"อภิสิทธิ์" โต้ 1 พรรค 2 แนวทาง ย้ำเอกภาพ จับมือพรรคร่วมสู้ทหาร ต้องดูอุดมการณ์-นโยบายเป็นหลัก ย้ำรวม 250 ส.ส.ตั้งรัฐบาล ชี้ ส.ว.อย่ามาเอี่ยว ขัดเสียงข้างมากจากการเลือกตั้ง

เมื่อวันที่ 1 มิ.ย. 60 นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึง นายอลงกรณ์ พลบุตร รองประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) และอดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ออกมาระบุว่า การกลับมาของกลุ่ม กปปส.จะทำให้เกิดภาวะ 1 พรรค 2 แนวคิดว่า ได้คุยกับกลุ่ม กปปส.แล้ว เขาเข้าใจดี และเรามีเป้าหมายตรงกัน คือ ต่อต้านกับความไม่ถูกต้อง ปราบการคอร์รัปชัน การใช้อำนาจในทางไม่ชอบระบอบทักษิณ จึงไม่มีปัญหา อย่างไรก็ตามประชาธิปัตย์เป็นพรรคที่มีระบบ มีความเป็นสถาบัน มีอุดมการณ์ ฉะนั้นการทำงานต้องยึดตามแนวทางจึงทำให้ทุกคนไม่มีความรู้สึกว่ามีประเด็นที่ฝืนหรือขัด หรือมี 2 แนวทางแต่อย่างใด

"ขณะนี้เมื่อกลับมาทำงานกับพรรคประชาธิปัตย์ ก็จะยึดถือแนวทางของพรรคประชาธิปัตย์ ท่านก็พูดกันเอง ผมก็นั่งอยู่ด้วย ทุกคนก็มีความสบายใจว่าเราจะผนึกกำลังกันแล้วก็เดินหน้าทำงานกัน" นายอภิสิทธิ์ กล่าว

สำหรับแนวคิด นายพิชัย รัตตกุล อดีตหัวหน้าพรรค ที่เสนอให้พรรคการเมืองใหญ่จับมือกันนั้น นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ตนเห็นด้วยในส่วนที่เราต้องเคารพเจตนารมณ์ของประชาชน และถือเป็นจุดยืนของพรรคที่จะยึดแนวทางนี้ กล่าวคือ เมื่อเลือกตั้งเสร็จ พรรคการเมืองรวบรวมเสียงได้ 250 เสียงขึ้นไป ต้องมีสิทธิ์จัดตั้งรัฐบาล แม้ว่าโดยรัฐธรรมนูญจะให้สมาชิกวุฒิสภา 250 คน ร่วมลงมติ แต่วุฒิสภาไม่ควรใช้สิทธิ์ตรงนั้นฝืนเจตนารมณ์ของประชาชน เพราะมองว่าถ้าทำเช่นนั้นจะเป็นการสร้างเงื่อนไขความขัดแย้ง ในทางการเมืองอย่างรุนแรงมาก ซึ่งในที่สุดจะทำให้เป้าหมายที่หลายคนตั้งเอาไว้ทั้งเรื่องปรองดองและอื่นๆ ไม่ประสบความสำเร็จ อย่างไรก็ตาม พรรคการเมืองที่จะรวมกันนั้น ต้องดูในเรื่องของนโยบาย สำคัญกว่านั้น คือ ในเรื่องอุดมการณ์ว่าไปด้วยกันได้หรือไม่ การไปบังคับให้พรรคการเมืองที่อุดมการณ์ไม่ตรงกันจับมือเพื่อตั้งรัฐบาล คนจะมองว่าเป็นเรื่องผลประโยชน์มากกว่า ดังนั้นแนวคิดของ นายพิชัย ควรจะเสนอว่าเมื่อสภาผู้แทนราษฎรรวมกันได้ 250 เสียงขึ้นไป ควรให้สิทธิ์เขาในการจัดตั้งรัฐบาล โดยคำนึงถึงพื้นฐานของนโยบายและอุดมการณ์ที่ตรงกัน

...

เมื่อถามว่า ในกรณีไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ในทางปฏิบัติ 250 กว่าเสียงของ ส.ส.ตามรัฐธรรมนูญไม่พอในการจัดตั้ง เพราะต้องได้ 376 เสียง สิ่งที่พยายามจะบอก คือ ถ้า 250 ในสภาผู้แทนราษฎรจับกันได้แล้ว ในส่วน 250 เสียงของวุฒิสภา ไม่ควรที่จะมาขัดขวาง เพราะบางที ส.ว.อาจจะใช้วิธีไม่ยอมลงคะแนนให้เลย เพื่อไม่ให้ถึง 376 เสียง ซึ่งถ้าทำแบบนั้นคิดว่าเป็นการนำ ส.ว.ที่มาจากการแต่งตั้งเผชิญหน้ากับเสียงข้างมากที่มาจากการเลือกตั้ง ในทางตรงกันข้ามถ้าสภาผู้แทนราษฎรเลือกกันเองไม่ได้ ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ทาง ส.ว.จะมีสิทธิ์ในการลงคะแนนว่าจะเอาอย่างไร ส่วนถ้าหากว่ารัฐบาลนี้จับกันได้เกิน 250 เสียง และมีปัญหาในเรื่องธรรมาภิบาล ให้เป็นเรื่องของกลไกตามรัฐธรรมนูญ ที่จะต้องเข้ามาจัดการ ไม่ว่ารัฐบาลจะใช้อำนาจขัดกฎหมาย หรือทุจริต ต้องจัดการ และเชื่อว่าเมื่อถึงจุดหนึ่งไม่มีธรรมาภิบาล ประชาชนจะแสดงออกตามที่รัฐธรรมนูญให้สิทธิ์ไว้ คือ เป็นกลไกการตรวจสอบถ่วงดุล