"หมวดเจี๊ยบ" เย้ย "ประยุทธ์" เป็นนายกฯ มาจากใช้อำนาจเข้ายึด แถมยังผูกขาดความคิด ชม "เนติวิทย์" ศักดิ์ศรีเหนือชั้นกว่า เพราะเป็น ปธ.นิสิตจุฬาฯ มาจากการเลือกตั้ง ยัน "บิ๊กตู่" ไม่สมควรชี้นำเรื่องการเปลี่ยนตัวประธานสภานิสิตฯ คนใหม่ เพราะอาจเป็นการไม่เคารพกติกาในหมู่เยาวชน...
เมื่อวันที่ 6 พ.ค.60 ร.ท.หญิง สุณิสา เลิศภควัต อดีตรองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา คงลืมว่าตัวเองเป็นนายกรัฐมนตรี เหตุใดจึงไปวุ่นวายก้าวก่ายกับการเลือกตั้งประธานสภานิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นเรื่องของการใช้สิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกของน้องๆ นิสิต เพื่อเลือกตัวแทนภายในสถาบันการศึกษาของพวกเขา ซึ่งไม่ใช่เรื่องของการบริหารราชการแผ่นดิน จึงไม่ได้เกี่ยวอะไรกับ พล.อ.ประยุทธ์ และไม่ใช่เรื่องที่นายกรัฐมนตรีจะต้องเข้าไปแทรกแซง
"ที่สำคัญการที่พล.อ.ประยุทธ์ พูดจาชี้นำให้เลือกประธานสภาฯ คนใหม่ แทนน้องเนติวิทย์นั้น ก็เป็นการแสดงตัวอย่างที่ไม่ดี เพราะอาจถูกมองว่าเป็นการปลูกฝังวัฒนธรรมล้มการเลือกตั้งและค่านิยมการไม่เคารพกติกาให้กับเยาวชนรุ่นใหม่ๆ ซึ่งถือเป็นความคิดที่เป็นอันตรายต่อระบอบประชาธิปไตย อันที่จริง พล.อ.ประยุทธ์ ไม่อยู่ในฐานะที่จะกล่าวโจมตี น้อง เนติวิทย์ได้เลย เพราะน้องเขามีเส้นทางเข้าสู่ตำแหน่งที่สง่างามกว่า พล.อ ประยุทธ์ จันทร์โอชา มากนัก เพราะอย่างน้อยก็มีความกล้าหาญที่จะพิสูจน์ตัวเองในสนามเลือกตั้งตามกติกาและได้รับการยอมรับจากเสียงส่วนใหญ่ในประชาคมนิสิตจุฬาฯ แม้ว่าตำแหน่งจะไม่ใหญ่โตเท่านายกรัฐมนตรี แต่ก็พูดได้อย่างเต็มปากว่า มาจากการเลือกตั้ง ไม่ได้ยึดอำนาจใครมา ไม่เห็นจะน่าอับอายตรงไหน พล.อ.ประยุทธ์ ต่างหากที่ได้ตำแหน่งมาจากการยึดอำนาจรัฐประหาร ไม่ได้เกิดจากการยินยอมพร้อมใจของประชาชน ซึ่งหากมองจากแง่มุมของความเป็นประชาธิปไตย ต้องถือว่า น้องเนติวิทย์ มีศักดิ์ศรีเหนือชั้นกว่า พล.อ.ประยุทธ์ มากนัก" ร.ท.หญิง สุณิสากล่าว
...
อดีตรองโฆษกรัฐบาล กล่าวว่า นอกจากนี้ คำพูดต่างๆ ของพล.อ.ประยุทธ์ เกี่ยวกับการเลือกตั้งประธานสภานิสิตจุฬาฯ ยังสะท้อนให้เห็นนิสัยลึกๆ ของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่ไม่นิยมระบอบประชาธิปไตย แต่คงจะนิยมเผด็จการ จึงชอบพูดจาชี้นำให้ประชาชนเลือกผู้แทนแบบโน้นแบบนี้ โดยใช้ค่านิยมของตัวเองตัดสิน ทั้งๆ ที่ ควรปล่อยให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินใจ โดยที่ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ต้องมาคิดแทน แต่ทุกวันนี้ พล.อ.ประยุทธ์ กลับพยายามผูกขาดความคิดของประชาชนในทุกระดับชั้น ล่าสุดก็ลามปามเข้ามาในสถานศึกษา ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าห่วงและอันตราย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากผู้มีอำนาจประสบความสำเร็จในการผลักดัน ร่าง พ.ร.บ. การคุ้มครองเสรีภาพสื่อฯ ซึ่งแท้ที่จริงแล้ว คือ กฎหมายควบคุมการเสนอข้อมูลข่าวสารของสื่อมวลชนและประชาชน ซึ่งจะทำให้รัฐมีช่องทางและมีเครื่องมือในการครอบงำความคิดของประชาชนคนไทยได้เบ็ดเสร็จเด็ดขาดยิ่งกว่าที่เป็นอยู่ในขณะนี้.