ภาพจาก กองประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกองทัพเรือ

การฝึกในทะเล CARAT 2017 ระหว่าง ทร.ไทย และ สหรัฐอเมริกา โดยฝึกยุทธวิธี เทคนิคและการเรียนรู้การใช้อาวุธสมัยใหม่ ร่วมกับเรือ USS Coronado โดยเฉพาะการจับเสียงจากเรือที่ใช้เครื่องวอเตอร์เจ็ต และการฝึกใช้อาวุธต่อเป้าจำลอง...

การฝึกในทะเล CARAT 2017 ระหว่างกองทัพเรือไทย กับ กองทัพเรือสหรัฐอเมริกา ระหว่างวันที่ 2 – 6 มิ.ย.60 ในระหว่างวันที่ 2 – 5 มิ.ย.60 กองอำนวยการฝึกผสม CARAT 2017 ทำการฝึกในทะเล โดยมี น.อ.พิชัย ล้อชูสกุล รองผู้บัญชาการกองเรือฟริเกตที่ 2 กองเรือยุทธการ เป็นผู้บังคับหมู่เรือฝึกฯ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มพูนความรู้ความชำนาญ และขีดความสามารถในการปฏิบัติการทางยุทธวิธี เทคนิคและการเรียนรู้การใช้อาวุธสมัยใหม่ของกองทัพเรือสหรัฐฯ รวมทั้งพัฒนาหลักนิยมที่ใช้ในการรบตามสาขาปฏิบัติการทางเรือจากการฝึกเพื่อนำมาใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาองค์บุคคล และองค์วัตถุต่อไป รวมทั้งเสริมสร้างความสัมพันธ์ และความเข้าใจในการปฏิบัติงานร่วมกันระหว่างกองทัพเรือไทยและสหรัฐฯให้เพิ่มมากขึ้น

...

สำหรับเรือหลวงนเรศวรภายหลังจากอัพเกรดที่ได้ติดตั้งระบบอำนวยการรบ, อาวุธปล่อยนำวิถีพื้นสู่อากาศ ESSM (Evolved SeaSparrow Missile) แล้วเสร็จเมื่อเดือนตุลาคม 2558 มีความพร้อมในการปฏิบัติราชการ ได้รับภารกิจอย่างต่อเนื่อง โดยในปีงบประมาณ 2560 ได้รับภารกิจทัพเรือภาคที่ 1 , ฝึกกองทัพเรือประจำปี 2560 , สวนสนามในกิจกรรมนิทรรศการทางเรือนานาชาติ ณ ประเทศสิงคโปร์ (IMDEX), การฝึก Guardian Sea 2017 พื้นที่ทะเลอันดามัน และการฝึก CARAT 2017 นับเป็นเรือที่มีความพร้อมในการปฏิบัติราชการ และการรบสามมิติ รวมถึงเรือหลวงสุโขทัยที่มีอายุ 32 ปี แต่ยังมีความพร้อมในการปฏิบัติราชการ สามารถทำการรบได้ 3 มิติ โดยได้รับภารกิจอย่างต่อเนื่องเช่นเดียวกับเรือหลวงนเรศวรอีกด้วย


การฝึกที่สำคัญประกอบด้วย การฝึกปราบเรือดำน้ำด้วยเป้า EMATT, การฝึกการโจมตีเรือผิวน้ำ, การฝึกป้องกันภัยทางอากาศ, การฝึกยิงอาวุธในทะเล, การฝึกแปรกระบวน, การฝึกถ่ายภาพกระบวนเรือ, การฝึกแล่นขนานในทะเล, การฝึกประลองยุทธ์แบ่งฝ่าย ,การฝึกตรวจค้นในทะเล และการฝึกเปิดบรรณสาร กำลังที่ร่วมฝึกประกอบด้วย

ฝ่ายไทย ประกอบด้วย

- เรือฟริเกต 1 ลำ คือ เรือหลวงนเรศวร
- เรือคอร์เวต 1 ลำ คือ เรือหลวงสุโขทัย
- เรือยกพลขึ้นบก 1 ลำ คือ เรือหลวงอ่างทอง
- เรือเร็วโจมตีอาวุธปล่อยนำวิถี 1 ลำ คือ เรือหลวงราชฤทธิ์ ติดอาวุธปล่อยปราบเรือ เอ็กโซเซ่ต์ 
- เรือตรวจการณ์ปืน 1 ลำ คือ เรือหลวงเทพา
- เครื่องบินตรวจการณ์ 1 ลำ (DO-228)

ฝ่ายสหรัฐฯ ประกอบด้วย
- เรือโจมตีชายฝั่ง USS Coronado (LCS-4)
- เครื่องบิน P-3C Orion
- เฮลิคอปเตอร์ 1 ลำ (MH-60 R/S)
รายละเอียดการฝึกในทะเล
การจัดรูปกระบวนป้องกันเรือดำน้ำ (SCREENEX)

วัตถุประสงค์ เพื่อฝึกการวางแผนการป้องกันภัยจากเรือดำน้ำ ในกรณีที่ต้องคุ้มกันกระบวนเรือผ่านพื้นที่ที่คาดว่าจะมีเรือดำน้ำซ่อนตัวอยู่ โดยจะทำให้เพิ่มทักษะความชำนาญเรื่องการนำเรือตามรูปกระบวน และการใช้อุปกรณ์เพื่อตรวจจับสัญญาณใต้น้ำที่คาดว่าจะเป็นภัยคุกคามต่างๆ การเรียนรู้แนวคิด และวิธีการปฏิบัติจากกองทัพเรือสหรัฐฯ การฝึกปฏิบัติ จะให้เรือที่มีความสามารถในการตรวจจับเสียงใต้น้ำได้ในระยะไกล อยู่ทางด้านหน้ากระบวนเรือ (เรือหลวงนเรศวร) และจะให้เรือที่มีขีดความสามารถในการตรวจจับรองลงมาป้องกันทางด้านขวา (USS CORONADO) และซ้ายของกระบวนเรือ (เรือหลวงสุโขทัย) โดยจะให้ครอบคลุมพื้นที่โดยรอบของเรือหรือ กระบวนเรือที่ต้องการจะคุ้มกัน (เรือหลวงอ่างทอง) โดยเรือคุ้มกันกระบวนเรือทุกลำ


การฝึกป้องกันภัยทางอากาศ (ADEX : Air Defence Exercise)
วัตถุประสงค์ เพื่อฝึกการตรวจจับเป้าอากาศยาน และ สามารถแยกแยะเป้าหมายได้ว่า เป้าหมายใดที่คาดว่าจะเป็นภัยคุกคามทางอากาศ ฝึกการจำลองการใช้อาวุธต่อเป้าหมายที่คาดว่าจะเป็นภัยคุกคาม โดยใช้การแลกเปลี่ยนค่าเป้าอากาศยานระหว่างเรือแต่ละลำ เพื่อช่วยพิสูจน์/ตรวจสอบอย่างแน่ชัดว่าเป็นข้าศึก แล้วจึงจำลองการใช้อาวุธเข้าโจมตี

การฝึก รับ – ส่ง อากาศยาน กลางวัน และ กลางคืน (DLQ / NDLQ : Deck Landing Qualify/Night Deck Landing Qualify)

การฝึกนี้ กองทัพเรือสหรัฐฯ นำเฮลิคอปเตอร์แบบ MH-60 R/S และ กองทัพเรือไทยนำเฮลิคอปเตอร์ปราบเรือดำน้ำ เฮลิคอปเตอร์แบบ S–70B ซีฮอว์ก เข้าร่วมการฝึกนี้ เพื่อเพิ่มพูนทักษะ/ประสบการณ์ให้กับนักบิน ในการปฏิบัติภารกิจร่วมกับหน่วยเรือในทางทะเล การปฏิบัติ/การติดต่อสื่อสารร่วมกับกองทัพเรือสหรัฐฯ ซึ่งการลงจอดบนดาดฟ้าเฮลิคอปเตอร์อยู่ท้ายเรือ นักบินต้องมีความชำนาญมากกว่าปกติ เนื่องจากสภาพคลื่นลม ทำให้ยากในการนำเครื่องลงจอด ทั้งนี้นักบิน และเจ้าหน้าที่ของหน่วยเรือ ต้องมีความเข้าใจกัน เพื่อลดข้อผิดพลาดที่จะเกิดขึ้นให้น้อยที่สุด โดยเฉพาะการขึ้น - ลง จอดในเวลากลางคืนยิ่งต้องเพิ่มความระมัดระวังมากยิ่งขึ้น



การฝึกแปรกระบวนทางยุทธวิธี (DIVTAC : Division Tactic)
เป็นการแปรกระบวนเรือในรูปแบบต่างๆ ที่ใช้ในการฝึก และทางยุทธวิธี ด้วยเรือที่ประกอบกำลัง โดยมีฝึกการสื่อสารทั้งทางทางวิทยุควบคู่กับทางทัศนสัญญาณ ให้เกิดความชำนาญ ความเข้าใจที่ตรงกัน เนื่องจากการติดต่อสื่อสารกันกลางทะเลมีอุปสรรคจากสภาพอากาศ และคลื่นลม เพื่อลดข้อจำกัดนี้ จึงใช้รูปแบบคำสั่งการที่ถูกกำหนดขึ้นมาเป็นบรรณสารกลางสำหรับใช้ในการติดต่อสื่อสารที่เป็นสากลระหว่างกองทัพเรือเพื่อให้เรือทุกลำทราบและเข้าใจทันทีเมื่อสั่งปฏิบัติ เป็นกาลลดขั้นตอน และเวลาในการปฏิบัติ แทนการใช้ข้อความยาวๆ ในการสั่งการตาม อีกทั้งเป็นการวัดขีดความสามารถของการนำเรือในการแปรกระบวนของเรือแต่ละลำอีกด้วย ซึ่งการแปรกระบวนทางเรือจะมีรูปแบบที่หลากหลาย โดยมีวัตถุประสงค์ในแต่ละรูปกระบวน ทั้งนี้ขณะแปรกระบวนจะเกิดภาพที่แสดงออกถึงความมีวินัย ความสง่างาม และความสวยงาม จึงมีการบันทึกภาพกระบวนเรือ (Photo Exercise) ขณะทำการฝึกไปด้วยโดยกองทัพเรือสหรัฐฯ ส่งเฮลิคอปเตอร์บันทึกภาพขณะทำการฝึกแปรกระบวนในรูปแบบต่างๆ


การยิงปืนใหญ่เรือต่อเป้าลอยน้ำ (GUNEX : Gunner Exercise) on killer tomato เป็นการฝึกยิงปืนใหญ่เรือต่อเป้าจำลอง ซึ่งมีลักษณะเป็นลูกโป่งสีแดงขนาดใหญ่ ลักษณะคล้ายผลของมะเขือเทศสุก ซึ่งติดแผ่นสะท้อนคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า เพื่อให้เรดาร์สามารถตรวจจับได้ โดยเป้าจำลองจะถูกปล่อยจาก USS CORONADO และใช้เป็นเป้ายิงด้วยปืนเรือในระยะต่างๆ

การฝึกตรวจค้นในทะเล (VBSS : Vessel Boarding search and seizure)
เป็นการจำลองสถานการณ์ขึ้นตรวจค้นเรือต้องสงสัย โดยจะเป็นการฝึกร่วมระหว่างชุดตรวจคันของทั้งสองฝ่าย เพื่อเพิ่มทักษะและแลกเปลี่ยนความรู้ ในการปฏิบัติ ตั้งแต่ขั้นการเตรียมการวางแผน จนถึงขึ้นตอนการปฏิบัติ เป็นการเพิ่มทักษะให้กับกำลังพล และ สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ตามสถานการณ์ เช่นการตรวจค้นเรือสินค้า, เรือประมงต้องสงสัย ซึ่งจะมีรายละเอียดในการปฏิบัติที่แตกต่างกัน


EMATTEX การฝึกปราบเรือดำน้ำด้วยเป้า EMATT
เป็นการฝึกการตรวจจับเรือดำน้ำ โดยการใช้เป้า EMATT ซึ่งมีรูปแบบการเดินทางใต้น้ำในรูปแบบต่างๆ โดยเป้า EMATT จะมีทั้งโหมด PASSIVE และ โหมด ACTIVE ทำให้เราสามารถฝึกการตรวจจับเสียงใต้น้ำได้หลายลักษณะ และเป็นการทดสอบสมรรถภาพ ของอุปกรณ์ตรวจจับเสียงใต้น้ำว่าสามารถตรวจจับได้ระยะเท่าใด ในสภาพอากาศ และคลื่นลมในช่วงทำการฝึก ซึ่งค่าที่ได้สามารถเก็บบันทึกไว้เป็นข้อมูลในการฝึก และสามารถนำไปใช้ได้ต่อไป ทั้งการวางแผนวางสกัดกั้นเรือดำน้ำของข้าศึก หรือ การวางแผนการใช้เรือดำน้ำของเราเองที่จะมีในอนาคต ซึ่งการฝึกร่วมกับ USS CORONADO ทำให้เราทราบถึงขีดความสามารถในการลดการเกิดเสียงจากเครื่องยนต์ที่เป็น WATER JET ยากต่อการแยกแยะว่าเป็นเรือชนิดใด ซึ่งทำให้เกิดการเรียนรู้จากการฝึกเป็นอย่างดี.