พระราชภารกิจการทรงงานใน สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มีอเนกอนันต์ จนกล่าวได้ว่าทั่วทั้งแผ่นดินที่ใดที่ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพล อดุลยเดช บรมนาถบพิตร และ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เสด็จฯไปถึง ณ ที่นั้น “เจ้าฟ้าหญิงนักพัฒนา” ก็ได้ตามเสด็จฯไปแบ่งเบาพระราชกรณียกิจ เพื่อบำบัดทุกข์บำรุงสุขแก่ปวงประชา

“...เหตุที่ชอบการพัฒนาช่วยเหลือประชาชนนั้น เห็นจะเป็นเพราะความเคยชินตั้ง แต่เกิดมาจำความได้ ก็เห็นพระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัว สมเด็จ พระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระศรีนครินทรา บรมราชชนนี ทรงคิดหาวิธีการต่างๆที่จะยกฐานะความเป็นอยู่ของคนไทยให้ดีขึ้น... ได้ตามเสด็จฯไปเห็นความทุกข์ยากลำบากของพี่น้องเพื่อนร่วมชาติก็คิดว่าช่วยอะไรได้ควรช่วย ไม่ควรนิ่งดูดาย เมื่อโตขึ้นพอมีแรงทำอะไรก็ทำไปอย่างอัตโนมัติ โดยทำตามพระราชกระแส หรือทำตามแนวพระราชดำริ การช่วยเหลือประชาชนเป็นหน้าที่ของสถาบันพระมหากษัตริย์ ต้องทำประจำอยู่แล้ว...การรู้หนังสือเป็นความจำเป็นสำหรับทุกชาติที่กำลังพัฒนา ตลอดจนเป็นกิจกรรมที่ต้องร่วมมือกันส่งเสริมให้บรรลุผลให้ได้ ถ้าปราศจากพื้นฐานการรู้หนังสือของประชาชนในประเทศแล้ว ความพยายามในการดำเนินการพัฒนาคงไร้ผล การรู้หนังสือเป็นส่วนหนึ่งของวิธีการที่จะนำไปสู่จุดมุ่งหมายอันสูงสุด...” พระราชดำรัสดังกล่าวของ “สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี” สะท้อนได้ดีถึงพระราชปณิธานอันแน่วแน่ที่ทรงอุทิศพระองค์เพื่อตามรอยเบื้องพระยุคลบาท พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ในการพัฒนาประชาชนให้สามารถยืนหยัดได้ด้วยลำแข้งตัวเองตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง โดยมีการศึกษาเป็นเครื่องมือสำคัญ

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงถือเป็นต้นแบบของนักพัฒนาที่มุ่งเน้นการยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน โดยทรงยึดหลักว่าการพัฒนาต้องเหมาะสมกับสภาพภูมิศาสตร์ เชื้อชาติ วัฒนธรรมท้องถิ่น คติความเชื่อทางศาสนา ตลอดจนภูมิหลังทางเศรษฐกิจและสังคม ที่สำคัญคือ นักพัฒนาที่ดีต้องมีความรัก ความห่วงใย ความรับผิดชอบ และความเคารพในเพื่อนมนุษย์ มีพระราชดำริว่าในการพัฒนาเรื่องใดๆก็ตาม จำเป็นต้องใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่เหมาะสม โดยเฉพาะเรื่องการศึกษาของเด็กและเยาวชน ซึ่งทรงใส่พระราชหฤทัยยิ่ง

โครงการแรกที่ทรงริเริ่มในปี 2523 หลังสำเร็จการศึกษาจากรั้วจุฬาฯ จึงเป็นโครงการที่ทรงทำในโรงเรียน ทรงเริ่มต้นด้วยโครงการอาหารกลางวัน ผักสวนครัว ที่โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน 3 แห่ง ในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์, ราชบุรีและกาญจนบุรี โดยทรงใช้พระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ โครงการดังกล่าวเป็นการสอนให้นักเรียนทำการเกษตรเพื่อนำมาประกอบเป็นอาหารกลางวัน ต่อมาได้ขยายเป็นโครงการพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร ครอบคลุมกว่า 700 โรงเรียนในพื้นที่ห่างไกลทั่วประเทศ และมีขอบข่ายการพัฒนาครบทุกด้าน ทั้งการศึกษา สุขภาพอนามัย สาธารณสุข วัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น สิ่งแวดล้อม ตลอดจนการสร้างงานสร้างอาชีพ โดยโรงเรียนจะเป็นศูนย์กลางของชุมชนในการทำกิจกรรมต่างๆ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนชาวไทยให้ดีขึ้น

ทุกครั้งเมื่อเสด็จฯเยี่ยมโรงเรียนตามท้องถิ่นทุรกันดาร พระองค์ไม่ได้ทรงเยี่ยมราษฎรเท่านั้น แต่ทรงเป็นนักพัฒนาการศึกษาเต็มพระองค์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงผสมผสานการศึกษากับการพัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างกลมกลืน โดยทรงตั้งข้อสังเกตว่า “เมื่อไปตามโรงเรียน ไม่ว่าประถม หรือมัธยม ก็ต้องพยายามไปดูว่านักเรียนได้รับอาหารที่พอสมควรถูกต้องหรือเปล่า ถ้าไม่ถูกต้อง ไม่มีอะไรบำรุงสมอง ก็ไม่มีแรง ทำให้ศึกษาได้ไม่ดี”

ด้วยความที่ทรงให้ความสำคัญแก่เด็กและเยาวชนทุกกลุ่มทุกวัย จึงโปรดเกล้าฯให้จัดทำโครงการต่างๆเกื้อหนุนการศึกษาของเด็กและเยาวชนในทุกวัย นอกจากนี้ ยังใส่พระทัยเรื่องคุณภาพและปริมาณของครูในโรงเรียนขนาดเล็กในชนบท ดังจะเห็นได้จากโครงการระบบอี-เลิร์นนิ่งของการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม และการจัดอบรมครูให้ใช้ไอซีที ตลอดจนการทำโครงงานในการเรียนการสอน

เป็นที่ทราบกันดีว่า สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระปรีชายิ่งด้านการศึกษา ทรงริเริ่มการทรงงานในโครงการต่างๆอย่างเป็นรูปธรรม และทรงดูแลติดตามอย่างใกล้ชิด จนแนวพระราชดำริต่างๆเป็นที่ยอมรับของนานาประเทศ อีกทั้งยังทรงได้รับการยกย่องเฉลิมพระเกียรติคุณจากหลายองค์การในระดับนานาชาติว่า ทรงเป็นผู้นำและผู้รู้จริงจากการปฏิบัติในการพัฒนาการศึกษาให้ถ้วนทั่วแก่ทุกกลุ่มชนในถิ่นทุรกันดาร รวมถึงผู้ด้อยโอกาสทุกกลุ่ม สอดคล้องกับเป้าหมายของยูเนสโกเรื่อง “การศึกษาเพื่อทุกคน” หรือ “Education for All”

ผลจากความสำเร็จในการพัฒนาการศึกษาของเด็กและเยาวชนไทยอย่างยั่งยืน ยังกลายเป็นต้นแบบให้ประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน ได้น้อมนำแนวพระราชดำริดังกล่าวของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ไปเป็นโรลโมเดลในการพัฒนาการศึกษาในประเทศด้วย

พระราชกรณียกิจนานัปการในด้านการศึกษาของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ถือเป็นแบบอย่างของการพัฒนาการศึกษาไทยแก่ผู้ด้อยโอกาส โดยไม่คำนึงถึงชนชั้นวรรณะ ไม่ว่าจะเป็นผู้ที่อยู่ในถิ่นทุรกันดาร ผู้พิการ ผู้ลี้ภัย ผู้ต้องโทษคุมขัง หรือเด็กป่วยเรื้อรัง ก็ล้วนแต่ได้รับพระกรุณาธิคุณเสมอกัน

“...แวดวงชีวิตของฉันแต่ไหนแต่ไรมา มีอยู่สองประการคือ วงการวิชาการ แวดวงของครูบาอาจารย์ผู้รู้ในสาขาวิชาต่างๆ ทั้งในสายศิลปวัฒนธรรมและเทคโนโลยี กับอีกวงการคือ เรื่องของการพัฒนาสังคมให้เจริญก้าวหน้า งานที่เห็นพ่อแม่ทำมาตลอด ตั้งแต่รู้ความคือ การทำให้ผืนแผ่นดินและทุกคนในแผ่นดินมีความเจริญรุ่งเรือง เน้นหนักในการช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาส ผู้ที่มีความทุกข์ยาก เราคลุกคลีอยู่กับผู้ที่ลำบากยากแค้น หาทางบรรเทาความเดือดร้อนของคน...” เป็นที่ประจักษ์ชัดถึงความเป็นเจ้าฟ้าหญิงนักพัฒนาเพื่อประโยชน์สุขของประชาชน

เนื่องในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษา ในวันที่ 2 เมษายน ศกนี้ ขอ น้อมเกล้าฯ ถวายพระพรให้ทรงพระเกษมสำราญ และทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน.

ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม

ทีมข่าวหน้าสตรีไทยรัฐ