"วิษณุ" แจงเพิ่มโทษ พ.ร.ก.ต่างด้าวสูง เดินตาม ก.ม.ค้ามนุษย์ ผ่อนผัน 6 เดือน โทษหนักกลับมา 1 ม.ค.61 ด้าน "บิ๊กบี้" เตรียมชี้แจงหน่วยงานเกี่ยวข้อง ไม่หาผลประโยชน์ พร้อมเร่งทบทวนการออก ก.ม. ขณะที่อธิบดี กกจ.เผยต่างด้าวมีใบอนุญาตทำงานแล้ว 1.3 ล้านคน
เมื่อวันที่ 4 ก.ค.60 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล รมว.แรงงาน และนายวรานนท์ ปีติวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน ร่วมแถลงข่าวกรณี คสช.เตรียมใช้อำนาจมาตรา 44 ออกคำสั่งหัวหน้า คสช. เพื่อผ่อนผันการบังคับใช้มาตรา 101, 102, 119, 122 ใน พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว ที่เกี่ยวกับโทษปรับนายจ้างและแรงงานต่างด้าว
โดย นายวิษณุ กล่าวว่า การที่ต้องออกกฎหมายดังกล่าวเป็น พ.ร.ก. หากออกเป็น พ.ร.บ. ต้องใช้เวลาพิจารณานานถึง 6 เดือน ขณะที่สถานการณ์ตอนนี้ค่อนข้างบีบรัดมาก ต้องออกกฎหมายในเวลาอันสั้น จึงจำเป็นต้องออกเป็น พ.ร.ก. ส่วนที่ไม่ใช้ มาตรา 44 ตั้งแต่แรก เพราะมาตรา 44 ไม่เคยออกอะไรที่เป็นยาวเกิน 5-10 มาตรา เมื่อพิจารณาแล้วทางสายกลางจึงต้องใช้ พ.ร.ก.
ส่วนกรณีกำหนดโทษปรับ 4-8 แสนบาท เนื่องจากเป็นกฎหมายชุดเดียวกับกฎหมายค้ามนุษย์ ซึ่งมีอยู่ 4 ฉบับ จะไปปรับกฎหมายเล็กน้อยกว่าก็ไม่ได้ ต้องใช้มาตรฐานเดียวกัน คือ มาตรฐานค้ามนุษย์ นี่คือที่มา ยืนยันไม่ได้ร่างกฎมายแบบส่งเดช ไม่ได้ผิดมนุษยธรรม
นายวิษณุ กล่าวต่อว่า คำสั่ง คสช.ที่จะออกมาเพื่อผ่อนปรน พ.ร.ก.ดังกล่าว มีหลักการ คือ ยืนยันยังยึดนโยบายไม่ลดราวาศอกให้กับการค้ามนุษย์ โทษปรับสูงยังต้องมีอยู่ เรายังคงห่วงเศรษฐกิจและความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ ไม่ยอมให้อะไรมาฉุดการพัฒนาเศรษฐกิจประเทศ การผ่อนปรนทั้ง 4 มาตราดังกล่าว จากเดิมที่มีแนวคิดจะขยายไป 120 วัน ก็ปรับเพิ่มเป็น 180 วัน เนื่องจากการที่แรงงานจะเดินทางกลับประเทศไปทำเรื่องต่างๆ ให้ถูกต้อง แต่ละคนต้องใช้เวลา 2 เดือน ดังนั้นการกำหนดกรอบ 6 เดือน เพื่อให้แรงงานได้สับเปลี่ยนไปดำเนินการ ป้องกันการขาดแคลนแรงงาน มาตรการในกฎหมายทั้ง 4 มาตรา จะกลับมามีผลบังคับใช้วันที่ 1 ม.ค. 61 และในคำสั่งได้กำหนดไว้ด้วยว่า ระหว่างนี้จะไม่มีการจับไม่ปรับและไม่ดำเนินคดี และรีดไถเงินกับแรงงานที่กลับไปดำเนินการตามกฎหมายให้ถูกต้อง โดยเจ้าหน้าที่ก็ไม่ต้องกลัวจะผิดฐานละเว้นปฏิบัติหน้าที่ พร้อมทั้งจะมีการวางมาตรการป้องกันแรงงานผิดกฎหมายทะลักเข้ามาด้วย หากพบเจ้าหน้าที่กระทำผิด สามารถร้องเรียนได้ที่รัฐบาลและศูนย์ดำรงธรรม รวมถึงต้นสังกัดของหน่วยงานนั้นๆ ระหว่างนี้ขอให้กระทรวงแรงงานไปทบทวน พ.ร.ก.ฉบับดังกล่าวว่าจะเปลี่ยนกำหนดโทษหรือมาตรการอื่นๆ อีกหรือไม่ โดยให้เวลา 4 เดือน และส่งมาให้รัฐบาลพิจารณาต่อภายใน 2 เดือน ทั้งนี้ถือเป็นการแก้ปัญหาแรงงานต่างด้าวทั้งระบบ โดยมาตรา 44 ดังกล่าวจะออกภายในวันเดียวกันนี้ (4 ก.ค.)
...
ขณะที่ พล.อ.ศิริชัย กล่าวว่า จากนี้ทางกระทรวงไปจะปรับปรุงการอำนวยความสะดวก แก่สถานประกอบการในการติดต่อขอขึ้นทะเบียนลูกจ้างหรือรับทราบข้อมูล พร้อมกับจะชี้แจงกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องทุ่มเทในการทำงาน โดยไม่แสวงหาประโยชน์จากแรงงาน รวมถึงจะเร่งกลับไปทบทวนการออกกฎหมายโดยเร็ว
ด้าน นายวรานนท์ กล่าวว่า วันนี้เรามีแรงงานต่างด้าวในประเทศไทยที่ถูกต้องตามกฎหมาย มีใบอนุญาตทำงานเป็นที่เรียบร้อย 1.3 ล้านคน และมีแรงงานต่างด้าวที่ได้รับผ่อนผันให้ได้อยู่ในประเทศเป็นการชั่วคราว ถึงวันที่ 31 มี.ค. 61 จำนวน 1.3 ล้านคน ซึ่งกลุ่มนี้ต้องดำเนินการให้มีบัตรประจำตัวให้ทันในวันดังกล่าว เราได้ทำข้อตกลงกับประเทศเพื่อนบ้านทั้ง เมียนมา ลาว และกัมพูชา โดยเมียนมาได้ออกศูนย์พิสูจน์สัญชาติในไทยถึง 5 ศูนย์ด้วยกัน ซึ่งกัมพูชาก็ได้เริ่มนำเอกสารมาแจกให้แรงงานของเขา ขณะที่ทางการลาวจะดำเนินการตั้งศูนย์พิสูจน์สัญชาติในเดือนหน้า ส่วนตัวเลขแรงงานที่ผิดกฎหมายในประเทศไทยนั้น ประเมินว่ามีไม่น่าเกิน 1 ล้านคน เพราะทุกครั้งที่มีการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าว จะมีคนกลุ่มนี้ประมาณ 1 ล้านคนเศษ แต่รัฐบาลนี้ได้ดำเนินการไปแล้ว 400,000 คน มั่นใจว่าเราจะดำเนินการในขั้นตอนต่างๆ ให้เรียบร้อยภายใน 6 เดือน.