พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ทรงปฏิบัติพระภารกิจในฐานะทูตสันถวไมตรีสำนักงานป้องกันยาเสพติดและปราบปรามอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) ด้านหลักนิติธรรมสำหรับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ด้วยการเสด็จเยือนสาธารณรัฐอินโดนีเซีย พร้อมด้วย นายเจเรมี่ ดั๊กลาส ผู้แทน UNODC ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิก และคณะผู้บริหารระดับสูงจาก UNODC และประเทศไทย เข้าพบ “นายลิม จ็อก ฮอย” เลขาธิการอาเซียนคนใหม่ เพื่อหารือเรื่องความร่วมมือระหว่าง UNODC และอาเซียน ที่กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย เมื่อเร็วๆนี้
ในการประชุมหารือครั้งนี้ พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ทรงเน้นย้ำถึงความจำเป็นในการส่งเสริมการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม และส่งเสริมหลักนิติธรรมในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเน้นคนเป็นศูนย์กลาง รวมถึงกลุ่มผู้เปราะบางในสังคม ที่อาจตกเป็นเหยื่อในอาชญากรรมต่างๆ รวมทั้งการค้ามนุษย์ พร้อมทรงเน้นถึงกระบวนการยุติธรรมทางอาญา และการบังคับใช้กฎหมายที่มีประสิทธิภาพ จะช่วยดูแลรักษาผลประโยชน์ของปัจเจกบุคคลและของสังคมในภาพรวม และประเทศต่างๆในภูมิภาคนี้น่าจะได้แลก เปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างกัน และ UNODC สามารถเข้ามาช่วยเหลือผ่านการดำเนินโครงการที่มุ่งส่งเสริมความยุติธรรมและความเท่าเทียม
โอกาสนี้ พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ทรงเยี่ยมชมเรือนจำหญิงตังเกอรัง (Tan-gerang) ถือเป็นโอกาสในการเรียนรู้การบริหารจัดการเรือนจำในอินโดนีเซีย และเป็นข้อมูลเพื่อพิจารณาการขับเคลื่อนข้อกำหนดกรุงเทพ (ข้อกำหนดสหประชาชาติว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิง และมาตรการที่มิใช่การคุมขังสำหรับผู้ต้องขังหญิง) ไปสู่พื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศและทั่วภูมิภาค ซึ่งเรือนจำหญิงตังเกอรังตั้งอยู่ในพื้นที่ชานเมืองของกรุงจาการ์ตา มีความสามารถรองรับผู้ต้องขังได้ 250 คน แต่ปัจจุบันใช้เป็นสถานที่คุมขังผู้ต้องขังหญิงถึง 403 คน เกินความจุที่ควรจะเป็นอยู่ 61% โดยผู้ต้องขังหญิงในเรือนจำแห่งนี้กว่า 86% เข้ามาด้วยคดียาเสพติด ปัญหาผู้ต้องขังล้นเรือนจำ เป็นสถานการณ์ที่พบเห็นได้ทั่วไปในเรือนจำที่อินโดนีเซียและในประเทศอื่นๆ ทั่วภูมิภาค ถึงแม้ว่าเรือนจำหญิงตังเกอรังจะประสบปัญหาข้างต้น แต่มีความมุ่งมั่นบริหารจัดการพื้นที่ให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล.