สนช.ลงมติฉลุย 177 เสียง เห็นชอบ พ.ร.ก.แรงงานต่างด้าวให้เป็น พ.ร.บ.แต่รุมท้วงบทลงโทษปรับ 4-8 แสนบาท รุนแรงเกิน ห่วง เปิดช่อง จนท.รีดไถ
วันที่ 6 ก.ค. ที่รัฐสภา มีการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อพิจารณาพ.ร.ก.การบริหารจัดการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 ตามที่ครม.เป็นผู้เสนอ พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล รมว.แรงงาน ชี้แจง ว่า ที่ผ่านมา พ.ร.บ.การทำงานคนต่างด้าว พ.ศ.2551 และ พ.ร.ก.การนำคนต่างด้าวมาทำงานกับนายจ้างในประเทศไทยพ.ศ.2559 มีบทบัญญัติไม่สอดคล้องกับสถานการณ์แรงงานในปัจจุบัน จึงต้องออก พ.ร.ก.ดังกล่าว เพื่อแก้ปัญหาแรงงานต่างด้าว อย่างมีประสิทธิภาพ
จากนั้น ที่ประชุมเปิดให้สมาชิก สนช.อภิปรายแสดงความเห็นส่วนใหญ่ เห็นด้วยกับการจัดระเบียบแรงงานต่างด้าว แต่เป็นห่วงเรื่องบทลงโทษใน พ.ร.ก. กรณีนายจ้างที่รับแรงงานต่างด้าวทำงานโดยไม่มีใบอนุญาต มีโทษปรับ 400,000-800,000 บาท ซึ่งรุนแรงเกินไป เปิดช่องให้มีการเรียกรับผลประโยชน์จากเจ้าหน้าที่รัฐ และขั้นตอนการขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวให้ถูกกฎหมายมีหลักเกณฑ์ยุ่งยาก ใช้เวลาดำเนินนาน
นายสุพันธ์ มงคลสุธี สนช. กล่าวว่า ปัญหาขณะนี้ คือ แรงงานต่างด้าวที่ทำงานในสถานประกอบการเอสเอ็มอีและตามบ้านเรือน ที่นายจ้างไม่เข้าใจขั้นตอนการนำแรงงานต่างด้าวไปขึ้นทะเบียนให้ถูกต้องตามกฎหมาย และการขึ้นทะเบียนต้องมีค่าใช้จ่ายไม่ต่ำกว่า 25,000 บาทต่อคน ส่วนการกำหนดโทษปรับสูงถึง 4-8 แสนบาทนั้น ถือว่า ไม่เหมาะสม เพราะนำไปเทียบเคียงกับโทษการค้ามนุษย์ ทั้งที่เป็นคนละฐานความผิดกัน มีมุมมองเหมือนภาคเอกชนเป็นผู้สร้างปัญหา มุ่งเน้นแต่บทลงโทษแทนที่จะอำนวยความสะดวกผู้ประกอบการ ในการนำแรงงานต่างด้าวไปขึ้นทะเบียนให้ถูกกฎหมาย

...
ขณะที่ นายวรานนท์ ปีติวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า รายงานจากสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) ระบุว่า หลังจากที่ พ.ร.ก.ฉบับนี้ ประกาศใช้ตั้งแต่วันที่ 23 มิ.ย. มีแรงงานต่างด้าว ที่ไม่มีใบอนุญาตทำงานเดินทางกลับบ้านไปแล้ว 60,000 คน แต่เมื่อมีการผ่อนคลายใช้ มาตรา 44 จะกลับเข้ามาในระบบใหม่ แต่นายจ้างต้องนำลูกจ้างไปขึ้นทะเบียนให้ถูกต้อง ในช่วงแรกจะเริ่มต้นที่แรงงานพม่าก่อนมีขั้นตอน คือ การนำลูกจ้างไปที่ศูนย์ประจำจังหวัดต่างๆ เพื่อให้เจ้าหน้าที่พิสูจน์ความสัมพันธ์การเป็นนายจ้างลูกจ้าง จะมีการเปิดศูนย์นี้ในทุกจังหวัด จะเสียค่าธรรมเนียมการออกเอกสาร 300 บาท จากนั้น ให้นำเอกสารไปที่ศูนย์พิสูจน์สัญชาติพม่า เพื่อออกหนังสือรับรองสัญชาติพม่า (ซีไอ) มีอายุ 4 ปี ก่อนที่จะนำไปขอวีซ่าและใบอนุญาตการทำงานภายใน 15 วัน ซึ่งจะเสียค่าธรรมเนียมการทำวีซ่า 500 บาท และใบอนุญาตการทำงาน 900 บาท รวมเบ็ดเสร็จเสียค่าดำเนินการขึ้นทะเบียนประมาณ 1,500 บาท เท่านั้น ไม่ใช่เป็นหลักหมื่นบาท ตามที่พูดกัน ยืนยันว่า คนของกระทรวงแรงงาน ต้องไม่มีการทุจริต หากมีการทุจริตจะดำเนินการอย่างเฉียบขาดและจริงจังกับคนเหล่านี้
จากนั้น ที่ประชุม สนช.ลงมติเห็นชอบ พ.ร.ก.การบริหารจัดการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 ด้วยคะแนน 177 งดออกเสียง 11 ไม่ลงคะแนน 1 เห็นชอบให้ พ.ร.ก.ฉบับนี้เป็น พ.ร.บ.การบริหารจัดการการทำงานของแรงงานต่างด้าว ต่อไป.