ค้นคว้าพัฒนายารักษาโรคมะเร็งและวัคซีนป้องกันอหิวาตกโรค

มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้คัดเลือกบุคคลที่ปฏิบัติงานและมีงานวิจัยดีเด่นทางด้านการแพทย์และด้านสาธารณสุข อันก่อให้เกิดประโยชน์แก่มนุษยชาติ เพื่อเข้ารับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2561 ซึ่งปีนี้มีผู้รับการเสนอชื่อทั้งสิ้น 49 ราย จาก 25 ประเทศ และผู้ที่ได้รับการคัดเลือก ได้แก่ ศ.นพ.ไบรอัน เจ. ดรูเคอร์, ศ.ดร.แมรี่ แคลร์ คิง, ศ.นพ.จอห์น ดี. คลีเมนส์ และ ศ.นพ.ยอน อาร์. โฮล์มเกรน โอกาสนี้ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหา วชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงพระ กรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ประธานมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลฯ เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ ในพิธีพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี พ.ศ.2561 ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท และในงานพระราชทานเลี้ยงอาหารค่ำ ณ พระที่นั่งบรมราชสถิตยมโหฬาร พระบรมมหาราชวัง

โอกาสนี้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มีพระราชดำรัสแก่ผู้ได้รับรางวัลว่า การบำบัดรักษาโรคต่างๆ ควรจะต้องศึกษาค้นคว้าวิจัยให้ลงลึกไปถึงต้นเหตุและกลไกการเกิดโรค เพื่อให้สามารถเยียวยารักษาและป้องกันโรค รวมทั้งยับยั้งความรุนแรงหรือการระบาดของโรคได้ผล การศึกษาวิจัยดังกล่าวกว่าจะเสร็จสมบูรณ์ได้ จำเป็นต้องใช้เวลา และใช้ความอุตสาหะ เสียสละอย่างสูง แต่ผลสำเร็จที่ได้รับก็เป็นประโยชน์แก่มวลมนุษยชาติอย่างไม่อาจประมาณได้ ดั่งเช่นผลงานของ ศ.นพ.ไบรอัน เจ. ดรูเคอร์ ในการพัฒนายาต้นแบบสำหรับรักษาโรคมะเร็งแบบมุ่งเป้า เพื่อรักษาโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวเรื้อรังชนิดซีเอ็มแอล ผลงานของ ศ.ดร.แมรี่ แคลร์ คิง ในการค้นพบยีนที่เป็นสาเหตุของการเป็นโรคมะเร็งเต้านม และผลงานของ ศ.นพ.จอห์น ดี. คลีเมนส์ และ ศ.นพ. ยอน อาร์. โฮล์มเกรน ในการพัฒนาวัคซีนชนิดกิน ป้องกันอหิวาตกโรค พร้อมทั้งเสนอแนวทางการให้วัคซีนเพื่อป้อง กันโรคอย่างมีประสิทธิภาพ

พร้อมกันนี้ผู้ได้รับพระราชทานรางวัล ศ.นพ.ไบรอัน เจ. ดรูเคอร์ ผอ.สถาบันมะเร็งไนท์ มหาวิทยาลัยการแพทย์และวิทยาศาสตร์แห่งโอเรกอน สหรัฐฯ เผยถึงแรงบันดาลใจการทำงานของตัวเอง คือการอยากจะช่วยผู้ป่วยให้หายกลับไปใช้ชีวิตตามปกติได้ ตนทำงานในคลินิกมา 20 ปี เห็นผู้ป่วยที่หายแล้วได้กลับบ้าน ไปอยู่กับลูกหลาน ทำให้ตนมีกำลังใจในการทำงานต่อไป สำหรับโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวเรื้อรังชนิดซีเอ็มแอล เราควรจะต้องมีการตรวจเรื่องพันธุกรรม ปัจจุบันหลายประเทศมีศักยภาพในการตรวจพันธุกรรมนี้มากขึ้น รวมทั้งประเทศไทยที่มีการตั้งสถาบันพันธุกรรม ในอนาคตการตรวจพันธุกรรมจะเป็นส่วนสำคัญในการช่วยรักษาโรคมะเร็ง

ศ.ดร.แมรี่ แคลร์ คิง, ศ.นพ.ยอน อาร์. โฮล์มเกรน, ศ.นพ.จอห์น ดี. คลีเมนส์ และ ศ.นพ.ไบรอัน เจ. ดรูเคอร์ ผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2561.
ศ.ดร.แมรี่ แคลร์ คิง, ศ.นพ.ยอน อาร์. โฮล์มเกรน, ศ.นพ.จอห์น ดี. คลีเมนส์ และ ศ.นพ.ไบรอัน เจ. ดรูเคอร์ ผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2561.

ด้าน ศ.ดร.แมรี่ แคลร์ คิง จากภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยวอชิงตัน สหรัฐฯ กล่าวว่า ในการทำงานไม่ว่าจะทำอะไร ขอให้เรารักและใส่ใจในสิ่งที่เราทำ สำหรับงานวิจัยของตนพบว่าโรคมะเร็งเต้านมนั้น สามารถส่งผ่านทางพันธุกรรม จึงแนะนำอยากให้ผู้หญิงที่มีความเสี่ยง คือมีมารดาหรือคนในครอบครัวเคยเป็นมะเร็งเต้านมควรจะตรวจเช็กร่างกาย หากพบว่าเป็นให้ติดตามผลอย่างใกล้ชิด และรักษาอย่างทันท่วงที

สุดท้าย ศ.นพ.จอห์น ดี. คลีเมนส์ และ ศ.นพ.ยอน อาร์. โฮล์มเกรน ผู้ทำงานร่วมกันในการค้นคว้าวัคซีนป้องกันอหิวาตกโรคชนิดกิน กล่าวว่า อหิวาตกโรคเป็นโรคที่เกิดขึ้นกับคนยากจนเป็นส่วนใหญ่ และไม่มีทางเลือกที่จะป้องกันได้ พวกตนมีความภูมิใจที่สามารถช่วยเหลือผู้ป่วยที่ยากจนให้หายจากโรคนี้ และได้เห็นการใช้ทฤษฎีมาสู่ภาคปฏิบัติอย่างได้ผล และคาดการณ์ว่าในปี 2030 จะไม่มีโรคอหิวาตกโรคในโลกนี้.