“ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เป็นองค์กรที่ข้าพเจ้าตั้งใจจัดตั้งขึ้นเพื่อถวาย “พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร” ตามพระราชปณิธานที่ทรงมุ่งหวังให้ประชาชนมีสุขภาพที่ดี และมีคุณภาพชีวิตที่ได้มาตรฐาน โดยราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์จะเป็นศูนย์กลางการเรียนการสอนและการวิจัย ที่จะสร้างบัณฑิต และพัฒนาบุคลากรทางการแพทย์ วิทยาศาสตร์ สาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม ที่มีจิตในการทำประโยชน์ให้ผู้อื่นก่อนคิดถึงประโยชน์ของตัวเองพร้อมบริการสังคม ด้วยความรู้ ความชำนาญ คุณธรรมจริยธรรม จิตอาสา ความมุ่งมั่นและด้วยความเป็นเลิศในวิชาชีพ เพื่อทุกชีวิตในสังคม
อีกทั้งเป็นสถาบันที่ให้บริการทางการแพทย์ด้วยมาตรฐานสากลแก่ประชาชนอย่างไม่หวังผลกำไร โดยเฉพาะผู้ที่ยากไร้และด้อยโอกาส เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทยทั้งประเทศ” นี่คือพระปณิธานแน่วแน่ของ “ศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรี สวางควัฒน วรขัตติยราชนารี” องค์ประธานราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ และองค์ประธานกรรมการมูลนิธิภัทรมหาราชานุสรณ์ ในพระอุปถัมภ์ฯ
ด้วยพระปรีชาสามารถและพระวิสัยทัศน์กว้างไกลที่จะนำวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีทางการแพทย์มาใช้ในการพัฒนายกระดับคุณภาพชีวิตและดูแลสุขอนามัยแก่ประชาชน “สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี” มีพระดำริให้โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ขยายบริการรักษาพยาบาลจากเฉพาะโรคมะเร็งให้ครอบคลุมการรักษาทุกโรคในปี 2558 และพัฒนาต่อยอดสู่การเป็นวิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ สถาบันการศึกษาวิจัย และสถาบันการแพทย์ชั้นนำของภูมิภาค
อีกทั้งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์จัดสร้างสถาบันการแพทย์แห่งใหม่ของโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ขนาด 400 เตียง และอาคารการเรียนการสอนของวิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ โครงการเฉลิมพระเกียรติ 90 ปี พระบาทสมเด็จ พระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในปี 2560 เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ที่ทรงมีต่อปวงชนชาวไทยตลอดระยะเวลาการครองสิริราชสมบัติ โดยมุ่งหวังให้สถาบันการแพทย์แห่งนี้เป็นสถานพยาบาลของรัฐขนาดใหญ่และวิทยาลัยแพทย์เพื่อพัฒนาค้นคว้าวิจัยสร้างองค์ความรู้ สร้างแพทย์และบุคลากรในด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ พร้อมทั้งช่วยเหลือประชาชนไทยให้ได้รับการรักษาพยาบาลที่มีประสิทธิภาพอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม
ด้วยน้ำพระทัยล้นเหลือได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามให้ศูนย์การแพทย์แห่งนี้ว่า “ภัทรมหาราชานุสรณ์” อันมีความหมายว่า ที่ระลึกถึงพระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นที่รักยิ่ง โดย “สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี” ทรงมีพระกรุณาธิคุณเสด็จพระดำเนินไปเป็นประธานในพิธีวางศิลาฤกษ์ “ศูนย์การแพทย์ภัทรมหาราชานุสรณ์” เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2561 โครงการดังกล่าวจัดสร้างอยู่ภายในศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ ถนนแจ้งวัฒนะ มีกำหนดสร้างแล้วเสร็จ และเปิดให้บริการในปี 2565
นอกจากนี้ ยังมีการจัดตั้ง “มูลนิธิภัทรมหาราชานุสรณ์ ในพระอุปถัมภ์ สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี” เพื่อ เป็นการเทิดทูนและถวายราชสดุดีในพระมหากรุณาธิคุณของ “พระบาท สมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร” ที่ทรงมีต่อพสกนิกรชาวไทย และเพื่อเป็นศูนย์กลางให้ผู้มีจิตศรัทธาจากทุกภาคส่วนได้ร่วมสืบสานพระราชปณิธาน 9 ตามรอยบาท “สมเด็จพระภัทรมหาราช” ในการสนับสนุนภารกิจด้านการแพทย์ของโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ตลอดจนช่วยเหลือผู้ป่วยที่ขาดแคลนและด้อยโอกาสทั่วประเทศ พร้อมทั้งสนับสนุนการศึกษา การค้นคว้าวิจัย การพัฒนาบุคลากรผู้เชี่ยวชาญ ในด้านวิทยาศาสตร์ การแพทย์ และเทคโนโลยีของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ให้เจริญก้าวหน้าทัดเทียมนานาประเทศ
ในโอกาสนี้ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์และมูลนิธิภัทรมหาราชานุสรณ์ฯ จึงได้จัดทำโครงการ “ภัทรมหาราชานุสรณ์” สาน หัวใจสร้างการแพทย์ไทยก้าวไกล เชิญชวน ประชาชนและหน่วยงานต่างๆให้มีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนการสร้างการแพทย์ไทยให้ก้าวไกล และพัฒนาคุณภาพด้านการสาธารณสุขของประเทศไทยให้ก้าวหน้า เพื่อให้คนไทยมีสุขภาพที่ดีไปด้วยกันอย่างยั่งยืน
โดยร่วมสร้างศูนย์การแพทย์ภัทรมหาราชานุสรณ์ ผ่านการร่วมบริจาคสมทบทุนให้มูลนิธิภัทรมหาราชานุสรณ์ พร้อมช่วยบอกต่อโครงการเพื่อต่อยอดการรับรู้ สมทบทุนสนับสนุนการจัดซื้อเครื่องมือแพทย์และวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จำเป็น สำหรับการตรวจวินิจฉัยและรักษาผู้ป่วยในศูนย์การแพทย์ภัทรมหาราชานุสรณ์ ที่จะเปิดให้บริการในปี 2565 รวมทั้งช่วยเหลือผู้ป่วยยากไร้ด้อยโอกาส ตลอดจนสนับสนุนด้านการศึกษา และการค้นคว้าวิจัยของวิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์
ด้วยความมุ่งหวังให้ประชาชนของประเทศและสังคมไทยมีสุขภาวะที่ดีและแข็งแรง พร้อมเป็นกำลังของประเทศต่อไป “สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี” ยังโปรดให้ “มูลนิธิภัทรมหาราชานุสรณ์ ในพระอุปถัมภ์ฯ” จัดหาวัคซีนซิโนฟาร์มเพื่อพระราชทานแก่ 4 หน่วยงาน ได้แก่ กระทรวงสาธารณสุข กรุงเทพมหานคร กรมราชทัณฑ์ และโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ แห่งละ 6,400 โดส รวมทั้งหมด 25,600 โดส เนื่องในโอกาสที่ทรงเจริญพระชนมายุครบ 64 พรรษา วันที่ 4 กรกฎาคม 2564 เพื่อให้แต่ละหน่วยงานนำไปจัดสรรกระจายฉีดให้แก่ประชาชนผู้ด้อยโอกาส ผู้สูงอายุ ผู้พิการ ผู้ที่มีรายได้น้อย และชุมชนในพื้นที่เสี่ยงเป็นกลุ่มแรก
โดยเริ่มให้บริการฉีดตั้งแต่วันที่ 25 มิถุนายน 2564 ทั้งนี้ เพื่อช่วยให้ประชาชนเข้าถึงวัคซีนตัวเลือกซิโนฟาร์ม และได้รับวัคซีนสร้างภูมิคุ้มกันอย่างเร็วที่สุด ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญในการป้องกันและลดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพต่อประเทศชาติ นับเป็นพระกรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้แก่ปวงชนชาวไทย.
ทีมข่าวหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ