พ.ร.บ.กดหัวสื่อยังคาบลูกคาบดอก จับตารัฐบาลเอาไง “วิษณุ” เล็งเชิญตัวแทนสื่อถกความเห็นเผยร่างผ่านตาแล้ว รอ สปท.ส่งฉบับปรับแก้ พร้อมเปิดเวทีรับฟังความเห็นตาม รธน. แย้มเสนอ สนช.ออกเป็น ก.ม.แน่ ด้าน สนช.ชี้ไม่ง่ายคลอดเป็น ก.ม. เชื่อต้องปรับแก้อีกเยอะ ปชป.ยันให้สื่อคุมกันเองดีกว่าคุมด้วยวิธีเผด็จการ สื่อรวมพลังวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก “ปราเมศ” แถลงจุดยืนย้ำไม่เอา ก.ม.กดหัวสื่อ จี้ คสช.ถอนประกาศ-คำสั่ง คสช.ลิดรอนสิทธิสื่อ มุ่งยกระดับกำกับดูแลกันเอง “สมชาย” หนุนมีสภาวิชาชีพสื่อปราศจากตัวแทนรัฐ นักวิชาการชี้สื่อก็ต้องจัดระเบียบ พร้อมแฉรัฐต้องการให้สื่อเป็นแค่ “หมาเชื่อง” สตง.ขอพบ ผบ.ทร. 4 พ.ค. ขอรายละเอียดซื้อเรือดำน้ำ ลั่นพบผิดปกติจะฟ้องสังคม “วัฒนา” เอือมทหารขยันตรวจบ้าน อัดเก่งแค่ประชาชนมือเปล่า
ร่าง พ.ร.บ.การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน ที่ถูกกระแสต่อต้านอย่างหนักจากวงการสื่อสารมวลชน ผ่านการพิจารณาของสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ไปแล้ว เหลือเพียงการปรับแก้รายละเอียดนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) หลังจากนี้ต้องดูท่าทีของรัฐบาลว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป
“วิษณุ” เล็งเชิญสื่อถก ก.ม.คุมสื่อ
เมื่อเวลา 08.50 น. ที่กองบัญชาการกองทัพไทย นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงร่าง พ.ร.บ.การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชนว่า ได้รับตัวร่าง พ.ร.บ.แล้ว ได้อ่านแบบผ่านๆ เห็นว่าร่างที่ผ่านการพิจารณาจากสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) จะต้องปรับปรุงก่อนส่งมายังคณะรัฐมนตรี เบื้องต้นให้เจ้าหน้าที่วิเคราะห์ตัวร่างฉบับดังกล่าวแล้ว ส่วนการจัดทำกฎหมายให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 77 หากผู้เสนอร่างยังไม่ได้จัดเวทีรับฟังความคิดเห็น รัฐบาลก็จะเป็นผู้ดำเนินการเปิดรับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่าย กฎหมายฉบับนี้อยู่ในวาระการปฏิรูปประเทศ รัฐบาลจะเป็นผู้เสนอร่างกฎหมายนี้ไปยังสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) โดยจะพิจารณาปรับปรุงให้เกิดความสมบูรณ์ ทั้งนี้ หลังจากที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ สั่งการให้ร่วมกับกระทรวงยุติธรรม คณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว ยืนยันว่าการดำเนินการหลังจากนี้จะเชิญตัวแทนสื่อร่วมให้ความคิดเห็น และจะยึดการพิจารณาตามจดหมายเปิดผนึกที่องค์กรสื่อได้ยื่นต่อนายกฯด้วย
...
เชื่อถ้อยทีถ้อยอาศัยกันได้
นายวิษณุกล่าวว่า นายกฯพอใจหลังจากที่ได้พูดคุยกับนายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เชื่อว่าสามารถหารือกันได้แบบถ้อยทีถ้อยอาศัย และในฐานะที่เป็นรองนายกฯด้านกฎหมาย ก็ได้จัดการรับฟังความคิดเห็นกฎหมายฉบับต่างๆที่มีความขัดแย้ง ยอมรับว่าบางประเด็นแก้ไขได้ และบางประเด็นไม่สามารถแก้ไขได้ แต่ที่สุดทุกฝ่ายอยู่กันได้ด้วยความสามัคคีปรองดอง แต่ประเด็นใดที่มีความสำคัญเกินกว่ามาตรการทางกฎหมายก็จะเข้าสู่เวทีปรองดองของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ แต่ถ้าเรื่องใดเป็นเรื่องของกฎหมายขั้นตอนตามหลักนิติศาสตร์ นิติธรรม และนิติรัฐ ตนก็สามารถช่วยเหลือแก้ไขได้
ขอสื่อรอฟังผลสรุปจากรัฐบาล
เมื่อเวลา 09.45 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี กล่าวให้กำลังใจสื่อมวลชนเนื่องในวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลกว่า ขอให้สื่อทำหน้าที่เป็นกระจกเงา ทำงานที่เป็นประโยชน์กับสังคม ช่วยกันทำให้ประเทศเดินหน้า ผู้สื่อข่าวถามถึงร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน ที่สื่อมวลชนไม่เห็นด้วยกับการมีตัวแทนภาครัฐเข้าไปอยู่ในสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ พล.อ.อ.ประจินตอบว่า ได้ติดตามปัญหาอยู่ในฐานะฝ่ายบริหาร ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวยังเหลือขั้นตอนการพิจารณาจากรัฐบาล นายกฯได้เล่าในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 2 พ.ค.ที่ผ่านมาว่า ได้ตอบรับจะดูแลสื่อมวลชนไปแล้ว และมอบให้นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯไปหารือกับกระทรวงยุติธรรมและคณะกรรมการกฤษฎีกา ขอให้สื่อมวลชนรอผล ส่วนตัวไม่ขอออกความเห็นว่าควรจะมีตัวรัฐเข้าไปมีอำนาจในการออกใบอนุญาตหรือไม่ แต่ยังมีกลไกตามรัฐธรรมนูญมาตรา 77 ที่ต้องรับฟังความเห็นของประชาชน เชื่อว่าจะมีทางออกที่ดีระหว่างรัฐบาลกับสื่อมวลชน
สนช.ชี้ร่าง ก.ม.คุมสื่อคลอดไม่ง่าย
พล.อ.อ.ชาลี จันทร์เรือง ประธานอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษากฎหมายเกี่ยวกับการปฏิรูปสื่อสารมวลชน คณะกรรมาธิการวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารมวลชน สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวว่า อนุ กมธ.ได้ศึกษาร่าง พ.ร.บ.การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน ที่เพิ่งผ่านความเห็นชอบจาก สปท. เห็นว่าร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ยังขาดการรับฟังความคิดเห็นประชาชนและวิเคราะห์ผลกระทบตามรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 77 รวมถึงหลักการร่าง พ.ร.บ.บัญญัติไว้อย่างกว้างๆคือ เพื่อให้การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานแห่งวิชาชีพ ตลอดจนกำกับดูแลกันเองทางจริยธรรมของผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนอย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้น โอกาสจะถูกแก้ไขก่อนเข้าสู่ สนช.จึงมีมาก คงไม่ผ่านเป็นกฎหมายได้ง่ายๆ
ปชป.ให้สื่อคุมกันเองดีกว่าเผด็จการ
นายบุญเลิศ ไพรินทร์ อดีต ส.ส.ฉะเชิงเทรา พรรคประชาธิปัตย์ และอดีต ส.ว. หรือที่รู้จักในนามโหร ส.ว. กล่าวถึงกรณี สปท.ผลักดันกฎหมายเพื่อควบคุมสื่อมวลชน ว่าการควบคุมสื่อให้ทำหน้าที่เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติราชบัลลังก์และประชาชนนั้น โดยหลักการแล้วมี 2 วิธีใหญ่คือ การควบคุมตนเอง หรือการควบคุมจากภายใน (Internal Control) เป็นการควบคุมด้วยจิตสำนึกผิดชอบชั่วดีของคนทำสื่อ และอีกวิธีหนึ่งคือมีกฎหมายมาควบคุม (External Control) เมื่อควบคุมตัวเองไม่ได้ การควบคุมจากภายนอกจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง อย่างไรก็ตาม การใช้กลไกกฎหมายกับคนทำสื่อต้องแสวงหาวิธีการควบคุมที่เหมาะสม จะต้องไม่จำกัดสิทธิ เสรีภาพและอิสรภาพของคนทำสื่อ จนทำงานเพื่อสังคมไม่ได้ หรือทำได้ในวงจำกัด จะไม่เป็นประโยชน์แก่ใครเลย ตนคิดว่าแทนที่จะปฏิรูปกลไกการควบคุมสื่อด้วยวิธีการแบบเผด็จการ น่าจะหันมาปฏิรูประบบการควบคุมสื่อโดยตนเองที่ล้มเหลวนั่นให้เหมาะสมยิ่งขึ้นจะเหมาะสมกว่าหรือไม่ จะได้ไม่ถูกก่นด่าว่าเป็นกฎหมายกดหัวสื่อ หรือนำคนทำสื่อไปประหารชีวิตเหมือนเผด็จการไร้อำนาจบางคน ที่เป็นสิ่งแวดล้อมที่เป็นพิษอย่างร้ายแรงของนายกรัฐมนตรีอีกด้วย
สื่อรวมพลังวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก
วันเดียวกัน ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย คณะทำงานสื่อเพื่อการปฏิรูป จัดกิจกรรม “รวมพลังคนข่าวคัดค้าน ก.ม.คุมสื่อ” เนื่องในวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก 3 พ.ค. มีเครือข่ายวิชาชีพสื่อมวลชน 30 องค์กร อาทิ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สภาการหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ สมาคมช่างภาพสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย สมาคมผู้สื่อข่าวไทย-จีน เครือข่ายบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ภาคอีสาน ร่วมจัดงาน บรรยากาศเป็นไปอย่างคึกคัก มีผู้สื่อข่าวจากหลากหลายสาขา ทั้งนักข่าวอาวุโส นักข่าวรุ่นใหม่ รวมถึงตัวแทนทูตจากประเทศฟินแลนด์ ประเทศนอร์เวย์ เข้าร่วมงานด้วย
แถลงย้ำจุดยืนไม่เอา ก.ม.กดหัวสื่อ
นายปราเมศ เหล็กเพ็ชร์ นายกสมาคมนักข่าวฯ อ่านแถลงการณ์วันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก ที่เป็นข้อเสนอต่อฝ่ายที่เกี่ยวข้องว่า 1.ให้รัฐบาลยับยั้งร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองสิทธิเสรีภาพฯ เพราะเป็นกฎหมายที่จำกัดเสรีภาพของสื่อมวลชนและประชาชน ทั้งยังมีเนื้อหาขัดกับรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน 2.ให้ยกเลิกประกาศ และคำสั่ง คสช. ที่มีเนื้อหาจำกัดสิทธิเสรีภาพสื่อมวลชน เนื่องจากรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ รับรองเสรีภาพการแสดงความเห็นของประชาชนไว้ชัดเจน 3.ให้สื่อมวลชนทุกประเภท ตระหนักถึงการทำหน้าที่ด้วยความรับผิดชอบต่อสังคม กรอบจริยธรรมแห่งวิชาชีพโดยเคร่งครัด พร้อมรับการตรวจสอบจากสังคม 4.ขอให้ประชาชนฐานะผู้บริโภคข่าวสารมีส่วนร่วมในการตรวจสอบ ควบคุมการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนให้อยู่ในกรอบจริยธรรมแห่งวิชาชีพอย่างเข้มข้น และ 5.องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนไม่ขอยอมรับต่อการกระทำของทุกฝ่ายที่ละเมิดต่อเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนและสื่อมวลชน และพร้อมจะต่อสู้เรียกร้องจนถึงที่สุด ทั้งนี้ องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนมีความตั้งใจและมุ่งมั่นที่จะทำให้กลไกกำกับดูแลกันเองทางด้านจริยธรรมที่มีอยู่แล้ว มีประสิทธิภาพและความน่าเชื่อถือมากยิ่งขึ้น
สนช.หนุนสภาวิชาชีพไม่มีตัวแทนรัฐ
จากนั้นได้มีการเสวนา หัวข้อ “เสรีภาพสื่อกับอนาคตสังคมไทย” โดยนายสมชาย แสวงการ สนช. กล่าวว่า ใน 3 อาชีพที่มีผลสำรวจว่าจะต้องมีการปฏิรูปคือ นักการเมือง ตำรวจ และสื่อมวลชน ตนมีจุดยืนชัดว่าไม่เห็นด้วยกับร่าง พ.ร.บ.การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพฯของ สปท. แต่สนับสนุนให้มีสภาวิชาชีพสื่อ โดยให้สื่อเป็นผู้ร่างหรือเข้าไปร่วมร่างด้วย วันนี้ต้องเดินหน้าไปด้วยกัน ไม่ใช่มาทะเลาะกับ สปท. หรือกับสื่อ การมีสภาวิชาชีพก็เปรียบเหมือนสภาวิชาชีพของอาชีพอื่นๆ เช่น แพทย์ พยาบาล วิศวกร เป็นต้น เพราะที่ผ่านมาสื่อเรามีบทเรียนที่มีสภาต่างๆ กระจายกันอยู่ วันนี้สภาการที่จะเกิดขึ้นต้องเกิดจากการรวมตัวของคนในวิชาชีพ ไม่ใช่โครงสร้างที่ สปท. เขียนไว้ ตนไม่เห็นด้วยที่เอาภาครัฐเข้ามาร่วม ทั้งนี้ที่ผ่านมาร่าง พ.ร.บ.หลายฉบับที่ผ่าน สปท.ไปแล้ว เมื่อถึงชั้น ครม.เห็นชอบเสนอเป็นกฎหมายเข้ามายัง สนช. กลับเป็นเนื้อหาที่แตกต่างไปจากที่ สปท.เป็นผู้ร่าง เมื่อเห็นร่างสมาคมฯแล้วอาจจะต้องยกร่างร่วมกัน อาจจะคุยกับรัฐบาลแล้วได้ร่วมกันออกแบบใหม่เลย โดยสื่อควรตกผลึกว่าจะต้องมีสภาวิชาชีพหรือไม่ ถ้ามีควรร่างเองหรือไม่ หรือร่วมร่างกับทางรัฐบาล ส่วนตัวเห็นควรมีสภาวิชาชีพขึ้นเพื่อเป็นหลักประกันให้กับสื่อด้วย ส่วนเรื่องของใบอนุญาตนั้นคงยังไม่ต้องไปพูดถึงเพราะมันไกลอยู่ หรือไม่จำเป็นต้องมีก็ได้
นักวิชาการชี้สื่อก็ต้องจัดระเบียบ
นายมานะ ตรีรยาภิวัฒน์ คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ต้องยอมรับว่า เนื่องเพราะภาวะการแข่งขันที่ดุเดือดในยุคปัจจุบัน สื่อหลายสำนัก หลายแขนงจึงเลือกนำเสนอที่ประชาชนสนใจ ไม่ใช่ข่าวสารที่มีคุณค่า เป็นปัญหาหนึ่งที่เกิดขึ้น ในตอนนี้ ความคิดหนึ่งที่เกิดขึ้นมาคือการใช้อำนาจรัฐเข้าไปควบคุมดูแลสื่อมวลชนที่วิ่งวนอยู่กับการใช้เสรีภาพมากไป วันนี้มีเหตุการณ์สื่อมวลชนนำเสนอข่าวที่เข้าไปละเมิดสิทธิส่วนบุคคลหรือทำผิดต่อหน้าที่ ปรากฏในโลกออนไลน์บ่อยครั้ง จึงไม่แปลกใจที่คนจำนวนไม่น้อยขานรับต่อ พ.ร.บ.การคุ้มครองสื่อฯ อย่างไรก็ตาม ร่างกฎหมายที่ออกมาไม่ได้เป็นการแก้ปัญหาอย่างตรงจุด เหมือนตัดเสื้อคนละแบบ จนกลายเป็นรูปร่างเข้าไปควบคุมการนำเสนอเนื้อหาและจำกัดเสรีภาพมากขึ้น ส่วนรากฐานของการแก้ไขปัญหาจริยธรรมสื่อไม่ได้พูดถึง และที่ผ่านมาเกิดปัญหาประชาชนถูกละเมิดสิทธิจากสื่อมวลชน แต่รัฐไม่ได้แสดงท่าทีใดๆ แต่เมื่อไหร่ที่สื่อนำเสนอข้อมูลที่กระทบต่อเสถียรภาพของรัฐ รัฐจะเริ่มมีท่าทีทันที
รัฐตีโจทย์ผิดแค่ต้องการ “หมาเชื่อง”
“คำถามคือรัฐต้องการอะไร ต้องการสื่อที่อยู่กรอบจรรยาบรรณของวิชาชีพแล้วไม่ไปละเมิดประชาชน หรือรัฐต้องการให้สื่อเป็นเด็กดี ว่านอน สอนง่าย คำตอบคือย่างหลังมากกว่า รัฐต้องการให้สื่อทำหน้าที่เหมือนหมาที่เชื่องๆ ตัวนึงคอยเลียแข้งขา ไม่ใช่หมาที่เฝ้าบ้านแล้วดุ เพราะหมาแบบนี้หากเจ้าบ้านทำอะไรหมาจะเห่า แต่รัฐไม่ต้องการให้เห่า อยากให้เป็นปากเสียงประชาสัมพันธ์ของรัฐมากกว่า จึงเป็นโจทย์ให้เนื้อหาใน พ.ร.บ.นี้ผิดเพี้ยน เพราะรัฐอยากเข้ามาดูแลควบคุม ส่วนอย่างอื่นเป็นเพียงข้ออ้าง” นายมานะกล่าว
ขอสื่อระมัดระวัง—รัฐไม่คุกคาม
ด้านนางอังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า สื่อมวลชนต้องมีเสรีภาพ ที่ประชาชนเข้าถึงสื่อและเข้าถึงข้อมูลง่ายขึ้น เพราะสื่อต้องตรวจสอบอำนาจของรัฐ พร้อมกันนี้เรียกร้องในการเผยแพร่ภาพบางภาพ เช่น คนที่ไม่เกี่ยวข้องนั้น สื่อต้องระมัดระวังในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์หรือบุคคลที่มีเพศสภาพ เพราะการนำเสนอดังกล่าวเป็นการสะท้อนว่าพลเมืองของประเทศเป็นอย่างไร ขณะเดียวกันรัฐต้องสร้างหลักประกันให้สื่อมีการใช้เสรีภาพอย่างถูกต้อง แต่ต้องไม่ถูกคุกคาม
จำเป็นต้องมีสื่อคานอำนาจรัฐ
น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ อดีตกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า การพูดว่าจะยิงเป้าสื่อเป็นข้อความสร้างความขัดแย้งหรือเฮทสปีช ที่ขัดจริยธรรมของผู้มีตำแหน่ง สปท.ควรมีการตรวจสอบจริยธรรม แต่กลับไม่มีการตรวจสอบ จึงตั้งคำถามว่า ถ้าไม่มีสื่อทำหน้าที่ตรวจสอบ สังคมไทยจะเป็นอย่างไร ฉะนั้นสิ่งที่ยังคานอำนาจรัฐได้คือสื่อมวลชน แต่สื่อต้องมีกลไกกำกับกันเอง และมีเสรีภาพที่ต้องมาพร้อมความรับผิดชอบ ถ้าเมื่อไรสื่อกลายเป็นกระบอกเสียง ชี้ไม้เป็นนก ชี้นกเป็นไม้ ไม่ได้รายงานให้รอบด้าน นั่นเป็นกลไกรัฐที่คิดผิดตั้งแต่ต้น จึงต้องเพิ่มความรับผิดชอบให้มากขึ้นไม่ใช่ลดเสรีภาพให้น้อยลง
หวั่น ก.ม.ทำให้เกิดคอร์รัปชัน
นายมานะ นิมิตมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) กล่าวว่า อนาคตสื่อจะมีวิวัฒนาการไปทางออนไลน์ ช่องทางสื่อมากขึ้นจะทำให้บังคับใช้กฎหมายไม่ได้ และการมีกฎหมายแบบนี้ทำให้เกิดการทุจริตคอร์รัปชัน เพื่อแลกเปลี่ยนผลประโยชน์กัน สิ่งที่อยากเห็นคือสื่อมีเสรีภาพ หลากหลายในการนำเสนอสู่ประชาชน เพื่อแก้ไขปัญหาคอร์รัปชัน ทำให้เกิดมาตรการทางสังคม สิ่งที่อยากบอกผู้มีอำนาจคือ อยากเห็นข่าวสารผ่านสื่อที่มีคุณภาพ เพื่อจะทำให้ประชาชนเกิดความหวังในการสู้กับคอร์รัปชัน สื่อต้องทำให้มีเสรีภาพ
นายกฯขู่แก้น้ำเเล้งไม่ดีเจอเด้ง
วันเดียวกัน เมื่อเวลา 09.30 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวก่อนเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติครั้งที่ 1/2560 ว่า จะกำหนดเป้าหมายการทำงาน 1 ปี มีทั้งระบบการกักเก็บน้ำ การกระจายน้ำ น้ำบาดาล และระบบสูบน้ำโดยรวม ใช้งบน้อยที่สุดให้ทั่วถึงประชาชนมากที่สุดตลอดปี 60-61 เพื่อเตรียมรับมือฤดูแล้งหน้า ภาพรวมปีนี้ประเมินผลขีดความสามารถผู้บังคับหน่วยทุกองค์กร ถ้าไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ดีกว่าเดิม ถือว่าเป็นข้อพิจารณาของนายกฯ ในเดือน ก.ย.นี้ โครงการขนาดเล็กต้องถึงมือผู้ใช้ให้ได้มากที่สุด จะนำปัญหามาปลดล็อกในที่ประชุมคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) สำหรับศูนย์บริหารจัดการน้ำที่จะตั้งขึ้น จะมาบริหารจัดการน้ำ ที่ดิน ป่าไม้ ไม่ อย่างนั้นทุกอย่างจะอยู่ที่หน่วยงานข้างล่าง ได้สั่งให้ปรับงบประมาณเกี่ยวกับเรื่องน้ำในปีนี้ให้มากที่สุด ตอนนี้ได้ใช้งบประมาณแสนกว่าล้านบาทแล้ว รวมถึงหามาตรการดูแลประชาชนที่ได้รับผลกระทบด้วย
อารมณ์โรแมนติกขอเพลง “แพ้ใจ”
ต่อมาเวลา 15.30 น. ที่ห้องโถงตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ พร้อม พล.อ.วิลาศ อรุณศรี เลขาธิการนายกรัฐมนตรี พล.อ.สกล ชื่นตระกูล ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี คณะทำงาน ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ทำเนียบรัฐบาล ได้ร่วมออกกำลังกายประจำสัปดาห์ โดยนายกฯได้เต้นแอโรบิกเป็นเวลา 30 นาที หลังเสร็จสิ้นการออกกำลังกาย นายกฯได้ตะโกนขอเพลง “แพ้ใจ” ของใหม่ เจริญปุระ อีกครั้ง หลังเจ้าหน้าที่ได้เปิดเพลงแพ้ใจประกอบในการเต้นแอโรบิก โดยกล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า เป็นเพลงที่ใหม่ร้องตั้งแต่สาวๆ “ผมชอบเพลงแนวนี้ เพราะโรแมนติก แต่ก่อนนี้ผมก็เป็นคนโรแมนติกนะ” เจ้าหน้าที่จึงเปิดเพลงแพ้ใจอีกครั้ง พร้อมขอให้ทุกคนช่วยร้อง ขณะที่ นายกฯร่วมร้องด้วยในบางช่วงด้วยสีหน้าที่ยิ้มแย้ม ก่อนเดินทักทายข้าราชการ เจ้าหน้าที่ พร้อมร่วมถ่ายรูปเป็นที่ระลึก
“บิ๊กป้อม” ลงใต้เหนื่อยลาหยุด 1 วัน
วันเดียวกัน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เวลา 10.00 น. พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯฝ่ายความมั่นคงและ รมว.กลาโหม มีกำหนดการต้องไปเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการอำนวยการโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ที่ห้องประชุมยุทธนาธิการ กระทรวงกลาโหม แต่เมื่อถึงเวลาประชุมเจ้าหน้าที่แจ้งต่อสื่อมวลชนว่า พล.อ.ประวิตรได้เลื่อนการประชุมออกไปอย่างไม่มีกำหนด โดยนายทหารคนสนิทของ พล.อ.ประวิตรเปิดเผยว่า วันนี้ พล.อ.ประวิตรขอลางาน 1 วัน ยังมีอาการอ่อนเพลีย รู้สึกไม่สบาย ภายหลังเดินทางตรวจราชการและประชุมติดตามงานขับเคลื่อนการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ จ.ปัตตานี เมื่อวันที่ 1 พ.ค. ด้าน พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผบ.ทบ.และ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร.ได้ยืนยันว่า พล.อ.ประวิตรไม่เป็นอะไรมาก
สตง.ขอข้อมูลซื้อเรือดำน้ำจาก ทร.
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันที่ 4 พ.ค.นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และคณะกรรมการ สตง.จำนวน 5 คนจะเดินทางไปกองบัญชาการกองทัพเรือ (พระราชวังเดิม) เข้าพบ พล.ร.อ.ณะ อารีนิจ ผบ.ทร.เพื่อขอรายละเอียดสัญญาการจัดซื้อโครงการเรือดำน้ำ โดย ผบ.ทร.ได้มอบหมายให้ พล.ร.อ.ลือชัย รุดดิษฐ์ เสนาธิการทหารเรือ ในฐานะประธานกรรมการบริหารโครงการจัดหาเรือดำน้ำ พร้อมคณะ นำเอกสารข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับโครงการดังกล่าวชี้แจงกับ สตง.
นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการ สตง.กล่าวว่า จะเดินทางไปที่กองทัพเรือเพื่อดูเอกสารที่เกี่ยวกับการจัดซื้อเรือดำน้ำ ทั้งเหตุผลความจำเป็น ขั้นตอนการจัดทำทีโออาร์ การประกวดราคาที่มีการเสนอเข้ามา จนถึงวันที่ ครม.อนุมัติการจัดซื้อ หากพบอะไรผิดปกติตนจะสะท้อนออกมาให้สังคมรับทราบ ประเด็นต่างๆ ที่สังคมสะท้อนออกมาก่อนหน้านี้ก็จะไปดูด้วย คิดว่าการตรวจสอบของ สตง.คงใช้เวลาประมาณไม่นาน
“วิษณุ” ชี้ใช้หลักนิติธรรมนำปฏิรูป
เมื่อเวลา 09.00 น. ที่กองบัญชาการกองทัพไทย สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญจัดสัมมนาเชิงวิชาการเนื่องในวาระที่ศาลรัฐธรรมนูญครบรอบ 19 ปี เรื่อง “มิติของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่” มีนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “หลักนิติธรรมตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่” โดยกล่าวตอนหนึ่ง ว่า ต่อไปนี้เส้นทางของประเทศมีแค่ 3 เส้นทาง คือ การปฏิรูป การเดินตามยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง เครื่องมือที่คณะกรรมการ ป.ย.ป. จะนำไปใช้ในการดำเนินการคือ หลักนิติธรรม จะทำให้การปฏิรูปเดินไปได้ ทำให้ยุทธศาสตร์ชาติบรรลุผล และเกิดความปรองดองได้ ดังนั้น หลักนิติธรรมจึงขึ้นอยู่กับความเข้มข้นของการนำไปใช้ด้วย
“ดอน” ถกทวิภาคีอาเซียน–สหรัฐฯ
ที่กระทรวงการต่างประเทศ น.ส.บุษฎี สันติพิทักษ์ อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ แถลงว่า นายดอน ปรมัตถ์วินัย รมว.ต่างประเทศ จะเดินทางเยือนสหรัฐอเมริกา เพื่อเข้าร่วมการประชุม รมต.ต่างประเทศอาเซียน-สหรัฐฯ สมัยพิเศษ ที่จะมีขึ้นในเวลา 12.00 น. วันที่ 4 พ.ค. ตามเวลาสหรัฐฯ แลกเปลี่ยนความเห็นในประเด็นสำคัญของภูมิภาคและของโลก ส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างอาเซียน-สหรัฐฯ ที่จะครบรอบ 40 ปี ในปีนี้ ด้วย นอกจากนี้ รมต.ต่างประเทศอาเซียน ยังจะได้พบกับนายพลเอช.อาร์. แมคมาสเตอร์ ที่ปรึกษาด้าน ความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯ และเข้าร่วมกิจกรรมที่จัดขึ้นในกรอบอาเซียน และในเวลา 13.00 น. นายดอนจะหารือทวิภาคีกับนายเร็กซ์ ทิลเลอร์สัน รมต.ต่างประเทศสหรัฐฯ ที่กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯด้วย
ป.ป.ช.เชือด 23 ท้องถิ่น 14 จังหวัด
นายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวว่า ในรอบเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดนักการเมืองท้องถิ่น กรณีจงใจไม่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน หรือยื่นเท็จ หรือปกปิดข้อเท็จจริง ทั้งสิ้น 14 จังหวัด จำนวน 23 ราย ในพื้นที่ จ.กาญจนบุรี ชลบุรี ปทุมธานี เพชรบูรณ์ สมุทรสาคร เชียงราย ลำพูน นครพนม อุบลราชธานี ชุมพร นราธิวาส พัทลุง สตูล และสุราษฎร์ธานี มีทั้งรองนายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) นายกเทศมนตรี สมาชิกสภาเทศบาล โดยส่งเรื่องให้ศาล ฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เพื่อวินิจฉัยให้พ้นจากตำแหน่ง และห้ามมิให้ดำรง ตำแหน่งทางการเมือง หรือดำรงตำแหน่งใดในพรรค การเมืองเป็นเวลา 5 ปี รวมทั้งขอให้ลงโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ
“อุบลศักดิ์”ชงตั้งกระทรวงข้าว
นายอุบลศักดิ์ บัวหลวงงาม ประธานคณะกรรมการกลางกลุ่มเกษตรกรแห่งประเทศไทย เปิดเผยที่ จ.สระบุรี ว่า กลุ่มเกษตกรฯได้จัดงานครบรอบ 45 ปี วันก่อตั้งกลุ่มเกษตรกร เมื่อวันที่ 1 พ.ค.ที่ผ่านมา ได้มีการประชุมคณะกรรมการกลางฯ เรื่องการแก้ไขปัญหาอาชีพของเกษตรกรทั้งระบบ ของประธานกลุ่มเกษตรกร 77 จังหวัด ประธานกลุ่มเกษตรกรระดับอำเภอ 400 อำเภอ เจ้าหน้าที่พัฒนากลุ่มเกษตร 77 จังหวัด ในที่ประชุมได้ยกประเด็นในการสร้างความเข้มแข็งของกลุ่มเกษตรกรทั้งระบบตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำครบวงจร จนมีมติอย่างเอกฉันท์เสนอให้รัฐบาลจัดตั้งกระทรวงการข้าวเพื่อความมั่นคง ของเกษตรกร โดยจะยื่นเรื่องเสนอนายกฯในเร็วๆนี้
“วัฒนา” แขวะทหารขยันตรวจบ้าน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อคืนวันที่ 2 พ.ค.นายวัฒนา เมืองสุข อดีต รมว.พาณิชย์ แกนนำพรรคเพื่อไทย โพสต์เฟซบุ๊กว่า “ขยันจริงๆ” ตนกลับมาถึงบ้านเมื่อเวลาประมาณ 22.20 น. ได้รับแจ้งจากแม่บ้านและ รปภ.ของหมู่บ้านว่าก่อนมาถึงสักครู่หรือเวลาประมาณ 22.00 น. มีรถทหาร 1 คัน พร้อมกำลังในชุดพรางได้ขับรถเข้ามาในหมู่บ้านโดยไม่ทราบวัตถุประสงค์ จากนั้นขับรถวนในหมู่บ้าน และมาที่หน้าบ้านตนด้วยก่อนขับออกไป ต่อมาเมื่อวันที่ 3 พ.ค. นายวัฒนาโพสต์เฟซบุ๊กว่า “บริการใหม่ของ คสช.” กรณีตนส่งข่าวว่ามีรถทหารพร้อมเจ้าหน้าที่เข้ามาในหมู่บ้านยามวิกาล แฟนเพจท่านหนึ่งออกความเห็นว่าอาจจะเป็นบริการใหม่ของ คสช. ที่ทำแข่งกับตำรวจคือ “โครงการฝากบ้านไว้กับ คสช.” เลยโพสต์รูปรถมาให้ดูเผื่อประชาชนทั่วไปจะติดต่อเรียกใช้บริการบ้าง ตามรูปมีการปิดทับแผ่นป้ายทะเบียนด้วย ถ้าประชาชนทำบ้างก็ถูกจับ แต่ทหารไทยทำได้ทุกอย่าง แถมคนขับและคนนั่งไม่ได้คาดเข็มขัดนิรภัยด้วย แบบนี้หัวหน้า คสช. กล้าสั่งจับกุมหรือไม่ หรือแค่ประชาชนเท่านั้นที่ต้องทำตามกฎหมาย ได้ข่าวว่ามีบริการเอาตัวเจ้าของบ้านไปดูแลโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายด้วย รายล่าสุดที่ได้รับบริการเป็นประชาชนจากเชียงใหม่และทนายความชื่อนายประเวศ ประภานุกูล คงดูแลกันดีมากจนติดใจเลยยังไม่กลับมาบ้าน ถ้ากล้าออกตรวจกลางคืนแบบนี้ที่ชายแดนภาคใต้บ้านเมืองคงสงบมากขึ้น กลัวแต่ คสช.จะกล้าแค่กับประชาชนมือเปล่าในเมืองเท่านั้น
ยื่นคำให้การหมุดคณะราษฎร
ที่ บก.ปอท. เมื่อเวลา 14.30 น. นายวัฒนาพร้อมทีมทนายความ เข้าพบ พ.ต.ท.อุทัย เหล่าสิล รอง ผกก. (สอบสวน) กก.3 บก.ปอท. เพื่อยื่นเอกสารทางวิชาการเพิ่มเติม หลังถูกแจ้งความดำเนินคดีข้อหานำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมฯ ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จากกรณีโพสต์เฟซบุ๊กเรื่อง หมุดคณะราษฎรบริเวณลานพระบรมรูปทรงม้าเป็นโบราณวัตถุ นายวัฒนาให้สัมภาษณ์ว่า มายื่นคำให้การเป็นลายลักษณ์อักษรตามที่พนักงานสอบสวนได้นัดหมายให้ทำเอกสารมา เบื้องต้นได้ให้การปฏิเสธ เพราะเป็นการแสดงความเห็นทางวิชาการที่รัฐธรรมนูญปี 2560 รับรองไว้ จากนี้พนักงานสอบสวนจะรวบรวมพยานหลักฐานก่อนสรุปสำนวนส่งอัยการว่าพอสั่งฟ้องหรือไม่ ส่วนเรื่องหมุดคณะราษฎรตนไม่ขอพูดถึงแล้ว
“เผ่าม้ง” ร้อง “บิ๊กตู่” ถูกทหาร–ตร.รังแก
เมื่อเวลา 11.00 น. ที่ศูนย์บริการประชาชน บริเวณสำนักงาน ก.พ. นายอนุชิต เหมารุ่งโรจน์ ชาวเขาเผ่าม้ง ยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและหัวหน้า คสช. เพื่อร้องขอความเป็นธรรมกรณีถูกเจ้าหน้าที่รัฐกลั่นแกล้ง โดยนายอนุชิตกล่าวว่า ตนเป็นชาวเขาเผ่าม้ง เกิดในประเทศไทยและได้ดำเนินการขอสัญชาติไทยเป็นที่เรียบร้อยตั้งแต่ปี 2543 แต่ช่วงที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่รัฐตรวจสอบสัญชาติของตนว่าได้รับถูกต้อง และมีการสวมตัวเป็นบุคคลอื่นเพื่อใช้สิทธิในสัญชาติไทยหรือไม่ โดยอำเภอพบพระ ได้ยืนยันว่าตนเป็นนายอนุชิตตัวจริง แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจและทหาร ได้เข้าตรวจค้นบ้านพักของตนและมารดาโดยไม่มีหมายค้นหลายครั้ง ที่ผ่านมายอมมาโดยตลอด แต่ที่ต้องมาขอความเป็นธรรม เพราะกรณีวันที่ 30 เม.ย. เจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารเข้าตรวจค้นบ้านที่มารดาของตนอาศัยอยู่ใน อ.พบพระ จ.ตาก พยายามตรวจสอบดีเอ็นเอโดยใช้อุปกรณ์สอดเข้าไปในช่องปากรุนแรงจนได้รับบาดเจ็บ พยายามนำของใช้ส่วนตัวของตนกลับไปตรวจสอบเพิ่มเติม กันไม่ให้ประชาชนในพื้นที่ใกล้เคียงให้ความช่วยเหลือ สอบถามสาเหตุก็อ้างว่าเป็นเรื่องของความมั่นคง ขอให้นายกฯให้ความเป็นธรรมด้วย
รอง ปธ.ศาลปกครองยำเละ รธน.
เมื่อเวลา 11.00 น. ที่สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ได้จัดสัมมนาทางวิชาการเนื่องในวาระศาลรัฐธรรมนูญครบรอบ 19 ปี มีการอภิปรายหัวข้อ “มิติของรัฐธรรมนูญ ฉบับใหม่” นายวรพจน์ วิศรุตพิชญ์ รองประธานศาลปกครองสูงสุด กล่าวว่า รัฐธรรมนูญใหม่ที่เปลี่ยนระบบเลือกตั้งเป็นเเบบจัดสรรปันส่วนผสมซึ่งไม่มีประเทศไหนในโลกทำ พยายามหาว่าเอาตัวอย่างจากประเทศไหน ชนเผ่าใด กรธ.คงไม่ได้จินตนาการอะไรที่เกินความเป็นจริง ส่วนมาตรา 77 ที่ต้องให้รับฟังความเห็นในทุกขั้นตอน ซึ่งก็คือการทำประชาพิจารณ์อาจเป็นอุปสรรคทำการออกกฎหมายล่าช้า ไม่ได้จำกัดความคำว่าผู้เกี่ยวข้อง การกำหนดคุณสมบัติของผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีที่ต้องมีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์นั้น คำว่าเป็นที่ประจักษ์จะเอาอะไรมาวัด ส่วนรัฐมนตรีที่ต้องไม่มีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมร้ายแรงนั้น ขอฝากไปยังศาลรัฐธรรมนูญต้องกำหนดให้ชัด ลักษณะใดเข้าข่ายผิดจริยธรรมปกติและผิดจริยธรรมร้ายแรง กรณีการกินของหวานที่แม่ฮ่องสอน ถือว่าผิดจริยธรรมร้ายแรงหรือไม่