นายกฯ ขอคนไทยสื่อสารสร้างชาติ สร้างกระบวนการรับรู้ตั้งแต่ระดับครอบครัว ป้องกันการใช้ความรุนแรง บอกใช้วิจารณญาณเสพสื่อกันตกเป็นเหยื่อผู้ไม่หวังดี

เมื่อวันที่ 9 มิ.ย. 60 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวในรายการ "ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน" ว่า วันนี้อยากให้ทุกคนสนใจเรื่องการสื่อสารสร้างชาติ โดยแบ่งออกเป็น 3 ระดับ ระดับเล็ก คือ การพูดจาในครอบครัว ช่วยให้คำปรึกษาแก้ไขปัญหาอย่างใกล้ชิดและอบอุ่น ชื่นชมให้กำลังใจไม่ว่ากล่าวดุดันหยาบคาย ทำให้เด็กเป็นคนที่ก้าวร้าว ไม่มีความมั่นใจในตัวเอง หันหลังให้ครอบครัว หันหน้าเข้าหาเพื่อนที่เป็นกลุ่มเสี่ยง ระดับกลาง คือ ชุมชน สังคม ซึ่งควรอยู่บนพื้นฐานของข้อเท็จจริง มีเหตุมีผล มากกว่าการใช้อารมณ์ ความรู้สึก จนกลายเป็นพวกนิยมใช้ความรุนแรง นำไปสู่พฤติกรรมการเลียนแบบ ด้วยความคึกคะนองเกินขอบเขต เห็นดีเห็นงามตามคนผิดๆ ส่งผลให้สังคมไทยมีตรรกะที่ผิดเพี้ยน สำหรับการใช้ "สื่อโซเชียล" เห็นว่าควรสร้างกระบวนการเรียนรู้ สร้างภูมิคุ้มกันตัวเอง สำหรับการใช้ชีวิตในยุคโลกาภิวัฒน์ ใช้สติปัญญา มีวิจารณญาณที่ดีไม่ตกเป็น "เหยื่อ" ของการปลุกระดมความขัดแย้ง ถูกใช้ประโยชน์โดยคนบางกลุ่ม ที่อาจจะมีเจตนาไม่บริสุทธิ์ เป็นเหยื่อของการหลอกลวง การลงทุนแชร์ลูกโซ่ การซื้อขายของที่ไม่มีคุณภาพ มีการโฆษณาเกินจริง การสร้าง "จุดขาย" ยกให้เป็น "ไอดอล" ของคนบางประเภท ทั้งที่ไม่เหมาะสม และสร้างค่านิยมผิดๆ ทำให้สังคมไทยมีปัญหา นำไปสู่ "สังคมที่เสื่อมทราม"

ส่วนการสื่อสารระดับชาติ ที่มีสื่อมวลชนเป็น "ตัวกลาง" เราต้องยอมรับความจริง และต้องให้ความสำคัญทั้งในเรื่อง "ความเป็นกลาง" และ "ความน่าเชื่อถือ" ของสื่อฯ โดยต้องวิเคราะห์ก่อนเสมอ ที่น่าเป็นห่วงกว่านั้นคือ "วิจารณญาณ" และ "จรรยาบรรณ" ในการทำหน้าที่ของสื่อ ทั้งนี้ อยากให้พิจารณาผลกระทบให้รอบด้าน และเลือกนำเสนอในประเด็นที่เสริมความรู้ ก่อเกิดปัญญาให้กับประชาชนของประเทศ ตนคิดว่าถึงเวลาแล้วที่เราต้องหันมาให้ความสำคัญกับ "การสื่อสารสร้างชาติ" ให้มากขึ้นในทุกระดับ โดยเริ่มจากสถาบันพื้นฐานทางสังคม บ้าน-วัด-โรงเรียน เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีให้กับสังคม คือ "ความรู้คู่คุณธรรม" ไม่ให้กลายเป็นสังคมที่สื่อสารกันอย่างไร้สาระ ผิดเพี้ยน เกิดความมักง่ายในการใช้ภาษาและการสื่อสาร อีกทั้งในการเสพสื่อนั้น อยากให้คนไทยได้คิดและตัดสินใจด้วยปัญญา หาข้อมูลสนับสนุนเพิ่มเติมรอบด้าน ใช้ "การคิดวิเคราะห์" พิจารณาให้ครบถ้วน ไม่ใช่เอาผลประเมินเล็กน้อย มาทำให้กระบวนการมีปัญหา เสียรูปขบวน วันนี้เราต้องคิดแบบมีวิสัยทัศน์ ลงรายละเอียดในทุกประเด็นของปัญหา เพื่อแก้ไขปัญหา ซึ่งทุกอย่างมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกันเป็น "ห่วงโซ่" ดังนั้น เราต้องบูรณาการกัน รวมถึงสื่อแขนงต่างๆ ก็เป็นส่วนหนึ่งที่สามารถช่วยให้การแก้ปัญหาของประเทศประสบความสำเร็จได้ สื่อมวลชนจะต้องตระหนัก และกำหนดบทบาท สร้างคุณค่าให้กับองค์กรว่า จะทำร้ายประเทศ ทำลายความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ หรือจะสร้างสรรค์สังคม

...