อนุโลมให้ 4 มาตราขีดเส้น 120 วัน พม่าร้องแรงงานถูกจนท.ไถซํ้า แม่ทัพ 3 ขอผวจ.ตากสอบเอาผิด
ใช้แน่มาตรา 44 เล็งชะลอบท ลงโทษ พ.ร.ก.บริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว 3-4 มาตรา ขณะที่ “นายกฯ” ยืนกรานผ่อนปรน 120 วัน ต้องจัดการให้เรียบร้อย ลั่นต้องขึ้นบัญชีที่ชายแดนเท่านั้น พร้อมหามาตรการรองรับในระยะยาว ด้าน คสช.หนุนสร้างมาตรฐานแรงงาน ส่วน “กกร.” ถก หวังหามาตรการรองรับปัญหาในทางปฏิบัติ ขณะที่แม่ทัพภาค 3 สั่งเร่งตรวจสอบปมเจ้าหน้าที่ไทยเรียกรับเงินแรงงานเมียนมา หวั่นกระทบความสัมพันธ์ประเทศ
หลังจากมีเสียงสะท้อนจากผู้ประกอบการถึงปัญหาการบังคับใช้ พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 ที่มีผลมาตั้งแต่วันที่ 23 มิ.ย.ที่ผ่านมา จนทำให้แรงงานต่างด้าวสัญชาติเมียนมา กัมพูชา และลาว ที่เข้ามาทำงานในไทยอย่างไม่ถูกต้อง แห่เดินทางกลับบ้านเกิดอย่างต่อเนื่อง กระทบถึงนายจ้างจนต้องออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลหาทางผ่อนผันการใช้ พ.ร.ก.ดังกล่าว
“บิ๊กตู่” ยันทำตามพันธสัญญา
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 3 ก.ค. ที่ห้องแกรนด์ไดมอนด์บอลรูม อิมแพคเมืองทองธานี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวระหว่างเป็นประธานเปิดการประชุมประจำปี 60 ของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ถึงข้อกังวลของผู้ประกอบการต่อ พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว ว่า การออก พ.ร.ก.ดังกล่าวมีเหตุผลและความจำเป็น เพราะเรามีพันธสัญญา เขากำลังเพ่งเล็งประเทศ ไทยเรื่องการค้ามนุษย์ แม้แต่ประเทศมาเลเซียก็ทำ ถือเป็นข้อตกลงกันระหว่าง 4 ประเทศในอาเซียน ต่อไปนี้แรงงานต้องขึ้นบัญชีหรือการนำเข้าแรงงานที่ชายแดนเท่านั้น ไม่มีการขึ้นทะเบียนในประเทศ ตลอด 3 ปีที่รัฐบาลเข้ามาแก้ไขปัญหา ขึ้นบัญชีได้ 2-3 ล้านคน แต่ยังมีปัญหาคนเหล่านี้ยังไม่ได้รับการพิสูจน์สัญชาติทั้งหมด เราก็ผ่อนผันและลงทะเบียนให้ ต้องเป็นแรงงานชั่วคราวไม่สามารถย้ายงานได้ ถือบัตรสีชมพู เละไปหมด เป็นภาระประเทศต้นทางต้องเป็นคนพิสูจน์สัญชาติ
...
ขีดเส้นทำให้ทันใน 120 วัน
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า แรงงานคนเดิมที่เข้ามาและออกไป ก็หวังจะกลับมาทำที่เดิม ต้องทำอย่างไรให้เขากลับมาที่เดิม แต่สำนักงานจัดหางานที่มีคนซวยๆ ห่วยๆ กวาดแรงงานพวกนี้ไปหมดเพื่อนำไปทำงานที่ใหม่ แรงงานเหล่านี้ก็เดือดร้อน คนที่ออกไปต้องล็อกให้เขากลับมาทำงานที่เดิม อีกส่วนต้องไปพิสูจน์สัญชาติต้นทางใหม่ถึงจะเข้ามาทำงานได้ ถือว่าใหม่เอี่ยม กระทรวงแรงงานกำลังทำงานอยู่ขอให้เข้าใจ ตนไม่อยากให้ใครเดือดร้อน แต่ไม่ให้เขาออกไป ไม่ได้ ส่วนค่าปรับ 4-8 แสนบาทมากไปหรือไม่ ก็ต้องไปดูความเหมาะสม ขอร้องอย่ามาเคลื่อนไหวอะไรกันนัก ส่วนที่ให้เวลา 120 วัน ขอให้ทำให้ทัน แล้วประสานหน่วยงานชายแดนให้รู้เรื่อง ขอให้เห็นใจเจ้าหน้าที่ ไม่ทำก็ไม่ได้ เพราะของเก่ามันห่วยไม่ดูแล กันเลยก็เป็นแบบนี้
“ประวิตร” ยันใช้ ม. 44 แก้ปัญหา
ส่วนที่กระทรวงแรงงาน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ให้ สัมภาษณ์ก่อนเป็นประธานประชุมคณะกรรมการนโยบายแก้ปัญหาแรงงานต่างด้าวและการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน (กนร.) ถึงมาตรการในการดูแลแรงงานต่างด้าว หลัง พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 บังคับใช้เมื่อวันที่ 23 มิ.ย. ว่า จะต้องออกมาตรา 44 เพื่ออนุโลมให้แรงงานต่างด้าวสามารถทำงานต่อไปได้ เป็นการแก้ปัญหา 120 วันไปก่อน ต้องดูการประชุม คสช. ในวันที่ 4 ก.ค.นี้ แต่มีแนวโน้มที่ต้องใช้มาตรา 44 ก็จะนำผลการประชุม กนร. ที่จะมีการหารือกันว่าใน 120 วัน จะต้องทำอะไร และนำข้อสรุปเข้าที่ประชุม คสช.ก่อนนำเข้า ครม. และออกประกาศใช้ได้เลย และหลัง พ.ร.ก.ต่างด้าว มีผลบังคับใช้ มีแรงงานต่างด้าวที่กลัวว่าจะถูกจับกุมดำเนินคดีตามกฎหมายใหม่ ทยอยเดินทางออกไปตามด่านชายแดน ประมาณ 8 พันคนแรก ขณะนี้ยอดเดินทางออกเบาลงแล้ว กลุ่มที่กลับไปเป็นการกลับไปทำให้ถูกต้อง ไปทำซีไอ แล้วกลับเข้ามาทำงานใหม่อย่างถูกต้อง ส่วนเรื่องที่ไทยจะตั้งศูนย์พิสูจน์สัญชาติใน 5 จังหวัด ก็ได้รับความร่วมมือจากเพื่อนบ้านดี
ขยายบัตรชมพู 2 กลุ่มแรงงาน
ต่อมา นายวิวัฒน์ จิระพันธุ์วานิช ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน แถลงผลการประชุม กนร. ว่า มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการแรงงานต่างด้าว พ.ศ.2560-2564 และคณะอนุกรรมการติดตามและประเมินผลยุทธศาสตร์การบริหารฯ หามาตรการรองรับกับการบังคับใช้ พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของแรงงานต่างด้าว พ.ศ.2560 โดย กนร.เห็นชอบให้ ขยายเวลาแรงงานต่างด้าว 2 กลุ่ม คือ ประมง กับแปรรูปสัตว์น้ำ ที่บัตรสีชมพูหมดอายุ 1 พ.ย.60 กับกลุ่มแรงงานทั่วไปที่หมดอายุ 31 มี.ค. 61 ซึ่งผ่านการตรวจสัญชาติได้วีซ่าแล้ว แต่ไม่สามารถไปขอใบอนุญาตทำงานได้ทันกำหนดใน 15 วัน เนื่องจากช่วงเดือน มี.ค.-เม.ย. แรงงานนับแสนคนเดินทางกลับประเทศต้นทาง กลับมาขออนุญาตไม่ทัน กนร. จึงขยายเวลาให้ยื่นขอใบอนุญาตทำงานได้จนถึงวันสิ้นอายุบัตรสีชมพูที่ถืออยู่
ย้ำมีมาตรการรองรับชัดเจน
นายวิวัฒน์กล่าวว่า ที่ประชุมมีการพิจารณาถึงกรณีแรงงานต่างด้าวเดินทางออกนอกประเทศ ว่า หลัง 23 มิ.ย. มีแรงงานต่างด้าวเดินทางออกผ่าน ด่านชายแดนกว่า 29,000 คน แต่ก็มียอดแรงงานที่เดินทางเข้ามาทำงานตามเอ็มโอยู 6 หมื่นคน ส่วนการชะลอ พ.ร.ก.ต่างด้าว ที่ส่งผลกระทบนายจ้างและแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย ยังต้องรอดูคำสั่ง มาตรา 44 ที่จะออกมาว่า ใน 120 วัน จะให้การช่วยเหลืออย่างไร หลังจากนั้นกระทรวงแรงงานจะแถลงมาตรการให้ชัดเจน นายจ้างจึงอย่าวิตกเกินไป เพราะหากปล่อยให้ลูกจ้างเดินทางกลับ จะเป็นการเสียโอกาสสำหรับคนที่มีใบอนุญาตทำงาน แต่ชื่อนายจ้างไม่ตรงตามที่ระบุ และทำงานผิดสถานที่ นายจ้างสามารถนำไปยื่นขอเปลี่ยนชื่อได้ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัด โดยจะทำได้เสร็จใน 1 วัน นอกจากนี้ ยังมีการรายงานผลการประชุมวิชาการเมียนมา-ไทย
ซึ่งเมียนมารับหลักการให้คนของเขามาทำงานในไทยแบบรัฐต่อรัฐ ในอาชีพประมง ก่อสร้าง ภาคบริการ เอสเอ็มอี โดยเห็นชอบตั้งคณะทำงานร่วมกัน ฝ่ายละ 5 คน
ให้ชะลอโทษ 4 มาตรา
ด้าน พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล รมว.แรงงาน กล่าวว่า อยากถามว่าเคยได้ยินเรื่องต่างด้าวเต็มบ้านเต็มเมือง เป็นเจ้าของกิจการ แย่งอาชีพคนไทย กันบ้างมั้ย สิ่งต่างๆเหล่านี้จำเป็นต้องทำให้ถูกต้อง รัฐบาลเริ่มจัดระเบียบ ตั้งแต่เข้ามาบริหารประเทศในปี 2557 เพราะอยู่ในยุทธศาสตร์การดำเนินงานของคณะกรรมการแก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าว ทำมานาน 3 ปีแล้ว รณรงค์ไม่ให้ใช้แรงงานผิดกฎหมายมาตลอด ไม่ใช่ออก พ.ร.ก.ต่างด้าวแบบปุ๊บปั๊บ พ.ร.ก.ฉบับนี้เป็นการนำกฎหมาย 2 ฉบับ มารวมกันเป็น 1 เพื่ออุดช่องว่าง ให้สามารถดำเนินการจัดระเบียบ คุ้มครอง ป้องกัน ไม่ได้มีการเพิ่มฐานความผิด เพียงแต่เพิ่มโทษสูงขึ้น ค่าปรับ 4-8 แสนบาท ไม่ใช่อยากเพิ่มก็เพิ่ม มันเชื่อมโยงกับกฎหมายอื่นในกลุ่มเดียวกัน บทลงโทษจึงเทียบเคียงกัน นายจ้างต้องตระหนัก ถ้าทำผิดก็ต้องรับโทษ ส่วนผลกระทบการขาดแคลนแรงงานนั้น นายกฯ เป็นห่วง จึงจำเป็นต้องใช้มาตรา 44 ชะลอโทษใน 4 มาตรา คือ มาตรา 101, 102, 119 และ 122 เพื่อให้ขบวนการต่างๆไปดำเนินการให้ถูกต้องภายใน 120 วัน ซึ่งที่จริงแค่ 2 เดือน หรือ 60 วันก็สามารถทำได้ แต่ได้เผื่อเวลาให้ถึง 120 วัน โดยเนื้อหาของมาตรา 44 นอกจากชะลอโทษแล้ว จะมีการห้ามเจ้าหน้าที่ที่บังคับใช้กฎหมายไปแสวงหาผลประโยชน์ ทุกส่วนต้องทำงานอย่างโปร่งใส โดยกระทรวงแรงงานจะดูแลปัญหาการขาดแคลนแรงงาน และมีแผนรองรับไว้แล้ว
คสช.หนุนสร้างมาตรฐานแรงงาน
ส่วนที่กองบัญชาการกองทัพบก พ.อ.หญิง ศิริจันทร์ งาทอง รองโฆษก คสช. กล่าวว่าการประชุมสำนักเลขาธิการ คสช.วันนี้ พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผบ.ทบ. ในฐานะเลขาธิการ คสช. กล่าวในการประชุมว่า พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว ถือเป็นเรื่องจำเป็นที่ภาครัฐต้องปรับปรุงเพื่อบริหารจัดการ และจัดระบบแรงงานต่างด้าวให้เป็นมาตรฐาน สอดคล้องกับกฎกติการะหว่างประเทศ ขอให้ทุกหน่วยงานโดยเฉพาะกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย (กกล.รส.) ไปศึกษาในรายละเอียดเพื่อใช้เป็นแนวทางประสานงานร่วมกับส่วนราชการต่างๆ โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีแรงงานต่างด้าวทำงานอยู่จำนวนมาก รวมถึงพื้นที่ชายแดน และช่วยชี้แจงประชาชนเข้าใจถึงวัตถุประสงค์ที่จะช่วยควบคุมแรงงานต่างด้าวให้เป็นมาตรฐาน ทั้งด้านความมั่นคง เศรษฐกิจ และอย่าให้มีการสร้างความเข้าใจผิดหรือหาผลประโยชน์จากเรื่องนี้
วิป สนช.ถกปรับ พ.ร.ก.เจ้าปัญหา
เช่นเดียวกับที่ทำเนียบรัฐบาล นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ โฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (วิป สนช.) กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการประสานงานร่วม 3 ฝ่าย คือ สนช. รัฐบาล สปท. ว่า ได้พิจารณา พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว วันที่ 4 ก.ค.วิป สนช.จะพิจารณาก่อนบรรจุวาระเข้าที่ประชุมสนช. เพื่อปรับให้เป็น พ.ร.บ. ทั้งนี้ ที่ประชุมได้หารือถึงข้อดีข้อเสียของกฎหมายดังกล่าว ซึ่งรัฐบาลต้องการจัดระเบียบแรงงานผิดกฎหมาย เป็นหลักการที่ดี แต่เมื่อกระทบต่อแรงงานและนายจ้าง รัฐบาลจึงไม่นิ่งนอนใจ จะหาทางแก้ไขปัญหาโดยการออกมาตรา 44 แก้ไขปัญหาชั่วคราว ส่วนตัวไม่แน่ใจเหตุผลของการเร่งออก พ.ร.ก.แทนที่จะออกเป็น พ.ร.บ. แต่รัฐบาลมีความจำเป็นเร่งด่วน เจตนาเพื่อความมั่นคง แต่เมื่อออกมาแล้วมีผลกระทบก็ต้องแก้ไขต่อไป ยืนยันว่า พ.ร.ก.ฉบับนี้ภาคเอกชนมีส่วนร่วมในการแสดงความเห็น แม้เอกชนจะมองคนละมุมกับรัฐ ก็ต้องหาจุดร่วมเพื่อเดินไปด้วยกัน
“วิษณุ” ยันออก ม.44 สัปดาห์นี้
ต่อมาเมื่อเวลา 17.30 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการเตรียมใช้มาตรา 44 ออกคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ชะลอการบังคับใช้ พ.ร.ก.การบริหารจัดการของคนต่างด้าว ใน 3 มาตราว่า สามารถออกได้ในสัปดาห์นี้ ส่วนที่มีการเรียกร้องให้ไทยหารือกับประเทศต้นทางเพื่อลงทะเบียนที่ประเทศต้นทางนั้น ขณะนี้ผู้เกี่ยวข้องดำเนินการอยู่แล้วเขาทำมากกว่าที่เราคิด จากนี้ พ.ร.ก.ดังกล่าวจะมีการนำเข้าที่ประชุม สนช. เพื่อให้พิจารณาเห็นชอบต่อไป โดยไม่ต้องเปลี่ยนเป็น พ.ร.บ. และ สนช.ไม่สามารถแก้ไขเนื้อหาที่ ครม.ส่งไปได้ ทำได้เพียงเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบเท่านั้น ส่วนกรณีแรงงานเมียนมาถูกเจ้าหน้าที่ไทยรีดไถขณะเดินทางกลับนั้น คนที่มันไม่ดีนิสัยแบบนั้นต้องมีอยู่ ถ้าพบว่ากระทำความผิดเราจะจับดำเนินการเอาโทษ ไม่ว่านายหน้าหรือผู้ใช้แรงงานที่ถูกรีดไถ ขอให้แจ้งเข้ามาที่ศูนย์ดำรงธรรม หรือศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ ขอให้ช่วยบอกเหตุการณ์มาด้วยว่าเกิดที่ไหนอย่างไร แต่ข้อสำคัญคือตัวเองอย่าไปทำอะไรผิด เพราะบางทีตัวเองทำความผิดเสียเอง ถ้าเป็นแบบนั้นถือเป็นการสมประโยชน์ เขาจึงมาจัดการ ดังนั้น อย่าไปทำอะไรผิด แต่แน่นอนว่าการรีดไถต้องถือว่าชั่วร้ายกว่า
ยันไม่กระทบลงทุนในอีอีซี
สำหรับความคิดเห็นจากหลายฝ่ายเกี่ยวกับการใช้มาตรา 44 แก้ปัญหา พ.ร.ก.แรงงานต่างด้าว ในครั้งนี้ นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดศูนย์บุคลากรทักษะสูง หรือ STC ที่ชั้น 18 อาคารจัตุรัสจามจุรี ว่ากรณีที่นายกรัฐมนตรีจะมีคำสั่ง ม.44 ชะลอ พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 บางมาตราออกไป 120 วันนั้น หลังจากนี้จะมีอะไรก็ต้องมาพิจารณากันเพราะนายกฯเองมีโจทย์ที่ประเทศต้องปฏิรูปแต่ต้องไม่ให้เกิดเดือดร้อน โดยปัญหาที่เกิดขึ้นก็ต้องมีมาตรการเข้ามาดูแลเพิ่มเติม ซึ่งจำเป็นจะต้องมาทบทวนมาตรการว่าจะมีอะไรบ้าง ทั้งวิสาหกิจขนาดกลางและย่อม (เอสเอ็มอี) ภาพรวมต้องดูแลไม่ให้กระทบ ซึ่งยังพอมีเวลาแต่สิ่งที่ดำเนินการต้องคำนึง 1.ความเป็นสากล 2.ต้องเป็นไปตามกฎหมาย และ 3. สามารถตรวจสอบและยกระดับแรงงานได้ด้วย แต่อย่างไรก็ตามปัญหาดังกล่าวไม่มีผลกระทบต่อแรงงานในพื้นที่ระเบียงเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) เพราะอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ส่งเสริมให้อยู่ในพื้นที่อีอีซีมุ่งนวัตกรรมและเทคโนโลยีขั้นสูงจึงต้องเน้นแรงงานทักษะสูง
กกร.เตรียมเสนอแก้ไขแบบยั่งยืน
ด้านนายเกรียงไกร เธียรนุกูล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า การประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ในวันที่ 4 ก.ค. มีการหารือปัญหา พ.ร.ก.แรงงานต่างด้าวเพื่อกำหนดมาตรการนำเสนอรัฐบาล เพื่อแก้ไขแบบยั่งยืน โดยเฉพาะต้องการให้ชัดเจนในเรื่องของแนวทางปฏิบัติระยะเวลา 120 วัน ซึ่งขณะนี้ยอมรับว่ามีการแตกตื่น แรงงานต่างด้าวมีการไหลออก ขณะที่นางหิรัญญา สุจินัย เลขาธิการบีโอไอ กล่าวว่า บริษัทที่รับส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอก่อนหน้านั้น เป็นการผ่อนผันให้ใช้แรงงานต่างด้าวไร้ฝีมือถูกต้องตามกฎหมายถึง 31 ธ.ค.61 และตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.62 เป็นต้นไป จะอนุญาตให้ใช้เฉพาะแรงงานนำเข้าที่เอ็มโอยูเท่านั้น
อดีต ส.ส.ปชป.ชี้แก้ไม่ถูกจุด
ด้านนายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี อดีต ส.ส. กทม. พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า แม้รัฐบาลจะประกาศใช้มาตรา 44 ชะลอการบังคับใช้โทษตาม พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานแรงงานต่างด้าว แต่ผู้ประกอบการยังคงเดือดร้อนเหมือนเดิม เพราะมาตรา 44 แค่เลื่อนการปรับเงิน 400,000-800,000 บาทเท่านั้น แต่ไม่ได้นิรโทษกรรมให้แรงงานไปทำบัตรชมพูใหม่ หรือต่ออายุ และขั้นตอนทำพาสปอร์ต การลงตราวีซ่าแรงงาน ตามบันทึกข้อตกลง (MOU) นายจ้างยังต้องทำต่อไป ทำให้นายจ้างจะล็อกตัวลูกจ้างคนเดิมที่รู้ใจเคยทำงานกันมาแล้วลำบาก แต่สามารถทำได้ เมื่อเอเยนซี่ในไทยกับประเทศปลายทางประสานกัน ให้เอกสารลูกจ้างและนายจ้างชนกันพอดี โดยมีค่าธรรมเนียมและค่าดำเนินการ ในส่วนของแรงงานพม่าต้องจ่าย 1 หมื่นบาทเศษ ส่วนชาวลาว และกัมพูชา ต้องจ่ายกว่า 2 หมื่นบาท
แรงงานเถื่อนทยอยออกอีก
สำหรับบรรยากาศตามด่านชายแดนติดประเทศเพื่อนบ้าน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ส่วนใหญ่ยังพบแรงงานต่างด้าวหอบหิ้วสัมภาระเดินทางกลับบ้านเกิดกันอย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อช่วงสายวันที่ 3 ก.ค. ที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดตาก (ตม.จ.ตาก) อ.แม่สอด มีรถรับจ้างขนแรงงานพม่าจากกรุงเทพฯ และจังหวัดใกล้เคียงมาส่งให้กับทาง ตม. เพื่อผลักดันกลับประเทศเมียนมากว่า 2,000 คน โดยนายจ้างออกค่าใช้จ่ายให้ เพื่อให้กลับไปขออนุญาตทำงานให้ถูกต้องตามกฎหมาย โดยมีเจ้าหน้าที่ ตม.แจกอาหารให้กับแรงงานทุกคน ขณะที่ พ.ต.ท.สมพงษ์ ไสยมรรคา รอง ผกก.ตม.จ.ตาก เผยว่า ตั้งแต่วันที่ 23 มิ.ย.เป็นต้นมา มีแรงงานเถื่อนแห่เดินทางกลับไปแล้วเกือบ 30,000คน ส่วนการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ หลังตรวจสอบตามขั้นตอนแล้ว จะนำรถบรรทุกขนแรงงานไปส่งที่ศูนย์แรกรับแรงงานส่งกลับที่วัดเจ้าหลงจี จังหวัดเมียวดี ห่างชายแดนราว 3 กม. ส่วนใหญ่แรงงานเหล่านี้จะกลับมาเข้าระบบเป็นแรงงานนำเข้าที่มีการตกลงระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลเมียนมา เพื่อกลับมาทำงานในประเทศไทยอย่างถูกต้อง ทาง ตม.ได้นำงบประมาณจากกองทุนส่งกลับแรงงานต่างด้าวมาซื้อข้าวปลาอาหารแจกจ่ายให้กับแรงงานเหล่านี้เพื่อมนุษยธรรม
ยังไม่เห็นหนังสือร้องถูกรีดเงิน
ขณะเดียวกัน นายเจริญฤทธิ์ สงวนสัตย์ ผวจ.ตาก กล่าวถึงกรณีนายทูลวิน ผู้ว่าราชการจังหวัดเมียวดี ทำหนังสือส่งผ่านชุดประสานงานชายแดนไทย-เมียนมา เพื่อส่งต่อ ผวจ.ตาก ขอให้ตรวจสอบด่านตรวจจาก อ.เมืองตาก-อ.แม่สอด ด่านบางแห่งเรียกรับเงินแรงงานต่างด้าวที่เดินทางกลับ ว่ายังไม่ได้รับหนังสือดังกล่าว แต่ทางกองกำลังหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารราบที่ 14 ได้รายงานให้ทราบแล้ว เบื้องต้นได้ให้ทาง พล.ต.ต.ปริญญา วิศิษฐฎากุล ผบก.ภ.จ.ตาก ตรวจสอบเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและให้รายงานให้ทราบเพื่อจะได้ทำหนังสือชี้แจงทางการเมียนมาต่อไป เพราะด่านตรวจเส้นทางตาก-แม่สอด อยู่ในความดูแลของเจ้าหน้าที่ตำรวจ รวมทั้งเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง
มทภ.3 เร่งสอบปมกินส่วย
ด้าน พล.ท.วิจักขฐ์ สิริบรรสพ แม่ทัพภาคที่ 3 กล่าวถึงการดูแลความเรียบร้อยบริเวณชายแดนไทย-เมียนมา กรณีแรงงานต่างด้าวเมียนมาเดินทางกลับประเทศจำนวนมาก ว่าส่วนใหญ่จะเดินทางออกบริเวณด่านพรมแดน อ.แม่สอด จ.ตาก รวมยอดตั้งแต่วันที่ 24 มิ.ย. มีกว่า 22,000 คน ส่วนบริเวณด่านพรมแดนท่าขี้เหล็ก อ.แม่สาย จ.เชียงราย มีประมาณ 2,000-3,000 คน ทุกอย่างยังคงเป็นไปด้วยความเรียบร้อย สำหรับกรณีที่นายทูลวิน ผวจ.เมียวดี ทำหนังสือผ่านชุดประสานงานไทย-เมียนมา (แม่สอด-เมียวดี) ถึงนายเจริญฤทธิ์ สงวนสัตย์ ผวจ.ตาก ขอให้ทางการไทยตรวจสอบและแก้ไขปัญหาการเรียกรับเงินจากแรงงานเมียนมานั้น เจ้าหน้าที่ฝ่ายไทยไม่ได้นิ่งนอนใจ ให้ ผวจ.ตากตรวจสอบข้อเท็จจริงว่าเป็นใคร หน่วยงานไหน และด่านใด ได้สั่งให้หน่วยทหารในพื้นที่ตรวจสอบรายละเอียดด้วยเช่นกัน เบื้องต้นทราบว่าด่านที่ถูกร้องเรียนไม่ใช่ด่านพรมแดนแม่สอด แต่เป็นด่านที่ถึงก่อนด่านตรวจบ้านห้วยยะอุในพื้นที่ อ.แม่สอด ต้องเร่งตรวจสอบ เพราะเกรงว่าเรื่องนี้จะกระทบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศได้
รอผลสอบ ตร.รับส่วยต่างด้าว
อีกด้านหนึ่ง พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษก ตร. กล่าวที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ถึงกรณีนี้ที่มีเจ้าหน้าที่ตำรวจสังกัด บก.ภ.จ.ตาก เรียกรับผลประโยชน์จากบุคคลต่างด้าว ได้รับรายงานจาก ผบก.ภ.จ.ตากว่า มีการเน้นย้ำและสั่งการไปหลายรอบ ขณะนี้ได้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง มีรอง ผบก.ภ.จ.ตากเป็นประธานตรวจสอบข้อเท็จจริง อยู่ระหว่างรอผลการตรวจสอบ
แรงงานกัมพูชากลับบ้านลดลง
เที่ยงวันเดียวกัน พ.ต.อ.เบญจพล รอดสวาสดิ์ ผกก.ตม.จ.สระแก้ว ได้นำกำลังไปตรวจสอบขบวนรถไฟสายกรุงเทพฯ-อรัญประเทศ ที่สถานีรถไฟอรัญประเทศ จ.สระแก้ว พบมีแรงงานชาวกัมพูชาเกือบ 100 คน แสดงตัวขอเดินทางกลับประเทศ นำตัวไปทำประวัติเตรียมผลักดันกลับประเทศกัมพูชา ซึ่ง พ.ต.อ.เบญจพลเปิดเผยว่า ตั้งแต่วันที่ 24 มิ.ย.-2 ก.ค. มีการผลักดันแรงงานชาวกัมพูชากลับประเทศไปแล้ว 3,914 คน โดยก่อนผลักดันออกไปได้ให้เจ้าหน้าที่ชี้แจงให้แรงงานเหล่านี้รู้และเข้าใจ พ.ร.ก.แรงงานต่างด้าวฉบับใหม่ การจะเข้ามาทำงานในประเทศไทยอีกต้องทำพาสปอร์ตแรงงานเข้ามาอย่างถูกต้อง ส่วนผู้ที่จะมาทำงานในเขตพื้นที่ จ.สระแก้ว สามารถทำบอร์เดอร์พาสแรงงาน ใช้ได้ครั้งละ 30 วัน ขณะนี้จำนวนแรงงานชาวกัมพูชาที่ขอกลับประเทศเริ่มลดลง
คนงานแพปลาหายเกือบครึ่ง
ที่องค์การสะพานปลา จ.ระนอง ต.ปากน้ำ อ.เมืองระนอง แหล่งซื้อขายอาหารทะเลสดใหญ่ที่สุดในจังหวัด บรรยากาศค่อนข้างเงียบเหงา เนื่องจากคนงานต่างด้าวส่วนใหญ่เป็นชาวพม่าหายไปกว่าครึ่ง นอกจากนี้บรรดาเจ้าของแพปลา รวมทั้งพ่อค้าแม่ค้าอาหารทะเลที่มาประมูลซื้อ หรือ “เปีย” อาหารทะเล ลดจำนวนลงเพราะไม่สามารถนำคนงานมาช่วยคัดแยกปลาได้ โดยนางสำเภา สุขกลาง เจ้าของแพปลาที่มาหาซื้ออาหารทะเล กล่าวว่า ตนพยายามทำให้การจ้างแรงงานต่างด้าวถูกต้อง แต่ต้องยอมรับว่าขั้นตอนการปฏิบัติค่อนข้างยุ่งยากและใช้เวลานาน แรงงานส่วนหนึ่งอยู่ระหว่างดำเนินการขออนุญาตเพราะเอกสารยังไม่ครบ ยังต้องเดินทางข้ามไป-มาฝั่งเมียนมาและระนองเพื่อเดินเรื่องขออนุญาต แต่ขอทำงานไปพลางก่อน เมื่อมีประกาศบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้น พวกที่เอกสารไม่ครบก็ขอเดินทางกลับไปหมด ตอนนี้เหลือคนทำงานเพียงครึ่งเดียว