"วิษณุ" ชี้ ก.ม.ที่ผ่าน สนช.อาจไม่ต้องฟังความเห็น ปชช.ขึ้นอยู่กับน้ำหนัก ปัดตอบเรื่องร่าง พ.ร.บ.สื่อ ชี้ทุกคนมีเจตนาดี ระบุไม่ควรนำมาเป็นประเด็นขัดแย้งระหว่าง "สื่อ-รัฐบาล"
เมื่อวันที่ 1 พ.ค.60 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกฎหมายต่างๆ ที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) รับหลักการวาระแรก จะต้องมีการรับฟังความคิดเห็นตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญหรือไม่ว่า ต้องดูทีละฉบับ บางฉบับอาจฟังความเห็นมาบ้างแล้ว บางฉบับการรับฟังอาจจะใช้วิธีโพสต์ลงในเว็บไซต์ให้คนวิจารณ์ แต่บางฉบับอาจเป็นเรื่องใหญ่ต้องเปิดประชุมกันหลายรอบ ขึ้นอยู่กับน้ำหนักของกฎหมาย บางฉบับอาจไม่ต้องทำอะไรเลยเพราะเป็นเรื่องที่ต้องดำเนินการด้วยความลับ ละเอียดอ่อน อย่างเรื่องการขึ้นภาษี ถ้ารับฟังว่าควรหรือไม่คงไม่ต้องขึ้นกันเท่านั้น หรือพระราชกำหนด ก็ออกไปก่อนโดยไม่ต้องไปรับฟังใคร
นายวิษณุ กล่าวถึงการพิจารณาเอกสารวาระมุมแดง ว่า มีทุกสัปดาห์ แต่ไม่เคยเห็นเรื่องอะไรที่เข้า ครม.แล้วจะไม่เปิดเผย ซึ่งขณะนั้นอาจต้องเป็นมุมแดง และการพิจารณาก็ไม่ใช่ความลับ มี ครม.และข้าราชการนั่งอยู่ด้วย ยกเว้นเป็นการประชุมลับ คนที่ไม่เกี่ยวต้องออกจากห้องทั้งหมด และถ้า ครม.บางคนมีส่วนได้ส่วนเสียก็ต้องออก ซึ่งมีระดับของการประชุมอยู่และมีระดับประชุมที่เหนือกว่ามุมแดง ซึ่งเป็นการรายงานให้ฟังแต่จะไม่เป็นมติ โดยให้ปิดเทป ปิดโทรศัพท์ ไม่จดบันทึก เป็นต้น
นอกจากนี้ นายวิษณุ ยังกล่าวถึงร่าง พ.ร.บ.การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน ที่หลายฝ่ายกังวลเรื่องการแทรกแซงสื่อว่า ตนยังไม่มีความเห็นในเรื่องนี้ และยังไม่รู้ว่ารัฐบาลมีจุดยืนอย่างไร เพราะยังไม่เห็นตัวร่างดังกล่าว และไม่ขัดข้องหากตัวแทนสื่อจะขอพูดคุยในเรื่องดังกล่าว
...
เมื่อถามว่า มีความเห็นอย่างไรกับการออกใบอนุญาตสื่อมวลชน ตามโมเดลประเทศสิงคโปร์ นายวิษณุ กล่าวว่า ขอไม่ตอบแม้จะมีคำตอบในใจอยู่บ้างแต่อาจไม่ถูกต้อง ที่ผ่านมามีคนถามตนว่าร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ขัดมาตรา 35 ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่กำหนดให้สื่อมีสิทธิเสรีภาพหรือไม่ ตนก็ตอบไม่ถูกเพราะรู้ว่ามาตรา 35 คืออะไร แต่ตัวร่าง พ.ร.บ. ยังไม่เห็น คราวนี้ก็มีคนรู้สึกว่าเป็นไปได้หรือที่ตนจะไม่เห็นเนื้อหาในร่างกฎหมายดังกล่าว เพราะสื่อก็นำเสนอกันมาก ก็ต้องบอกว่าเป็นไปได้ เพราะมีกฎหมายเยอะ รัฐบาลเองก็ยังไม่ได้รับร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว ซึ่งอาจจะมีการแก้ในระหว่างทางจึงไม่อยากที่พูดอะไรมาก หลังจากนี้ร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวจะต้องผ่านวิป 3 ฝ่าย และส่งต่อให้รัฐบาลอีกที
เมื่อถามว่า มีความเป็นไปได้หรือไม่ที่รัฐบาลจะไม่เห็นด้วย และส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกาแก้ไข นายวิษณุ กล่าวว่า เป็นไปได้ เมื่อถามว่าเรื่องนี้จะไม่เป็นความขัดแย้งระหว่างสื่อกับรัฐบาลใช่หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่ควรจะเป็นข้อขัดแย้ง เพราะทุกคนมีเจตนาดีเพื่อบ้านเมือง สื่อเองมีเสรีภาพตามมาตรา 35 อยู่แล้ว อะไรที่ขัดกับรัฐธรรมนูญใช้ไม่ได้ และไม่ได้คิดว่าผู้ร่างกฎหมายนี้จะทำอะไรขัดกับรัฐธรรมนูญ เพราะการร่างกฎหมายขั้นแรกต้องดูว่าขัดกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ ถ้าขัดก็ไปต่อไม่ได้ แต่ถ้าไม่ขัด ด่านต่อไปก็ต้องดูความเหมาะสม ดังนั้นต้องพูดทีละเรื่องและต้องตอบทั้งหมดให้ได้