“วิษณุ” เผย “บิ๊กตู่” สั่งเชิญอดีตอธิบดีกรมตำรวจ-อดีตผบ.ตร.ให้ความเห็นปฏิรูป พร้อมให้โจทย์ 3 ข้อใหญ่ 36 อรหันต์ต้องตอบให้ได้ ขีดเส้น 1 ปี แจง เสียงครหาตั้งสีกากีปฏิรูปตัวเอง ติงอย่าวิจารณ์ ทหารปฏิรูปตำรวจ
วันที่ 7 ก.ค. นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม (ตำรวจ) ว่า นายกฯมอบหมายให้ตนมาชี้แจงใน 3 ประเด็น ประเด็นแรก คือ ที่มาที่ไปของคณะกรรมการ 2.การทำงานในเชิงธุรการ 3.เนื้อหาของการปฏิรูป
ประเด็นแรกนั้น เมื่อมีการแต่งตั้งคณะกรรมการทั้ง 36 คน แล้วมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า มีตำรวจนั่งเป็นคณะกรรมการหลายคน ซึ่งเป็นเรื่องที่รัฐธรรมนูญล็อกสเปกไว้ว่า ต้องมีจำนวนตำรวจกับผู้ที่ไม่เป็นตำรวจ จำนวนเท่ากัน อีกทั้งโครงสร้างตามรัฐธรรมนูญได้เขียนไว้ว่า ต้องมีประธานคณะกรรมการ 1 คน ที่ไม่ใช่ตำรวจ แต่ต้องเข้าใจงานที่เกี่ยวกับตำรวจ การจัดระเบียบองค์กรและความมั่นคง ซึ่งเหลือตัวเลือกว่า ต้องเป็นพลเรือนหรือทหาร เดิมทีความตั้งใจของนายกฯ ได้หาคนที่เป็นพลเรือนที่มีความเข้าใจดังกล่าว และได้ทาบทามหลายคน แต่เนื่องจากระยะเวลากระชั้นชิดไป ก็ไม่มีคนรับ รวมทั้งเป็นห่วงเรื่องสุขภาพ และความลำบากในการทำงาน จึงขอไม่รับและขอเป็นเพียงที่ปรึกษา จึงมาตกที่ พล.อ.บุญสร้าง ถึงแม้จะเป็นทหารแต่เกษียณมาเป็น 10 ปี แล้ว และที่สำคัญมีความเข้าใจด้านความมั่นคง การจัดระเบียบองค์กรและโครงสร้าง เพราะทำงานนี้มาตลอดชีวิต ถึงตำแหน่งสุดท้ายเป็นถึงผู้บัญชาการทหารสูงสุด เชื่อว่า จะมีความเข้าใจในส่วนนี้จึงให้เป็นประธาน ขณะที่กรรมการอีก 5 คน ที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ โดยตำแหน่ง มีปลัดกระทรวงยุติธรรม กระทรวงการคลัง มหาดไทย อัยการสูงสุด และเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม ส่วนกรรมการที่เหลือเป็นตำรวจ 15 คน ไม่ใช่ตำรวจ 15 คน รวม 36 คน อันนี้ คือ ที่มาที่ไป อย่าไปวิพากษ์วิจารณ์ให้เกิดความร้าวฉาน ว่า ทหารจะมาปฏิรูปตำรวจ นอกจากนี้ คณะกรรมการยังมีตัวแทนจากภาควิชาการ สื่อสารมวลชน
...
นายวิษณุ กล่าวอีกว่า ประเด็นที่ 2 การทำงานเชิงธุรการ จะมีการประชุมกันครั้งแรกในวันพุธที่ 12 ก.ค. หลังจากนั้น จะประชุมกันสัปดาห์ละ 2 ครั้ง ส่วนสถานที่ประชุมจะหมุนเวียนไป ทั้งกองบัญชาการกองทัพไทย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) สำนักงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.) แล้วแต่ความสะดวก จะมีการตั้งคณะอนุกรรมการ โดยจะตกลงกันในการประชุมสัปดาห์หน้าว่า จะมีกี่ชุด อีกทั้งมีการเสนอให้ตั้งคณะอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็น โดยนายกฯ มีคำสั่งให้ไปเชิญอดีตอธิบดีกรมตำรวจ และผบ.ตร.ทุกคน ที่เต็มใจมาให้ความเห็น ก็จะเชิญมา รวมถึงต้องไปรับฟังความคิดเห็นของตำรวจ สื่อฯ ประชาชนกลุ่มต่างๆ ด้วย
นอกจากนี้ เรื่อง การปฏิรูปตำรวจมีการวิจัยมากมายทั้ง สปช. สปท. สนช. สตช. กระทรวงยุติธรรม นายกฯ กำชับให้นำรายงานทั้งหมด รวมถึงชุดที่นายคณิต ณ นคร และ นพ.ประเวศ วะสี เคยทำมาย่อยให้สั้น จัดเป็นหัวข้อให้สั้น และแจกกรรมการเพื่อประกอบการพิจารณา
นายวิษณุ กล่าวอีกว่า ส่วนเนื้อหาสาระการทำงาน นายกฯให้แนวทางเป็นประเด็นใหญ่ 3 ประเด็น ซึ่งเป็นโจทย์ที่กรรมการทั้ง 36 คน ต้องตอบ 1.คือประเด็นเกี่ยวกับองค์กร ให้ไปพิจารณาว่า สตช.ต้องสังกัดที่ใด เช่น จะอยู่ที่เดิม หรือกลับไปมหาดไทย หรือไปอยู่กระทรวงยุติธรรม หรือขึ้นกับจังหวัด หรือตั้งเป็นกระทรวง ให้ไปคิดมาในแง่โครงสร้าง นอกจากนี้ โครงสร้างที่มีอยู่ อะไรควรกระจายออกไป เช่น ตำรวจป่าไม้ ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง ตำรวจรถไฟ จะอยู่ที่เดิมหรือย้ายไปไหน
2.ประเด็นที่เกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรม ให้ไปพิจารณาอำนาจสอบสวนจะคงอยู่อย่างเดิม หรือจะแยกหรือคงอยู่อย่างไร จะทำงานประสานกันอย่างไรระหว่างตำรวจ มหาดไทย และอัยการ กรมสอบสวนคดีพิเศษ
นายวิษณุ กล่าวว่า 3.การบริหารงานบุคคล คือ เรื่องการแต่งตั้งโยกย้าย การคัดคนเข้ามาเป็นตำรวจ จะใช้ระบบอะไร หลักสูตรนักเรียนนายร้อย เหมาะสมทันสมัย หรือไม่ รวมถึงการให้ตำรวจมีหรือไม่มีเครื่องแบบ และการจัดสรรกำลังเพื่อสนับสนุนงานของตำรวจ ทั้งหมดนี้เป็นโจทย์ที่นายกฯวางไว้ และให้ไปดูด้วยว่าระบบการแต่งตั้งโยกย้ายจะใช้ระบบอาวุโส ระบบความดีงาม จะแบ่งสัดส่วนกันอย่างไร ซึ่งคำสั่งที่ตั้งกรรมการระบุว่า เรื่องอื่นช้าได้ แต่เรื่องนี้ต้องเสร็จภายในปีนี้ โดยนายกฯ ได้เขียนสูตรการทำงานด้วยลายมือ จำนวน 13 หน้าเอสี่ โดยสูตร คือ 2 – 3 – 4 คือ 2 เดือนแรกให้คุยเรื่องปัญหาทั้งหมด อ่านงานวิจัยให้หมด 3 เดือน ถัดไปยกร่างกฎหมาย กำหนดกติกาให้เสร็จ และ 4 เดือนสุดท้าย รับฟังความเห็นและแต่งเติมส่วนที่บกพร่อง ทั้งหมด 9 เดือน พอดีหมดอายุกรรมการ รัฐบาลจะไม่เข้าไปแทรกแซง และการประชุมวันนี้ไม่ใช่การประชุมเป็นการหารือนอกรอบ จะนับหนึ่งในการประชุมวันที่ 12 ก.ค. นายกฯ ระบุในที่ประชุมว่า คำถาม คือ คนรู้ทั้งประเทศว่า ตำรวจมีโจทย์อะไรบ้าง สิ่งที่คนทั้งประเทศรอ คือ คำตอบ จึงเป็นเรื่องที่คณะกรรมการต้องไปทำงานกัน นายกฯเชื่อมั่นและฝากความหวังไว้ที่คณะกรรมการ สิ่งใดทำเสร็จก่อนให้เอาออกมาก่อน หากต้องใช้มาตรา 44 แก้ให้นายกฯก็ยินดี หรือต้องแก้กฎหมาย ออกคำสั่งนายกฯ หรือใช้กฎ ก.ตร.ก็ให้ดำเนินการไปก่อนได้