นางบุษยา มาทแล็ง ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ (กต.) อัญเชิญผ้าพระกฐินพระราชทาน สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ร.10.
นับตั้งแต่สมัยสุโขทัย งานบุญประเพณีสำคัญของพุทธศาสนิกชนไทยที่ถือสืบทอดกันมา คืองานบุญประเพณี “ทอดกฐิน” โดยจะร่วมกันถวายผ้าไตรจีวรและเครื่องบริวารสังฆทานแด่พระภิกษุสงฆ์ ในช่วงเวลา “กฐินกาล” หรือเทศกาลทอดกฐิน ในช่วงวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ไปถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12
บุญประเพณีนิยมนี้ มิได้ปฏิบัติสืบต่อกันเพียงเฉพาะพุทธศาสนิกชนคนไทยทั่วไป หากแต่การทอดถวายผ้าพระกฐินของ พระมหากษัตริย์ไทย ยังเป็น พระราชพิธีประจำปี สำคัญสืบต่อกันมาแต่โบราณกาล
ทั้งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์กร สมาคม และประชาชนทั่วไป เชิญ ผ้าพระกฐินพระราชทาน นำไปทอดถวายแด่พระภิกษุสงฆ์ที่จำพรรษาในอารามต่างๆทั่วประเทศ
เมื่อปี 2538 กระทรวงการต่างประเทศ ในฐานะหน่วยงานรับผิดชอบด้านการต่างประเทศ และการทูตวัฒนธรรม ได้เริ่ม โครงการเชิญผ้าพระกฐินพระราชทาน ไปทอดถวาย ณ วัดพระพุทธศาสนาในต่างประเทศ
ตามความคิดริเริ่มของ นายสุรินทร์ พิศสุวรรณ รมว.ต่างประเทศ ในขณะนั้น เพื่อมุ่งหวังให้ใช้รากฐานทางวัฒนธรรมร่วมกันระหว่างไทยกับมิตรประเทศ เพื่อกระชับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระดับประชาชนกับประชาชน
ตลอดจนเผยแพร่พระเกียรติคุณของพระมหากษัตริย์ไทย ที่ทรง อุปถัมภ์ค้ำชูพระพุทธศาสนา
จากปีแรกที่เชิญ ผ้าพระกฐินพระราชทาน ไปทอดถวายที่วัดใน 3 ประเทศ คือ กัมพูชา สปป.ลาว และ เมียนมา ซึ่งได้ดำเนินต่อเนื่องทุกปี ต่อมาขยายโครงการไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ประเทศในกลุ่มอาเซียน ภูมิภาคเอเชียใต้ และเอเชียตะวันออกที่มีประชาชนนับถือพระพุทธศาสนา รวม 13 ประเทศ
สำหรับปี 2561 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร รัชกาลที่ 10 พระราชทานผ้าพระกฐินและเครื่องบริวารพระกฐินพระราชทาน ไปถวายภิกษุสงฆ์ใน 11 ประเทศ ประกอบด้วย ภูฏาน กัมพูชา เนปาล จีน ศรีลังกา เมียนมา มาเลเซีย อินโดนีเซีย อินเดีย สปป.ลาว และเวียดนาม
“ทีมข่าวไทยรัฐ” ได้มีโอกาสติดตามคณะของ นางบุษยา มาทแล็ง ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ เป็นประธานอัญเชิญผ้าพระกฐินพระราชทานไปทอดถวาย ณ วัดโลกุตรมหาวิหาร เมืองเอารังคบาด สาธารณรัฐอินเดีย พร้อมด้วย นายโลร็อง ชิลส์ มาทแล็ง คู่สมรส
ด้าน พระธรรมโพธิวงศ์ หัวหน้าพระธรรมทูตสายประเทศอินเดีย-เนปาล และเจ้าอาวาสวัดไทยพุทธคยา รัฐพิหาร อินเดีย มอบหมายให้ พระราชปริยัติวิธาน รองเจ้าคณะจังหวัดนครสวรรค์ เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ ร่วมกับ พระโพธิปาโล มหาเถโร เจ้าอาวาสวัดโลกุตรมหาวิหาร
ส่วนคณะผู้แทนจากฝ่ายไทย ประกอบด้วย น.ส.บุษฎี สันติพิทักษ์ อธิบดีกรมสารนิเทศ นายเจษฎา กตเวทิน อธิบดีกรมเอเชียใต้ ตะวันออกกลาง และแอฟริกา นางต้องฤดี มากบุญ ผู้ช่วยปลัดกระทรวงการต่างประเทศ และ นายเอกพล พูลพิพัฒน์ กงสุลใหญ่ ณ เมืองมุมไบ โดยมี นายฮารีภาว คิซานราว บาดาเด ประธานสภานิติบัญญัติแห่งรัฐมหาราษฏระ เป็นผู้แทนฝ่ายอินเดีย
นอกจากนี้ มีข้าราชการทีมประเทศไทย สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองมุมไบ พุทธศาสนิกชนทั้งชาวไทยและอินเดีย เข้าร่วมประเพณีบุญครั้งนี้กว่า 500 คน
สำหรับ วัดโลกุตรมหาวิหาร เป็นวัดพุทธเถรวาท มหานิกาย ซึ่งเป็นวัดที่ได้รับการรับรองจากรัฐบาลรัฐมหาราษฏระให้เป็นเขตจาริกแสวงบุญ ทั้งยังได้รับการสนับสนุนจาก องค์กร All India Bhikkhu Sangha โดยครั้งนี้นับว่าเป็นการรับผ้าพระกฐินพระราชทานครั้งแรกของวัดโลกุตรมหาวิหาร และเป็นครั้งที่ 12 ของวัดในอินเดียที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณฯ
ทีมข่าวฯ ได้เห็นขั้นตอนงานบุญประเพณีที่ร่วมกันระหว่างสองชาติ และยังได้เห็นภาพของความสามัคคีแนบแน่น ความเอื้ออาทรระหว่างชาวพุทธไทยและอินเดีย พร้อมใจร่วมกันจัดพิธีทอดถวายผ้าพระกฐินพระราชทานให้เป็นไปอย่างสมพระเกียรติ
ในช่วงลำดับพิธีการสำคัญ พระโพธิปาโล มหาเถโร เจ้าอาวาสวัดโลกุตรมหาวิหาร และภิกษุสงฆ์ 40 รูป รับผ้าพระกฐินพระราชทาน และเครื่องบริวารพระกฐินพระราชทาน รวม 28 รายการ พร้อมด้วยปัจจัยพระราชทาน รวมทั้งปัจจัยที่ กระทรวงการต่างประเทศ และพุทธศาสนิกชนร่วมถวาย รวมทั้งสิ้น 2,470,284 บาท หรือ 5,489,520 รูปีอินเดีย เพื่อใช้ในการทำนุบำรุงศาสนกิจต่อไป
ความสำเร็จของการดำเนินโครงการนี้ นอกจากจะแสดงให้เห็นถึงความศรัทธาร่วมกันของพุทธศาสนิกชนไทยและอินเดีย สร้างความปลื้มปีติและความประทับใจแก่มิตรประเทศผู้รับแล้ว ยังเป็นการส่งเสริมบทบาทของไทยด้านพระพุทธศาสนาในเมืองเอารังคบาด
อันจะนำไปสู่การส่งเสริมความร่วมมือในการท่องเที่ยวเชิงพระพุทธศาสนาอีกด้วย.
กรกช กุลลประภา รายงาน