ผู้ว่า สตง.พบ ผบ.ทร.ขอตรวจสอบโครงการจัดซื้อเรือดำน้ำ คาดอีก 1 สัปดาห์กระจ่าง หากพบพิรุธพร้อมเสนอยับยั้งทันที ขณะที่ ทร.เตรียมลงนาม 7 พ.ค.นี้ เดินหน้าซื้อเรือดำน้ำจีน
เมื่อวันที่ 4 พ.ค.60 ที่หน้ากองบัญชาการกองทัพเรือ พระราชวังเดิม นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และคณะกรรมการ สตง. 5 คน เดินทางมาเข้าพบ พล.ร.อ.ณะ อารีนิจ ผบ.ทร.เพื่อขอรายละเอียดสัญญาการจัดซื้อโครงการเรือดำน้ำ และกระบวนการใช้งบประมาณตั้งแต่ขั้นตอนการจัดทำ TOR ซึ่งเป็นการตรวจสอบการใช้งบประมาณบัญชีการจัดซื้อ รวมถึงค่าใช้จ่ายหลังจากนี้ในการดูแลโครงการฯ โดยใช้เวลากว่า 1 ชั่วโมง
จากนั้น นายพิศิษฐ์ กล่าวว่า ได้ขอตรวจข้อมูลโครงการจัดหาเรือดำน้ำอย่างเป็นทางการ โดยมีการตั้งทีมงานพิเศษขึ้นมาเพื่อตรวจโครงการดังกล่าวซึ่งเป็นผู้มีความรับผิดชอบในระดับสูงเทียบเท่าผู้อำนวยการสำนักจำนวน 5 คน ที่รับผิดชอบงานตรวจสอบด้านการจัดหาพัสดุและบัญชีการเงินและผู้ช่วยอีก 2 คน ซึ่งเอกสารที่ตรวจสอบเป็นเอกสารลับไม่สามารถเปิดเผยต่อสาธารณชนได้ ทั้งนี้คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 1 สัปดาห์ตรวจสอบหลักฐาน นับตั้งแต่วันรับเอกสารเข้าสู่ที่ประชุม ครม.ว่ามีเหตุผลความจำเป็นอย่างไร กระบวนการขั้นตอนต่างๆ ทำตามระเบียบหรือไม่ และกฎหมายระเบียบข้อบังคับตามหลักเกณฑ์การจัดหา ตลอดจนการเปรียบเทียบข้อมูลคุณสมบัติเรือจากหลายประเทศ รวมทั้งเหตุผลที่เลือกเรือดำน้ำจีน
นายพิศิษฐ์ กล่าวต่อว่า สตง.ได้รับความร่วมมืออย่างดี เนื่องจากเป็นเอกสารลับโดยไม่นำเอกสารกลับไป แต่จะมาตรวจสอบที่กองทัพเรือทุกวันจนกว่าจะแล้วเสร็จโดยยึดหลักการตรวจสอบของ สตง.พร้อมนำประเด็นข้อสงสัยของสังคม เช่นของ นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทยทั้ง 8 ประเด็น ตลอดจนข้อชี้แจงของกองทัพเรือที่แถลงข่าวไปก่อนหน้านี้มาประกอบการพิจารณา
...
เมื่อถามว่า ระหว่างการตรวจสอบเอกสารกองทัพเรือ สามารถเซ็นสัญญากับจีนได้หรือไม่ นายพิศิษฐ์ กล่าวว่า ไม่มีข้อห้ามหาก สตง.มีข้อสังเกตเพื่อรักษาผลประโยชน์ ก็จะให้ข้อแนะนำประกอบการตัดสินใจเป็นระยะ
"ในฐานะที่ สตง.มีหน้าที่รักษาผลประโยชน์เงินแผ่นดินถ้าระหว่างที่กองทัพเรือกำลังเซ็นสัญญาซื้อเรือดำน้ำ ถ้าข้อสังเกตมีนัยสำคัญที่ควรนำไปประกอบการพิจารณา หรืออาจเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่นเราจะรีบแจ้งเตือนทันที" นายพิศิษฐ์ กล่าว
นายพิศิษฐ์ กล่าวต่อว่า ในอดีต สตง.เคยตรวจสอบการจัดซื้อโครงการต่างๆ เช่น เรือฟริเกต เรือ ต.3 และโครงการการจัดหาเรือดำน้ำมือ 2 จากประเทศเยอรมนี ซึ่ง สตง.ให้ข้อสังเกตไปสุดท้ายก็ไม่ได้จัดซื้อ ถ้าระหว่างตรวจสอบมีเรื่องสำคัญที่จะตัดสินใจอย่างหนึ่งอย่างใด เราจะให้ข้อแนะนำประกอบการพิจารณา ส่วนจะระงับยับยั้งหรือไม่ก็อยู่ในความรับผิดชอบของกองทัพเรือ
นายพิศิษฐ์ กล่าวอีกว่า เราจะตรวจสอบไปเรื่อยๆ จนกว่าจะได้รับการส่งมอบ เนื่องจากเป็นงบประมาณผูกพัน หากเซ็นสัญญาเมื่อไหร่ก็จะไม่ละเลยการตรวจสอบ เช่น กระบวนการจัดซื้อได้ทำแล้ว การจ่ายเงินเป็นงวดๆ เป็นไปตามเนื้องานหรือไม่ รวมถึงปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้ไม่บรรลุตามข้อสัญญา ซึ่งขณะนี้เจ้าหน้าที่ สตง.อยู่ระหว่างตรวจสอบเอกสารจากการจ่ายเงินงวดแรก 700 ล้านบาท และจะผูกพันปีละ 2,000 กว่าล้านบาท
"สตง.มีอิสระในการตรวจสอบดูจากผลงานที่ผ่านมา ไม่มีเรื่องใดที่ สตง.จะกลัวอิทธิพลทางการเมือง ทุกอย่างดำเนินการตามหลักฐานข้อเท็จจริงตลอดจนการทำสัญญาแบบรัฐต่อรัฐหรือจีทูจีที่เคยมีปัญหา เช่น การซื้อขายมันสัมปะหลัง โครงการรับจำนำข้าวที่เป็นเท็จ แต่โครงการนี้ไม่ใช่ขายลมส่งลมกัน ดังนั้นต้องมีตัวของที่เป็นเรือดำน้ำ" นายพิศิษฐ์ กล่าว
ขณะที่ น.อ.พาสุกรี วิลัยรักษ์ ผอ.กองประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกองทัพเรือ กล่าวว่า กองทัพเรือได้รับแจ้งจากบริษัท CSOC สาธารณรัฐประชาชนจีนว่า ได้ประสานงานกับรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการจัดเตรียมเอกสารต่างๆและมีความพร้อมในการลงนามในข้อตกลงจ้างสร้างเรือดำน้ำ ลำที่ 1 จึงมีความประสงค์ขอเชิญผู้แทนรัฐบาลไทย เดินทางไปลงนามในข้อตกลง ทั้งนี้ พล.ร.อ.ณะ อารีนิจ ผบ.ทร. ได้มอบหมายให้ พล.ร.อ.ลือชัย รุดดิษฐ์ เสนาธิการทหารเรือ ในฐานะประธานกรรมการบริหารโครงการจัดหาเรือดำน้ำ เป็นผู้แทนผบ.ทร.ลงนามในข้อตกลงจ้างสร้างเรือดำน้ำในลักษณะรัฐบาลต่อรัฐบาล โดยคณะเสนาธิการทหารเรือได้เดินทางไปกรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีนระหว่างวันที่ 4-7 พ.ค.และเมื่อทั้งสองฝ่ายตรวจสอบเอกสารเรียบร้อยแล้ว คาดว่าจะสามารถลงนามในข้อตกลง ณ อาคารรับรองรัฐบาล เตี้ยวหยูไถ่ กับบริษัท CSOC ในฐานะผู้แทนรัฐบาลจีนได้ ภายในวันที่ 7 พ.ค.60