เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 90 พรรษา 12 สิงหาคม 2565 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง สหพันธ์สมาคมสตรีนักธุรกิจและวิชาชีพแห่งประเทศไทยฯ หรือ สสธวท. ได้จัดงานกาลาดินเนอร์ “สยามพัสตรา ภูษาสง่าศิลป์ เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๙๐ พรรษา ๑๒ สิงหาคม ๒๕๖๕” เพื่อเฉลิมพระเกียรติที่ทรงพัฒนาส่งเสริมงานหัตถศิลป์ไทย ซึ่งเป็นมรดกทางภูมิปัญญาของไทยให้เป็นที่แพร่หลายทั้งในประเทศและต่างประเทศ ที่ห้องแกรนด์บอลรูม โรงแรมแกรนด์ ไฮแอท เอราวัณ กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 30 พ.ค.ที่ผ่านมา

ในการนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ได้เสด็จฯทรงเป็นองค์ประธานในงาน โดยทรงฉลอง พระองค์ในชุดผ้าไทยที่งดงามในโทนสีฟ้าทั้ง 2 พระองค์ เมื่อเสด็จฯมาถึงได้ทอดพระเนตรนิทรรศการผ้าไทย ส่วนที่ 1 นิทรรศการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และพระราชกรณียกิจอันเกี่ยวเนื่องกับผ้าไทย ส่วนที่ 2 จัดแสดงประวัติความเป็นมาของสหพันธ์สมาคมสตรีนักธุรกิจและวิชาชีพแห่งประเทศไทยฯ และองค์กรสมาชิกและการดำเนินงานและผลงานที่โดดเด่นด้านต่างๆ ก่อนเสด็จฯเข้าสู่ภายในงาน และโอกาสนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานเข็มที่ระลึกแก่ผู้สนับสนุนการจัดงานฯ และผู้เป็นต้นแบบสนับสนุนการใช้ผ้าไทย “90 ต้นแบบ สยามพัสตรา ภูษาสง่าศิลป์” พร้อมทอดพระเนตรการแสดงแฟชั่นโชว์ชุดผ้าไทย

คุณหญิงณัฐิกา วัธนเวคิน อังอุบลกุล ประธาน สสธวท. และแม่งานคนสำคัญและเป็นหนึ่งในต้นแบบผู้ใช้ผ้าไทย เปิดเผยว่า จุดเริ่มต้นที่มาสวมชุดผ้าไทยมาจากการเข้ามาช่วยคุณแม่ทำงานที่สภาสตรีฯ ตอนที่เรียนจบปริญญาโทใหม่ๆ ซึ่งได้ไปช่วยส่งเสริมให้ชาวบ้านทอผ้าเสริมรายได้ เมื่อส่งเสริมเขาแล้วก็ต้องช่วยเขาขาย ต้องไปหาตลาด ตอนนั้นไม่มีใครซื้อสักคน นึกไปนึกมา เราเองยังไม่ได้ใส่เราจะไปบอกคนอื่นให้ใส่ได้อย่างไร จึงนำผ้าไทยมาตัดใส่ ตั้งแต่นั้นมาจนปัจจุบันเกือบ 40-50 ปีแล้ว ซึ่งใส่ไปไหนมีคนชมว่าสวยแปลก แล้วเราเองก็เล่าเรื่องวัฒนธรรมที่มาที่ไปของผ้าจนกลายเป็นนิทรรศการผ้าไทยเคลื่อนที่ไปแล้ว ผ้าไทยปัจจุบันพัฒนาไปเยอะมาก การดูแลรักษาง่ายขึ้นเยอะ แล้วขณะเดียวกัน แบบลวดลายพยายามพัฒนาให้โมเดิร์นมาก ที่สำคัญคือเอานวัตกรรมมาเสริมเลยใส่ง่ายขึ้นเยอะ การใส่เสื้อผ้าไทย เงินที่ใช้ไปมันลงไปถึงรากหญ้า ก็อยากให้ช่วยกันอนุรักษ์ไว้

อีกหนึ่งคนต้นแบบ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และสมเด็จพระบรมราชินี สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ที่ทรงพยายามให้พวกเราเห็นความสำคัญของการพัฒนาคุณภาพชีวิตของพี่น้องคนไทย โดยเฉพาะพี่น้องเกษตรกรจังหวัดต่างๆให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี ควบคู่ไปกับการรักษาภูมิปัญญาผ้าไทย เลยคิดว่าพวกเราน่าจะช่วยกันสนองพระราชปณิธานด้วยการสวมใส่ผ้าไทย ตนก็ใส่มาตั้งนานแล้ว ใส่แล้วชอบ รู้สึกสบายดี ไม่ต้องยุ่งยาก ไม่ต้องหยิบอุปกรณ์เครื่องเคราหลายชุดเหมือนชุดฝรั่งตะวันตก แล้วสามารถใส่ได้ทุกโอกาส ได้เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยอุดหนุนเสื้อผ้าไทย ทุกบาททุกสตางค์หมุนกลับไปที่พี่น้องคนไทย โดยเฉพาะพี่น้องในชนบท ให้เขามีโอกาสนำรายได้ที่มาจากน้ำพักน้ำแรงไปพัฒนาคุณภาพชีวิต ส่งลูกหลานเรียน ในขณะที่เราซื้อเสื้อผ้าจากแบรนด์ดังๆ มันไม่ได้ช่วยคนไทยด้วยกัน การสวมใส่ผ้าไทยให้อะไรที่มากกว่าที่คนทั่วไปเข้าใจ

และคนรุ่นใหม่ที่เป็นต้นแบบของการสวมชุดผ้าไทย อย่าง อมตา จิตตะเสนีย์ หรือ แพรี่พาย บอกว่า ตลอดระยะเวลา 4-5 ปีที่ผ่านมา แพรให้ความสนใจลงพื้นที่เรียนรู้เรื่องของสิ่งแวดล้อมและผ้าไทยในจังหวัดต่างๆอย่างจริงจัง คำถามจึงเกิดขึ้นในใจว่า ตั้งแต่เมื่อไหร่กันที่คนไทยไม่นิยมใส่ผ้าพื้นเมืองและใช้ของท้องถิ่นเท่าไร เราเองก็เคยเป็นหนึ่งในนั้นที่ไม่รู้จักผ้าไทย ไม่มีความเชื่อมโยงกับรากเหง้าของความเป็นไทยเลยสักนิด แต่ตอนนี้เราเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง เราเป็นคนไทยคนหนึ่งที่อยากจะอนุรักษ์และสืบสานผ้าไทย ให้คนไทยได้ภูมิใจว่าเรามีศิลปวัฒนธรรมอันงดงามเป็นของตนเอง เสน่ห์ของผ้าไทยคือความเป็นหนึ่งเดียวในโลก เป็นความภูมิใจที่ได้ครอบครองศิลปะบนผืนผ้าที่ไร้ขีดจำกัด ผ้าไทยของแต่ละท้องถิ่นมีความงาม มีอัตลักษณ์ที่แตกต่างกัน แต่ละลวดลายแสดงออกถึงภูมิปัญญาท้องถิ่นของแต่ละชุมชนที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษ ผ้าแต่ละผืนมีเรื่องเล่าและความเป็นมา ยิ่งถ้าเราได้ฟังเรื่องราวของผ้า บวกกับได้ไปเห็นกับตาว่าผ้าแต่ละผืนถูกผลิตอย่างไร มันสุดยอดมากจริงๆ ไม่เหมือนใครเลย สิ่งนี้ทำให้เราหลงรักและภูมิใจทุกครั้งที่ได้สวมใส่ผ้าไทย.