"จาตุรนต์" ชำแหละ 3 ปีรัฐบาล-คสช.ใช้อำนาจเบ็ดเสร็จ-ม.44 กดทับต้นตอปัญหาไว้ สะสมเงื่อนไขความขัดแย้งใหม่ รอเวลาแสดงออกในอนาคต เหน็บแม่น้ำ 5 สายออกอาการเสพติดอำนาจ ย้อนถามไหนบอก "ขอเวลาอีกไม่นาน"
เมื่อวันที่ 21 พ.ค.60 นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรองนายกรัฐมนตรี แกนนำพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงครบรอบ 3 ปีรัฐบาล คสช.ว่า เรื่องที่สังคมส่วนใหญ่เห็นรวมกันว่าเป็นปัญหาคือความเดือดร้อนปัญหาเศรษฐกิจ แก้ปัญหาทุจริตที่ล้มเหลว และการปฏิรูปที่ไม่มีอะไรเกิดขึ้น แต่ส่วนที่เป็นจุดขายของ คสช.ที่ยังมีความเข้าใจผิดของคนจำนวนไม่น้อยก็คือ การทำให้บ้านเมืองสงบไม่วุ่นวาย ซึ่งจุดนี้ต้องยอมรับว่า การรัฐประหารที่เกิดขึ้นและการดำเนินการของ คสช.ที่ผ่านมา มีส่วนทำให้บ้ารเมืองไม่วุ่นวายเหมือนก่อนรัฐประหาร แต่ความไม่วุ่นวายที่เกิดขึ้น เกิดจากการใช้อำนาจเบ็ดเสร็จ และการจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน ซึ่งมีค่าใช้จ่ายตามมา นอกจากนั้น คสช.ไม่ได้มีการส่งเสริมให้เกิดการวิเคราะห์ถึงต้นเหตุปัญหาความขัดแย้ง และความวุ่นวายที่ผ่านมา จึงไม่ได้แก้ถึงต้นตอปัญหา และยังคงเก็บรักษาปัญหาต่างๆ ไว้ รวมทั้งได้สร้างปัญหาและความขัดแย้งใหม่ๆ ขึ้นอีกมาก ทั้งในรูปของการกดทับปัญหาไว้ หรือการออกคำสั่งหรือกฎหมายที่คนส่วนมากไม่เห็นด้วย รอเวลาที่จะแสดงออกในอนาคต
"ส่ิงที่ คสช.ทำมา 3 ปี นอกจากไม่แก้ปัญหาที่ต้นเหตุ ยังสะสมเงื่อนไขความขัดแย้งจำนวนมาก รวมทั้งการแสดงออกล่าสุดของแม่น้ำ 5 สาย แสดงให้เห็นถึงสภาพของการเสพติดอำนาจเบ็ดเสร็จของผู้มีอำนาจ โดยเฉพาะการใช้อำนาจตามมาตรา 44 ขณะเดียวกันทำให้สังคมไทยส่วนใหญ่อยู่ในสภาพี่ขาดการใช้อำนาจเบ็ดเสร็จไม่ได้ จะมีความรู้สึกว่าถ้าไม่มี คสช.และอำนาจมตามมาตรา 44 เมื่อใด ก็ไม่มีหลักประกันว่าจะไม่เกิดความวุ่นวาย ดังนั้น 3 ปีนี้ คสช.ประสบความสำเร็จสร้างเงื่อนไขให้คนจำนวนมากรู้สึกว่าขาด คสช. ขาดการใช้อำนาจเบ็ดเสร็จไม่ได้ จะเป็นความเสียหายต่อไปในอนาคตรวมทั้งทำให้นักลงทุนในและต่างประเทศ ไม่มีความเชื่อมั่นว่า สังคมจะมีเสถียรภาพและหลักนิติธรรมจะได้รับการทำให้เกิดขึ้น" นายจาตุรนต์ กล่าว
...
นายจาตุรนต์ กล่าวว่า การที่นายกรัฐมนตรีออกมาระบุ 3 ปีที่ผ่านมาต้องมาตามแก้ปัญหาเก่าๆ ที่สะสมมาจากอดีตนั้น การพูดเช่นนี้พูดเมื่อไหร่ก็ถูกเมื่อนั้น เพราะมันมีปัญหามาเรื่อย เพราะประเทศไทยเป็นประเทศที่กำลังพัฒนา ก็จะต้องแก้ไขปัญหา ต้องได้รับการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงอีกมาก แต่ว่า 3 ปีมันเกินพอที่จะพอให้เกิดผลขึ้นมาได้บ้าง แต่ 3 ปีมานี้ คสช.ไม่ได้ทำให้เห็นการเปลี่ยนแปลงอะไรในทางที่ดีได้เลย นอกจากการทำให้บ้านเมืองไม่วุ่นวายอย่างมีเงื่อนไข ที่สำคัญสะสะมปัญหาใหม่ๆ เต็มไปหมด และหลังการเลือกตั้งปัญหาจะยิ่งแก้ยากมากกว่าเดิม ทั้งนี้การใช้อำนาจเบ็ดเสร็จถ้ามีวิสัยทัศน์และมีประโยชน์กับประชาชน คงไม่มีคนคัดค้านมากนัก แต่เมื่อทำไปโดยขาดการวิสัยทัศน์และรับฟังความคิดเห็นจากฝ่ายต่างๆ ซึ่งเป็นธรรมชาติของการใช้อำนาจเบ็ดเสร็จแบบนี้ โดยไม่ต้องสนใจฟังใคร เมื่อไม่มีวิสัยทัศน์แล้วก็ไม่สามารถให้ใครมาเห็นดีเห็นงามด้วยได้ เมื่อคนเร่ิมจากความมีหลักการต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วม การคัดค้านก็จะยิ่งรุนแรงขึ้น ในวันนี้การแก้ปัญหาต่างๆ ไม่ได้อยู่การถามประชาชนต้องการให้ใช้อำนาจเบ็ดเสร็จหรือไม่ แต่ต้องคิดมาให้ได้จะทำอะไรที่เป็นประโยชน์กับประชาชน และจะทำวิธีไหนคนก็จะไม่คัดค้านมากนัก แต่เวลานี้ในทางหลักการก็ไม่ได้ ในทางวิสัยทัศน์ ความมีประโยชน์กับประชาชนก็ไม่ได้ เสียงคัดค้านก็ต้องมากขึ้นเป็นธรรมดา เมื่อถามว่า มองว่าการทำงานหลังจากนี้ของรัฐบาล คสช.จะเป็นอย่างไรต่อไป
นายจาตุรนต์ กล่าวต่อว่า จริงๆ ถ้าเรามองย้อนหลังไปในอดีต จะพบหลักคิดตรรกะว่า คสช.จะเข้ามาอยู่ไม่นาน และจะทำเรื่องเท่าที่จำเป็นให้เกิดกติกาที่เป็นธรรม และทหารก็จะกลับเข้ากรมกองไป ให้ทุกฝ่ายว่าปล่อยว่าไปตามกติกาใหม่ แต่เมื่อ คสช.อยู่นานกว่าที่พูดไว้มาก และพยายามจะทำส่ิงต่างๆ มากมายไปหมดแต่ล้มเหลว เวลานี้คนก็ย่ิงถามหาว่า เมื่ออยู่นานแล้ว เมื่อไหร่จะแก้ปัญหาเสียที เมื่อเกิดความเดือดร้อนมากขึ้นๆ ความคาดหวังก็ย่ิงสูง ดังนั้นเวลาที่เหลืออยู่จะอีก 1 ปี 2 ปี หรือ 3 ปีก็ตาม ตนคิดว่าคนจะให้ความสนใจมากว่า คสช.จะแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนได้บ้างหรือไม่
นายจาตุรนต์ กล่าวอีกว่า ส่วนเวทีคณะกรรมการสร้างความสามัคคีปรองดองนั้น ที่วางเดือน มิ.ย.จะมีการทำสัญญาประชาคมนั้น ที่ผ่านมาเวทีนี้มีจุดอ่อนที่กระบวนการไม่เปิดกว้าง ไม่มีคนกลาง และคนที่มีความรู้มาช่วยวิเคราะห์ ไม่มีกรรมการที่เป็นอิสระ และทำให้ไม่มีการวิเคราะห์ต้นเหตุของปัญหา จึงไม่มีความพยายามที่จะแก้ปัญหาในอดีตที่สะสม ดังนั้นจะคาดหวังจากเวทีนี้ไม่ได้แน่ ส่วนสัญญาประชาคมที่จะมีขึ้นไม่ว่าจะเขียนอย่างไร ไม่มีทางตรงหรือสอดคล้องกับปัญหาที่แท้จริง เพราะถูกละเลยมองข้ามมาตั้งแต่ต้น การที่องค์กรใด หรือพรรคการเมืองใดจะไปร่วมทำสัญญาคม ประชาคมต้องคิดให้หนัก เพราะถ้าร่วมแล้วเท่ากับเป็นการยอมรับกระบวนการรัฐประหารและการปรองดองที่ผิด.