ทั้งทรงแบดมินตัน, ทรงว่ายน้ำ และทรงม้า เวลาทอดพระเนตรโทรทัศน์จะต้องทรงงานที่เป็นประโยชน์ไปด้วย เช่น เขียนรูป, ถักไหมพรม และปักผ้า
ตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ พระองค์ทรงได้รับการสอนทั้งภาษาไทย, ภาษาอังกฤษ, พุทธศาสนา และดนตรี จากสมเด็จแม่ โดยทรงสอนให้อ่านวรรณคดีไทยและหนังสือภาษาอังกฤษ, ทรงจดและทรงท่องคำศัพท์, ทรงเปียโน, ทรงสวดมนต์ และทรงอ่านหนังสือพุทธศาสนา ส่วนการศึกษาในสถานศึกษา ขณะมีพระชนมายุ 3 พรรษา ทรงเริ่มต้นระดับอนุบาล ที่โรงเรียนจิตรลดา ทรงสำเร็จการศึกษาชั้นประถมตอนปลายในปี 2510 และชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย แผนกศิลปะ ในปี 2515
ตลอดระยะเวลาที่ทรงศึกษาตั้งแต่ระดับอนุบาลจนถึงมัธยมศึกษา ทรงพระปรีชาสามารถยิ่ง ไม่เฉพาะแต่ด้านวิชาการ เช่น ภาษาไทย, ภาษาต่างประเทศ, ภูมิศาสตร์ และประวัติศาสตร์ หากยังทรงพระปรีชาสามารถด้านกีฬาและศิลปะด้วย พระองค์โปรดการทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกับพระสหายอย่างสม่ำเสมอ ทรงดำรงตำแหน่งกรรมการนักเรียน, ทรงเป็นประธานห้องสมุด และประธานนักเรียนหญิง พระราชจริยวัตรประการหนึ่ง ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีคือ โปรดการอ่าน และการสะสมหนังสือที่มีคุณค่า ทั้งด้านร้อยแก้วร้อยกรอง ทรงเริ่มหัดแต่งโคลงกลอนตั้งแต่ทรงศึกษาอยู่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 และเริ่มมีพระราชนิพนธ์พิมพ์เผยแพร่เมื่อมีพระชนมายุเพียง 12 พรรษา ขณะทรงศึกษาชั้นประถมศึกษาปีที่ 7 มีบทพระราชนิพนธ์มากมายได้รับการตีพิมพ์ในหนังสือหลายเล่ม
หลังจากทรงสำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนจิตรลดาแล้ว ได้ทรงเข้าศึกษาต่อปริญญาตรี ที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในปี 2516 ทรงเป็นสมเด็จเจ้าฟ้าพระองค์แรกที่ทรงเข้ารับการศึกษาระดับอุดมศึกษา ณ มหาวิทยาลัยในประเทศ ทรงเลือกเรียนวิชาประวัติศาสตร์เป็นวิชาเอก วิชาโทภาษาไทยและภาษาบาลี-สันสกฤต
ในฐานะคณบดีประจำคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ในยุคนั้น “ศาสตราจารย์กิตติคุณ ไพฑูรย์ พงศะบุตร” ถ่ายทอดความทรงจำว่า ตอนที่พระองค์เสด็จเข้าศึกษาที่คณะอักษรศาสตร์ ปี 2516 ผมดำรงตำแหน่งเป็นคณบดี จึงมีโอกาสได้ทำความรู้จักคุ้นเคยกับพระองค์ ในฐานะอาจารย์กับศิษย์ มีอะไรหลายอย่างที่ประทับใจในพระปรีชาสามารถ และพระจริยวัตรอันงดงาม ผมจำได้ว่า ในวันแรกที่เสด็จฯมาที่คณะเพื่อทรงเข้าชั้นเรียน ทรงชุดเครื่องแบบนิสิตใหม่ ไว้พระเกษาเปีย มีคณาจารย์และนิสิตไปยืนรับเสด็จ พระองค์มีพระพักตร์ยิ้มแย้ม ทรงไหว้คณาจารย์ตามธรรมเนียมของศิษย์ นับเป็นความปลื้มปีติของชาวอักษรฯที่มี “เจ้าฟ้า” มาทรงศึกษาอยู่ในคณะ
พระองค์ทรงพระวิริยอุตสาหะและพระปรีชาสามารถในการศึกษาเล่าเรียนยิ่ง แม้ว่าทรงมีเวลาเรียนน้อยกว่านิสิตอื่นๆ เนื่องจากต้องตามเสด็จฯพระเจ้าอยู่หัวทรงเยี่ยมราษฎรตามภูมิภาคต่างๆ และต้องทรงใช้เวลาขณะประทับในรถยนต์หรือเครื่องบินพระที่นั่งศึกษาคำบรรยายของคณาจารย์จากกระดาษสำเนาและเทปบันทึกเสียง แต่ก็ทรงทำคะแนนได้ดีเยี่ยมตลอดระยะเวลา 4 ปี ทรงได้รับพระราชทานปริญญาอักษรศาสตรบัณฑิต (เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง) อีกทั้งยังทรงได้รับรางวัลเหรียญทองในฐานะบัณฑิตที่สอบได้คะแนนเป็นที่หนึ่งของชั้น
กระนั้น ถึงแม้จะทรงเอาพระทัยใส่ในการเรียนเต็มที่ แต่พระองค์ก็มิได้ทรงละเลยการใช้ชีวิตนิสิตในมหาวิทยาลัย ทรงร่วมกิจกรรมต่างๆที่ทรงสนพระทัยมากเท่าที่ทรงมีเวลาว่าง เช่น ร่วมการซ้อมร้องเพลงเชียร์ของคณะและมหาวิทยาลัย, การเล่นกีฬา, การเป็นสมาชิกชมรมดนตรีไทย และชมรมวรรณศิลป์ ตลอดจนการทำวารสารทางวิชาการของนิสิตในคณะ นับว่าทรงใช้ชีวิตการเป็นนิสิตอย่างคุ้มค่า ทรงมีเพื่อนนิสิตทั้งในคณะและต่างคณะ เมื่อตอนที่ทรงศึกษาระดับปริญญาตรี ทรงสนพระทัยในสาขาวิชาประวัติศาสตร์และภาษาไทยมาก แต่ก็ทรงศึกษาวิชาอื่นๆตามที่กำหนดไว้ในหลักสูตร ความรู้ที่ทรงได้รับจากการศึกษาได้นำมาใช้ประโยชน์นานัปการในการประกอบพระราชกรณียกิจในเวลาต่อมา
สิ่งที่น่าชื่นชมยิ่งก็คือ พระองค์ยังทรงสนพระทัยศึกษาด้านแผนที่และภูมิศาสตร์การเกษตรด้วย เพื่อนำไปพัฒนาประเทศ หากทรงสนพระทัยในเรื่องใดแล้ว ก็จะทรงศึกษาค้นคว้าด้วยพระองค์เองจนเข้าใจถ่องแท้ดังจะเห็นได้จากการศึกษาหาความรู้ด้านภาษาจีน และภาษาเยอรมัน ตลอดจนสารสนเทศภูมิศาสตร์ และการแปลความหมายภาพถ่ายดาวเทียม ความรู้เหล่านี้ไม่เคยได้ทรงศึกษาขณะเป็นนิสิต แต่มาทรงศึกษาภายหลังทั้งสิ้น โดยไม่ว่าจะเสด็จฯไปที่ใด ก็จะทรงจดบันทึกลงในสมุดอย่างละเอียดทุกแง่ทุกมุม
ความผูกพันที่ทรงมีต่อคณะอักษรศาสตร์และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ยังคงเป็นไปอย่างเสมอต้นเสมอปลาย โดยทุกปีพระองค์ยังคงเสด็จฯร่วมงานวันสถาปนามหาวิทยาลัย และวันเกิดของคณะ หากไม่ทรงติดพระราชภารกิจอื่น บ่อยครั้งยังเสด็จทรงร่วมงานสังสรรค์ของสมาคมนิสิตเก่าอักษรศาสตร์ นับว่าทรงเป็นนิสิตเก่าที่ “ไม่รู้ลืมบูชา พระคุณของแหล่งเรียนมา” สมดังเนื้อร้องในเพลงมหาจุฬาลงกรณ์ พระองค์ได้พระราชทานพระราชูปถัมภ์ไว้หลายด้าน รวมถึงการจัดตั้งกองทุนบรมราชกุมารี เพื่อระดมทุนส่งเสริมการพัฒนาวิชาการของคณะอักษรศาสตร์
ในฐานะนิสิตเก่าอักษรศาสตร์ดีเด่น ทรงเป็นแบบอย่างของศิษย์เก่าที่ดี แม้จะจบการศึกษาไปนานแล้ว ก็ยังทรงให้ความเคารพยกย่องแก่ครูบาอาจารย์ทุกคน พระองค์ได้พระราชทานความช่วยเหลือเกื้อกูลแก่อาจารย์ทุกคนยามเจ็บป่วย และทรงเป็น “วโรตมศิษย์” โดยแท้ ทรงใช้ความรู้จากการศึกษาเล่าเรียนไปประกอบพระราชภารกิจต่างๆที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนชาวไทย และกระทั่งถึงทุกวันนี้ ก็ยังทรงไม่หยุดยั้งที่จะไขว่คว้าแสวงหาความรู้ใหม่ๆเพื่อทรงบำเพ็ญพระองค์เป็นประโยชน์แก่ชาติบ้านเมืองอย่างอเนกอนันต์
ในโอกาสวันคล้ายวันพระราชสมภพ 2 เมษายน ศกนี้ ขอน้อมเกล้าฯ ถวายพระพรทรงพระเกษมสำราญและทรงพระเจริญยิ่งยืนนานเทอญ.
ทีมข่าวหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ
อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่