รำลึกถึง “พ่อ” ที่อนุสรณ์สถานฯ…แจ้งข่าวจากเฟซบุ๊กเพจ “ข่าวสาร ทัพสาม”
บก.ทัพไทย เปิด “อนุสรณ์สถานแห่งชาติ” ดอนเมือง จัดพิธีรำลึกถึง “ในหลวง ร.9” วันคล้ายวันสวรรคต วันที่ 13 ตุลาคมนี้ เช้าถึงค่ำ ชมพิพิธภัณฑ์ “ร.9” และจุดเทียน
หวังเป็นสถานที่ให้ชาว กทม.และชานเมืองมาร่วมรำลึกถึง“พ่อ”
สถาบันวิชาการป้องกันประเทศ (สปท.) ขอเชิญชวนทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนทั้งในประเทศและต่างประเทศ ร่วมกันน้อมรำลึกถึงพ่อ ร่วมกันทำบุญตักบาตร บำเพ็ญกุศล แสดงความจงรักภักดี รำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ในวันที่ 13 ตุลาคม 2561 ที่อนุสรณ์สถานแห่งชาติ ดอนเมือง
โดยมีพิธีตักบาตรพระสงฆ์ 19 รูป วางพวงมาลา, พิธีสงฆ์ พระ 10 รูป, ร่วมสวดมนต์ บำเพ็ญภาวนาจิตและเยี่ยมชมถวายสักการะพระบรมสาทิสลักษณ์ และฉลองพระองค์ในหลวง ร.9 ตามอัธยาศัย
ในตอนค่ำ 19.00 น. พิธีจุดเทียนสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณที่ลานประกอบพิธี อนุสรณ์สถานแห่งชาติ ขอเชิญชวนพี่น้องประชาชนสวมเสื้อสีเหลือง ร่วมพิธีและเข้าชมพิพิธภัณฑ์เฉลิมพระเกียรติ จอมทัพไทย
โดยได้จัดแสดงพระราชประวัติ พระราชกรณียกิจ โครงการอันเนื่อง มาจากพระราชดำริ ร.9 ตลอดเดือนตุลาคม 2561 นี้
รำลึกถึง “พ่อ” ยึดถือ...“คำพ่อสอน”
“เศรษฐกิจพอเพียง...เป็นเสมือนรากฐานของชีวิต รากฐานความมั่นคงของแผ่นดิน เปรียบเสมือนเสาเข็มที่ถูกตอกรองรับบ้านเรือนตัวอาคารไว้นั่นเอง สิ่งก่อสร้างจะมั่นคงได้ก็อยู่ที่เสาเข็ม แต่คนส่วนมากมองไม่เห็นเสาเข็มและลืมเสาเข็มเสียด้วยซ้ำไป...”
พระบรมราโชวาทพระราชทานผ่านมูลนิธิชัยพัฒนา และอีกหลายพระราชดำรัสที่พระราชทานแก่คณะบุคคลต่างๆที่เข้าเฝ้าฯ อาทิ
“...สมัยก่อนนี้พอมีพอกิน สมัยนี้ชักจะไม่พอกิน จึงต้องมีนโยบายเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อให้ทุกคนมีความพอเพียงได้...”
“...คำว่าพอเพียงมีความหมายอีกอย่างหนึ่ง มีความหมายกว้างออกไปอีก ไม่ได้หมายถึงการมีพอสำหรับใช้เองเท่านั้น แต่มีความหมายว่าพอมีพอกิน พอมีพอกินนี้ถ้าใครได้มาอยู่ที่นี่ในศาลานี้ เมื่อเท่าไหร่ 20 24 ปี เมื่อปี 2517 2517 ถึง 2541 นี้ก็ 24 ปีใช่ไหม วันนั้นได้พูดว่า เราควรจะปฏิบัติให้พอมีพอกิน
พอมีพอกินนี้ก็แปลว่าเศรษฐกิจพอเพียงนั่นเอง
ถ้าแต่ละคนพอมีพอกินก็ใช้ได้ ยิ่งถ้าทั้งประเทศพอมีพอกินก็ยิ่งดีและประเทศไทยเวลานั้นก็เริ่มจะไม่พอมีพอกิน บางคนก็มีมากบางคนก็ไม่มีเลย สมัยก่อนนี้พอมีพอกินมาสมัยนี้ชักจะไม่พอมีพอกิน จึงต้องมีนโยบายที่จะทำเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อที่จะให้ทุกคนมีพอเพียงได้ ให้พอเพียงนี้ก็หมายความว่า มีกินมีอยู่ไม่ฟุ่มเฟือย ไม่หรูหราก็ได้ แต่ว่าพอ แม้บางอย่างอาจจะดูฟุ่มเฟือย แต่ถ้าทำให้มีความสุข ถ้าทำได้ก็สมควรที่จะทำ สมควรที่จะปฏิบัติ อันนี้ก็หมายความอีกอย่างของเศรษฐกิจ หรือระบบพอเพียง...”
“...สมมติว่าเดี๋ยวนี้ไฟดับ ถ้าไม่มีเศรษฐกิจพอเพียงเวลาไฟดับ ไฟฟ้านครหลวงหรือไฟฟ้าฝ่ายผลิตเขาดับหมด จะพังหมด จะทำอย่างไร ที่ที่ต้องใช้ไฟฟ้าก็ต้องแย่ไป บางคนในต่างประเทศเวลาไฟดับเขาฆ่าตัวตายแต่ของเราไฟดับจนเคยชิน เราไม่เป็นไรเมื่อไฟดับ หากมีเศรษฐกิจพอเพียงแบบไม่เต็มที่ ถ้าเรามีเครื่องปั่นไฟก็ใช้ปั่นไฟ หรือถ้าขั้นโบราณกว่ามืดก็จุดเทียน คือมีทางที่จะแก้ปัญหาเสมอ
ฉะนั้น...เศรษฐกิจพอเพียงนี้ก็มีเป็นขั้นๆ แต่จะบอกว่าเศรษฐกิจพอเพียงนี้ให้พอเพียงเฉพาะตัวเองร้อยเปอร์เซ็นต์ นี่เป็นสิ่งที่ทำไม่ได้จะต้องมีการแลกเปลี่ยนต้องมีการช่วยกัน ถ้ามีการช่วยกัน แลกเปลี่ยนกันก็ไม่ใช่พอเพียงแล้ว พอเพียงในทฤษฎีหลวงนี้คือให้สามารถที่จะดำเนินงานได้...”
“เศรษฐกิจพอเพียง” เป็นปรัชญาการดำเนินชีวิตที่พระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 พระราชทานแก่พสกนิกรชาวไทยผ่านพระบรมราโชวาทและพระราชดำรัสในโอกาสต่างๆมาโดยตลอด ตั้งแต่ก่อนเกิดวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ และต่อมาภายหลังได้ทรงเน้นย้ำแนวทางการแก้ไข
เพื่อให้สังคมไทยรอดพ้นจากวิกฤติที่เกิดขึ้น โดยให้สามารถดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคงยั่งยืนภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์ที่เราต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงต่างๆอยู่ตลอดเวลา
การพัฒนาตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงคือการพัฒนาที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของทางสายกลางและความไม่ประมาท โดยคำนึงถึงความพอประมาณ ความมีเหตุผลและการสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีในตัว ตลอดจนการใช้ความรู้ ความรอบคอบและคุณธรรมประกอบการวางแผน การตัดสินใจและการกระทำต่างๆ
“ความพอประมาณ” หมายถึงความพอดี ที่ไม่มากและไม่น้อยจนเกินไป ไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น เช่น การผลิตและการบริโภคที่พอประมาณ
“ความมีเหตุผล” หมายถึงการใช้หลักเหตุผลในการตัดสินใจเรื่องต่างๆ โดยพิจารณาจากเหตุปัจจัยที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนผลที่คาดว่าจะเกิดขึ้นอย่างรอบคอบ และ “การมีภูมิคุ้มกันที่ดี” หมายถึงการเตรียมตัวให้พร้อมรับต่อผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงรอบตัว
ดร.จิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา ประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียง บันทึกไว้ในหนังสือ “คำพ่อสอน” ประมวลพระบรมราโชวาทและพระราชดำรัสเกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียง หนังสือเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550
ย้ำว่า...ปัจจัยเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้นั้นจะต้องอาศัยความรู้และคุณธรรมเป็นเงื่อนไขพื้นฐาน
กล่าวคือ “เงื่อนไขความรู้” หมายถึงความรอบรู้ ความรอบคอบ ความระมัดระวังในการดำเนินชีวิตและการประกอบการงาน ส่วน “เงื่อนไขคุณธรรม” คือการยึดถือคุณธรรมต่างๆ
อาทิ ความซื่อสัตย์สุจริต ความอดทน ความเพียร การมุ่งต่อประโยชน์ส่วนรวม การแบ่งปัน ฯลฯ ตลอดเวลาที่ประยุกต์ใช้ปรัชญา
“การขับเคลื่อนให้สังคมไทยได้เรียนรู้และน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาสู่การประพฤติปฏิบัติอย่างแท้จริงนั้นเป็นหลักชัยที่คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียงมุ่งมั่นที่จะไปให้ถึง ทั้งนี้เพื่อทำให้ประเทศไทยของเราสามารถพัฒนาอย่างยั่งยืนบนพื้นฐานของความสมดุลและทางสายกลาง”
แม้ว่าจะต้องเผชิญกับบริบทที่เปลี่ยนแปลงไปอยู่ตลอดเวลา ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง สิ่งแวดล้อม ความรู้และเทคโนโลยีหรือด้านอื่นๆก็ตาม แต่หากเรารวมพลังกันเรียนรู้ น้อมนำปรัชญานี้มาประพฤติปฏิบัติในการดำเนินชีวิตทุกด้านอย่างเข้มแข็งแล้ว...
“สังคมไทย” ก็จะมีโอกาสเป็นสังคมที่มีความสุขของทุกคนร่วมกันมากยิ่งขึ้น
วันเวลาจะผ่านไปเท่าไหร่ จะกี่ยุค กี่สมัย หลักปรัชญา “เศรษฐกิจพอเพียง” ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ยังคงเป็น “กุญแจ” ดอกสำคัญที่จะทำให้ “คนไทย”... “ประเทศไทย” ก้าวไปได้อย่างมั่นคง เข้มแข็ง ยั่งยืน.