“ตอนที่ข้าพเจ้าไปเซิร์นมีประสบการณ์อย่างหนึ่ง คือ เดินสวนกับเด็กกลุ่มเล็กๆ เด็กประถมหรืออนุบาลไม่ทราบ ก็มีผู้ใหญ่คงเป็นครู สงสัยว่าทำไมเขาเอาเด็กเล็กๆมาศึกษาที่เซิร์น เราก็เอาบ้างสิ ไม่รู้จะไปที่ไหนก็ไปที่แสงสยามซินโครตรอน เอานักเรียนชั้นประถมไป คนที่ซินโครตรอนก็รู้สึกแปลกๆ เพราะว่าเคยสอนแต่นักศึกษามหาวิทยาลัย แต่เด็กประถมไม่เคยสอนก็เคยซะ เพราะเด็กประถมก็สนใจมากและทำได้ดี มีเด็กบางคนที่เรียนรู้ได้ก้าวหน้าไปแล้ว ตอนหลังก็ได้แข่งขันทางวิชาการแล้วเด็กประถมเราชุดนี้ก็ไปชนะเด็กมัธยมในระดับนานาชาติด้วย แต่ตอนนี้จัดการแข่งขันไม่ได้เพราะว่ามีโควิด”
พระราชดำรัสสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตน ราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงแสดงปาฐกถาพิเศษเนื่องในโอกาสครบรอบ 20 ปี แห่งความสัมพันธ์ไทย-เซิร์น ตามพระราชดำริฯ และเป็นองค์ประธานเปิดการประชุมวิชาการ สวทช. ประจำปี 2564 ครั้งที่ 16 จัดโดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เมื่อวันที่ 25 มี.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งตรงกับวันครบรอบ 20 ปี นับจากได้เสด็จพระราชดำเนินเยือนองค์การวิจัยนิวเคลียร์ยุโรป (เซิร์น) ซึ่งเป็นองค์การวิจัยด้านฟิสิกส์พลังงานสูงชั้นนำระดับโลก เป็นครั้งแรกเมื่อปี 2543 เนื่องจากทรงสนพระราชหฤทัยในฟิสิกส์อนุภาค ก่อนจะเปิดความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยกับเซิร์นเป็นครั้งแรก เนื่องจากมีพระราชดำริ ว่าหากนักวิทยาศาสตร์ไทยได้มีโอกาสทำงานวิจัยร่วมกับเซิร์นจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศไทย
ต่อมา มูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จึงได้จัดทำโครงการความสัมพันธ์ไทย-เซิร์น ตามพระราชดำริสมเด็จ พระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ตั้งแต่ปี 2543 ในการดำเนินงาน ได้ ผลักดันให้เกิดการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ระหว่างหน่วยงานวิจัย/สถาบันการศึกษาของไทยกับเซิร์นจำนวน 6 ฉบับ และในปี 2561 ได้ยกระดับความสัมพันธ์จากระดับหน่วยงาน-หน่วยงาน ไปเป็นระดับรัฐบาล โดยกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (ชื่อในขณะนั้น) เป็นผู้ลงนามในนามของรัฐบาลไทยร่วมกับผู้แทนของเซิร์น ซึ่งจะช่วยส่งเสริมภาพ-ลักษณ์ของประเทศไทยในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในประชาคมวิทยาศาสตร์ของโลก
สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพ รัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเล่าถึงประสบการณ์การเสด็จพระราชดำเนินเยือนเซิร์น ตลอด 20 ปีที่ผ่านมา ครั้งแรกเมื่อปี 2543 ครั้งที่ 2 ปี 2546, ครั้งที่ 3 ปี 2552, ครั้งที่ 4 ปี 2553, ครั้งที่ 5 ปี 2558 และครั้งที่ 6 ปี 2562 ทรงพระราชอุตสาหะติดต่อและขอโอกาสให้นักวิทยาศาสตร์ไทยได้ไปทำวิจัย ทำให้เกิดความร่วมมือด้านวิชาการและวิจัยร่วมกันระหว่างไทยกับเซิร์น
ทรงจัดการให้มีมูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราช กุมารี มีหน้าที่ประสานงานโครงการต่างๆที่สำคัญ ได้แก่ โครงการคัดเลือกนักศึกษาและครูสอนฟิสิกส์เพื่อเข้าร่วมโปรแกรมภาคฤดูร้อนเซิร์น, โครงการส่งเสริมการจัดกิจกรรมวิชาการที่เกี่ยวข้องกับเซิร์น และโครงการส่งเสริมนักศึกษาระดับมหาบัณฑิต ดุษฎีบัณฑิต และนักวิจัยไปทำงานวิจัยที่เซิร์น เพื่อพัฒนาให้เกิดการทำวิจัยร่วมกับเซิร์น/นอกจากนี้ยังมีการทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการระหว่างระหว่างเซิร์นกับสถาบันการศึกษาของไทยอีกหลายโครงการ
“ประเทศไทยก็ได้ทำงานนี้ โอกาสนี้มา 20 ปีแล้ว ก็ขอให้เราร่วมมือกันต่อไป เพื่อประโยชน์ทั้งของเราและประชาคมโลกโดยในส่วนร่วม ซึ่งมีการส่งนักวิจัยไปจากเนคเทค สวทช.สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) หรืออาจารย์มหาวิทยาลัย เช่น จาก มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยี พระจอมเกล้าธนบุรี เป็นต้น เพื่อไปร่วมงานวิจัย การทำวิจัยก็มีทั้งนักศึกษาระดับปริญญาโท และปริญญาเอกของมหาวิทยาลัยต่างประเทศเข้าร่วมด้วย ดังนั้น เราก็ได้ทั้งผลงานวิจัยและผลิตกำลังคนด้วย นักวิจัยของไทยก็ได้มีส่วนร่วมทั้ง 4 สถานีของเซิร์น ทั้ง CMS Alice ATLAS และ LHC รวมทั้งการประชุมร่วมกับประเทศต่างๆที่ร่วมมือกับเซิร์น” พระราชดำรัสกรมสมเด็จพระเทพฯ ในตอนหนึ่ง
ความร่วมมือระหว่างหน่วยงานของไทยกับหน่วยงาน/สถานีวิจัยของเซิร์น โดยสมเด็จ พระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราช สุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นประธาน ประกอบด้วย 1.การลงนามในเอกสารแสดงเจตจำนงที่จะมีความร่วมมือกันระหว่างสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอนและสถานีวิจัย CMS Experiment ของเซิร์น 2.การลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและสถานีวิจัย CMS ในการศึกษาปรากฏการณ์ฟิสิกส์ใหม่ๆ ที่นอกเหนือไปจากแบบจำลองมาตรฐานของฟิสิกส์อนุภาค 3.การลงนาม MOU ระหว่างมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารีและสถานีวิจัย ALICE ในโครงการพัฒนาระบบติดตามทางเดินของอนุภาคภายในหัววัดไอออนหนัก ALICE ทั้งในส่วนที่เป็นด้านฮาร์ดแวร์ และซอฟต์แวร์ 4.ลงนาม MOU ระหว่างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี และ สวทช. กับเซิร์น 5.ลงนาม MOU ระหว่างสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอนกับเซิร์น ในความร่วมมือด้านเครื่องเร่งอนุภาคเพื่อการแพทย์และประยุกต์อื่น และ 6.การลงนาม MOU ระหว่างสถาบัน วิจัยแสงซินโครตรอนและสถานีวิจัย ALICE
รวมทั้งการสร้างคนผ่านโครงการจัดส่งนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายไปศึกษางานที่เซิร์น โครงการนักศึกษาภาคฤดูร้อนเซิร์น โครงการครูฟิสิกส์ภาคฤดูร้อนเซิร์น กิจกรรมส่งเสริมความรู้ด้านฟิสิกส์อนุภาค เป็นต้น
ทั้งหลายทั้งปวงล้วนส่งผลดีต่อวงการวิทยาศาสตร์ไทยและเป็นการเปิดเส้นทางคนไทยสู่ฟิสิกส์อนุภาคระดับโลก เป็นการสร้างคน ตลอด 20 ปีความสัมพันธ์ ภายใต้พระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงมีต่อการพัฒนาบุคลากร และความก้าวหน้าด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศไทย โดยเฉพาะในด้านฟิสิกส์เพื่อสร้างโอกาสและเปิดเส้นทางให้คนไทยสามารถก้าวสู่ฟิสิกส์โลกได้อย่างเต็มภาคภูมิ.
ทีมข่าววิทยาศาสตร์