ข่าวคราวการเตรียมจัดตั้ง "พรรคทหาร" วนกลับมาเป็นประเด็นกันอีกครั้ง ภายหลังสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ(สปท.) เริ่มทยอยแห่กันลาออก หลังจากมีสมาชิก สปท. 25 คน ยื่นใบลาออกจากการเป็น สปท. เพื่อเตรียมตัวลงเล่นการเมือง และหนึ่งในนั้นคือ นายสมพงษ์ สระกวี อดีต ส.ว.สงขลา และแกนนำคนเสื้อแดง ผู้มากด้วยมิตรสหาย ทั้งในสายการเมือง นักธุรกิจ ตำรวจ แม้กระทั่งวงการทหาร
กระแสดังกล่าวยิ่งชัดมากยิ่งขึ้น เมื่อ นายสมพงษ์ ประกาศชัดๆ กับนักข่าวว่า การลาออกจาก สปท.ครั้งนี้ เพื่อเตรียมแต่งองค์ทรงเครื่องสมัครรับเลือกตั้ง ซึ่งไม่ใช่ในนามยี่ห้อเพื่อไทย แต่เป็นพรรคการเมืองขนาดเล็กที่จดทะเบียนอยู่เดิมร่วมกับ บิ๊กเยิ้ม พล.อ.ธวัชชัย สมุทรสาคร และพ.อ.สุชาติ จันทรโชติกุล สปท.สายการปกครองท้องถิ่น

ส่วนเหตุผลที่จะไปอยู่พรรคเล็กนั้น นายสมพงษ์ ระบุว่า "เพราะตนเป็นผู้เสนอให้มีการปฏิรูปพรรคการเมือง ดังนั้นจึงอยากเริ่มต้นไปพัฒนาปฏิรูปพรรคการเมืองขนาดเล็ก ซึ่งขณะนี้กำลังชักชวนพรรคเล็กอีก 2 พรรค ให้มารวมตัวเป็นพรรคใหม่ เพื่อช่วยเหลือกันหาสมาชิกพรรค ลดภาระความยุ่งยากเรื่องการหาสมาชิกพรรค รวมถึงการตั้งสาขาพรรคประจำหน่วยเลือกตั้งต่างๆ ให้ครบจำนวนตามที่กำหนดไว้ในระบบ "ไพรมารีโหวต" โดยยืนยันว่า พรรคเล็กที่จะมารวมตัวกันไม่ใช่พรรคตัวแทนทหาร แต่มีทหารบางส่วนมาร่วมด้วยเท่านั้น และหากทหารตั้งพรรคการเมืองขึ้นมาจริงๆ พรรคเล็กก็พร้อมเป็นพันธมิตรกับ "พรรคทหาร" นี่คือคำกล่าวยืนยันของ นายสมพงษ์
...

แต่ประเด็นสำคัญของกระแสตั้ง "พรรคทหาร" นั้นอยู่ที่ 1ใน 2 บุคคล ที่ นายสมพงษ์ อ้างก่อร่างสร้างพรรคใหม่นั้นก็คือ บิ๊กเยิ้ม พล.อ.ธวัชชัย ซึ่งเป็นเพื่อนร่วมรุ่น ตท.12 ของ บิ๊กตู่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.อีกทั้งยังได้รับความไว้วางใจให้ทำงานสำคัญหลายเรื่องหลังรัฐประหารจากนายกฯอีก แม้สุดท้ายเจ้าตัวจะออกมาปฏิเสธว่า ไม่ได้จะไปสมัครร่วมกับพรรคการเมืองขนาดเล็ก เพื่อลงสมัครรับเลือกตั้ง โดยไม่อยากเล่นการเมือง เพราะไม่ได้มีการปฏิรูป แต่ก็ไม่ทำให้เรื่องนี้หายไปตามข่าว
เมื่อเพื่อนรักอย่าง พ.อ.สุชาติ ออกมาเปิดเผยแนวคิดเรื่องการปลุกปั้นรวมพรรคขนาดเล็ก ให้เป็นพรรคขนาดกลาง เพื่อเป็นทางเลือกในการเลือกตั้งกับ "ทีมข่าวไทยรัฐออนไลน์" ว่า "แนวคิดคือตามรัฐธรรมนูญใหม่ พรรคการเมืองที่ยืนอยู่ได้คงเป็นพรรคขนาดกลาง หรือพรรคขนาดใหญ่ พรรคเล็กๆคงยืนอยู่ยาก เหตุด้วยกฎหมายพรรคการเมือง ที่กำลังจะออกมาเร็วๆนี้ ทำให้พรรคเล็กมีโอกาสสู้พรรคใหญ่ในการเลือกตั้งยากขึ้น เพราะปัจจัยเรื่องเวลาที่มีน้อยด้วย ไหนจะเรื่องพื้นที่ในการเลือกตั้งอีกทั่วประเทศ ที่ถูกพรรคใหญ่ล็อกเอาไว้หมดแล้ว ยกตัวอย่าง เช่น ภาคใต้ก็ถูกผูกขาดโดยพรรคประชาธิปัตย์ ส่วนภาคอีสานก็ถูกผูกขาดโดยพรรคเพื่อไทย ส่วนภาคเหนือและภาคกลางก็ถูกพรรคใหญ่ผูกขาดด้วยเช่นกัน ดังนั้นพรรคเล็กหรือพรรคเกิดใหม่จึงแทบไม่มีโอกาสแจ้งเกิด หรือชนะการเลือกตั้งเลย จึงทำให้ตนมีแนวคิด อยากรวมพรรคเล็กที่มีแนวคิดเดียวกัน ให้เป็นพรรคเดียว เป็นพรรคขนาดกลาง เพื่อเป็นทางเลือกให้ประชาชน ก็จะทำให้มีคุณสมบัติพร้อมที่จะลงเลือกตั้งครั้งหน้า"
ส่วนมีการพูดคุยหรือทาบทามพรรคการเมืองขนาดเล็กไว้บ้างหรือยังตอนนี้นั้น พ.อ.สุชาติ กล่าวว่า "มีการพูดคุยกันไปหลายครั้งแล้ว แต่ยังไม่ถึงขั้นทาบทามหรือเชื้อเชิญมารวมกัน ทุกอย่างเป็นเพียงแนวคิดเฉยๆ"
เท่าที่มีการพูดคุยกัน มีโอกาสเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน พ.อ.สุชาติ กล่าวว่า "รอให้กฎหมายพรรคการเมืองมีความชัดเจนก่อน ก็น่าจะเป็นเวลาในการพูดคุยที่เหมาะสม"

ส่วนจะสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯต่อหรือไม่นั้น พ.อ.สุชาติ กล่าวยอมรับว่า "เราเริ่มต้นในลักษณะอย่างนี้ เราไม่เห็นด้วยกับแนวคิด "ตั้งพรรคทหาร" หรือให้ พล.อ.ประยุทธ์ ตั้งพรรคการเมือง เมื่อไม่ตั้งพรรคการเมืองจะเป็นนายกฯต่อ โดยไม่มี ส.ส.ในสภาเป็นไปไม่ได้ ดังนั้นเราจึงใช้วิธีการทำความเข้าใจกับพรรคเล็กว่า มีความคิดเห็นตรงกันหรือไม่ ถ้าความคิดเห็นตรงกัน คือ อยากสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯต่อ ก็มารวมตัวกัน"
ได้มีการส่งสัญญาณหรือพูดคุยให้ พล.อ.ประยุทธ์ รับทราบแล้วหรือไม่ พ.อ.สุชาติ กล่าวว่า "ยัง เป็นแค่แนวคิด ยังไม่มีการพูดคุยให้ พล.อ.ประยุทธ์ รับทราบเป็นทางการ เพราะเราถือว่า ณ วันนี้เสียงส่วนใหญ่ทั้งประเทศ ยังต้องการสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯต่อ เพื่อแก้ไขปัญาบ้านเมือง"

แน่นอนว่าด้วยกลไกตามรัฐธรรมนูญ ปี 2560 มีข้อจำกัดมากมายที่ไม่เอื้อให้กับพรรคขนาดเล็ก ทั้งเรื่องการจัดตั้งจดทะเบียนพรรคการเมือง ไหนจะเรื่องเสียงสนับสนุนในแต่ละพื้นที่ ที่ไม่ใช่เรื่องง่ายกับการต้องไปแข่งขันกับพรรคขนาดใหญ่ ซึ่งมีฐานเสียงเข้มแข็งกว่า ยิ่งในระบบการเลือกตั้งใหม่ที่ใช้เสียง ส.ส.เขต มาคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่ออีก ดังนั้นการรวมพรรคเล็กให้เป็นพรรคขนาดกลาง ดูเป็นทางเลือกที่ดีกว่าสำหรับ "พรรคทหาร" ของ คสช.ในการคิดเล่นการเมือง เพราะถ้าคิดจะเดินบนถนนสายนี้ต่อไป ทั้งลงสมัครรับเลือกตั้ง หรือแม้กระทั่งรอเสียงรัฐสภาโหวตนายกฯคนนอก ก็จำเป็นต้องมีแรงหนุนจาก ส.ส.ทั้งสิ้น